เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 ที่โรงแรมตรัง ถ.วิสุทธิกษัตริย์ กรุงเทพมหานคร นายชูชาติ ทรัพย์มาก ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านบริหารงานบุคคลและนิติการ สพฐ. ประชุมคณะทำงานพัฒนากฎหมายและระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษา กล่าวว่า การบริหารจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการบริหารจัดการภายใต้พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 โดยในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือสพฐ. ปัจจุบันมีโรงเรียนในสังกัดจำนวน 30,867 โรงเรียน แบ่งเป็นสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา 183 เขต และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา 42 เขต สถานศึกษาระดับประถมศึกษา 28,335 โรงเรียน ระดับมัธยมศึกษา 2,361 โรงเรียน ศูนย์การศึกษาพิเศษ 94 ศูนย์ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ 77 โรงเรียน การบริหารจัดการศึกษาในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 ยังมีจุดอ่อนและข้อจำกัดหลายประการ เช่น การจัดการศึกษาของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จำนวน 42 แห่ง ไม่สอดรับกับการบริหารระบบการบริหารราชการแผ่นดินที่มี 77 จังหวัด,การบริหารงานบุคคลตามพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ในรูปแบบขององค์คณะบุคคลซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของก.ค.ศ. ทำให้การบริหารและพัฒนาบุคลากรมีความล่าช้า ซับซ้อน,การจัดตั้งและการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนเพื่อการศึกษา ตลอดจนด้านอื่นๆตามนโยบายการกระจายอำนาจในการจัดการศึกษายังไม่สอดรับกับบริบทในแต่ละเขตพื้นที่และสถานศึกษา,การบริหารจัดการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน มี 15,386 โรง คิดเป็น 49.85 % การขาดแคลนงบประมาณ อาคารเรียน อาคารประกอบ อัตรากำลัง ส่งผลให้การจัดการศึกษาไม่มีประสิทธิภาพ คุณภาพต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน,การกำกับติดตามและตรวจสอบเชิงนโยบายในการบริหารจัดการศึกษาระดับเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา ไม่เป็นระบบ ไม่ต่อเนื่อง ไม่ครอบคลุมภารกิจและขอบข่ายของการจัดการศึกษาเท่าที่ควร,งานวิชาการขาดความเป็นเอกภาพในการปฏิบัติ ซึ่งมีความหลากหลายตามบริบท วัฒนธรรม สภาพภูมิศาสตร์ของเขตพื้นที่การศึกษา
นายบุญรักษ์ ยอดเพชร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 1 กล่าวว่า ในการประชุมเพื่อพัฒนากฎหมายและระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลนั้น ล่าสุดได้ออกแบบแผนปฏิรูป 3 รูปแบบ คือ รูปแบบที่ 1 การปรับปรุงระบบส่วนราชการและการบริหารจัดการปรับปรุงโครงสร้างและกระบวนการบริหารเพื่อแก้ปัญหาและจุดอ่อนทางด้านการบริหารจัดการศึกษา โดยเพิ่มเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาจาก 42 เขต เป็น 78 เขต โดยกรุงเทพมหานครให้มี 2 เขต,รูปแบบที่ 2 รูปแบบปรับปรุงโครงสร้างของกระทรงศึกษาธิการ โดยแยกสพฐ.ออกเป็น 3 องค์กรหลัก คือ สำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการมัธยมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และรูปแบบที่ 3 ปรับเปลี่ยนสถานะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นทบวงการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ ทั้งนี้ มีการเสนอให้มีสำนักผู้ตรวจราชการกรม อ.ก.ค.ศ.กรม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานภาค 12 ภาค ตลอดจนประเด็นปลีกย่อยอื่นๆเพิ่มเติม เช่น กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ICT กลุ่มการศึกษาพิเศษในสพท. ซึ่งในการระดมคณะทำงานที่ประกอบไปด้วยทุกภาคส่วน คือ ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย นักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐาน เครือข่ายองค์กรวิชาชีพครู สมัชชาบุคลากรทางการศึกษา ศึกษานิเทศก์ การศึกษาพิเศษ ฯลฯ เข้าร่วมระดมวิสัยทัศน์เพื่อนำเสนอรูปแบบกฎหมายพัฒนาทรัพยากรบุคคลเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติต่อไป
22 กรกฎาคม 2557
ขอบคุณแหล่งข้อมูล: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
คำสำคัญ: , สพฐ., ตรัง, พิษณุโลก, มัธยมศึกษา, ประถมศึกษา, ประสิทธิภาพ, กรุงเทพมหานคร, เทคโนโลยีสารสนเทศ