ถึงเวลาปฏิรูปการบริหารจัดการ"แรงงานต่างด้าว"อย่างจริงจัง! : นคร ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
ณ เวลานี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า "แรงงานต่างด้าว" เป็นปัญหาสำคัญระดับชาติ และจำเป็นต้องเร่งรัดปฏิรูปการบริหารจัดการอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานจากประเทศเมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา ซึ่งจะต้องดึงทุกภาคส่วน หรือผู้มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ที่ผ่านมาเราอาจมองปัญหา หรือให้น้ำหนักในแง่ประโยชน์ อาทิ แรงงานต่างด้าวช่วยให้ประเทศมีฐานเศรษฐกิจกว้างขึ้น ไม่ขาดแคลนคนทำงาน ที่สำคัญ คือแรงงานต่างด้าวมีส่วนให้เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้นจากการใช้จ่ายประจำวัน สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจพื้นฐาน คือ ทุกประเทศที่รับแรงงานต่างด้าวล้วนมีปัญหาทั้งสิ้น แต่หลายประเทศมีการบริหารจัดการที่รัดกุม ครบวงจร มากกว่าประเทศไทย สามารถ "กำกับ ควบคุม ดูแล" ในเรื่อง การเอารัดเอาเปรียบ หรือ การละเมิดสิทธิพื้นฐาน ได้ดี เช่น สิงคโปร์ เป็นต้น ดังนั้น ประเทศไทยควร "ให้น้ำหนัก" ต่อความเป็นจริงและประเด็นพื้นฐาน ที่สำคัญบางประการ อาทิ 1.แรงงานต่างด้าวในไทยส่วนใหญ่เข้ามาเพราะปัจจัยกระตุ้นทางเศรษฐกิจ ในแง่ของประเทศผู้รับ จะทำให้รายได้ของประเทศเติบโต ช่วยทุเลาเงินเฟ้อ เนื่องจากไม่ขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งยังได้แรงงานทักษะเข้ามาทำงาน (Brain Gain) สำหรับ ประเทศผู้ส่ง ก็จะมีรายได้จากการโอนเงินกลับ และลดปัญหาว่างงาน "ดังนั้น เมื่อต่างได้รับประโยชน์ ประเทศผู้ส่งจึงควรดูแลและอำนวยความสะดวกแรงงานต่างด้าวอย่างดี มิให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจัดหางานสูงเกินไป เช่นเดียวกับประเทศผู้รับต้องดูแล ป้องกันมิให้ถูกเอาเปรียบ ให้สิทธิพื้นฐานที่จำเป็นให้ครบถ้วน นอกจากนี้นายจ้างจะต้องรับผิดชอบไม่น้อยกว่าใครโดยมีหน้าที่คุ้มครองและไม่เอารัดเอาเปรียบ ดูแลสวัสดิการ ความปลอดภัยในการทำงานให้ครบถ้วน ไม่ต่างไปจากแรงงานท้องถิ่น" สำหรับสิทธิของแรงงานต่างด้าวนั้น ถือเป็นเรื่องใหญ่ และละเอียดอ่อน เพราะสิทธิพื้นฐานหลายประการเป็นสิทธิพื้นฐานมนุษยชน การละเมิดสิทธิแรงงานถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย ตามที่ประเทศไทยถูกลดอันดับจากเทียร์ 2 เป็น เทียร์ 3 ในขณะนี้ 2.แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงาน โดยขาดการเรียนรู้และการตระเตรียมในเรื่องฝีมือ จะส่งผลกระทบทางสังคม และเศรษฐกิจประเทศได้ ซึ่งหากมีนโยบายไม่ชัดเจนการนำเข้าแรงงานต่างด้าวอาจเข้ามาแทนที่แรงงานท้องถิ่น แทนที่จะเข้ามาเสริม (Supplement) จึงอาจเข้าข่ายแย่งงานคนท้องถิ่นได้ โดยเฉพาะแรงงานท้องถิ่นที่ไร้ฝีมือ นอกจากนั้นการมุ่งนำเข้าอาจส่งผลเสียต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศในระยะยาว เพราะหวังพึ่งแต่แรงงานต่างด้าวราคาถูก ไม่คิดที่จะปรับปรุงเทคโนโลยี หรือเพิ่มผลผลิตด้วยวิธีอื่นๆ ที่สำคัญ คือ จะทำให้โครงสร้างกำลังคนของประเทศขาดเสถียรภาพ ขาดความเชื่อมั่นจากนักลงทุน และเกิดความไม่เป็นธรรมทางรายได้ที่ชัดเจน "สำหรับผลกระทบทางสังคมเป็นเรื่องที่ถูกมองข้ามไปมาก การปล่อยปละละเลยให้สามารถนำสมาชิกในครอบครัวเข้ามาได้ตั้งแต่ต้น ทำให้มีเด็กและคนชราเข้ามามากจนส่งผลกระทบในการใช้บริการสาธารณะต่างๆ ร่วมกับคนท้องถิ่น เช่น การศึกษา และการรักษาพยาบาล รวมทั้งมีความเป็นไปได้ที่จะถูกเพ่งเล็งหรือมองว่ามีการใช้แรงงานเด็กและเยาวชน" จากประเด็นความจริงข้างต้น จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องหันหน้าเข้าหารือ และยอมรับความจริง รวมทั้งพิจารณาร่วมกัน โดยเฉพาะในประเด็นสำคัญๆ ดังต่อไปนี้ ประการแรก ต้องตระเตรียมคนก่อนเข้ามาทำงาน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมานานเพราะไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างครบวงจร ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายจัดระบบแรงงานต่างด้าว (กลุ่มแรงงานจากประเทศเมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา) แต่ใช้การจัดระบบโดยมติคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองและมติคณะรัฐมนตรีตลอดมา ดังนั้น ภารกิจแรก คือ เร่งรัดการหารือร่วมกันในลักษณะทวิภาคีระหว่างประเทศต้นทางกับประเทศไทยให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาตามเอ็มโอยู หรือตามกฎหมาย และเร่งจำกัดจำนวนบริษัทจัดหางานที่นำเข้าแรงงาน ซึ่งมีถึง 207 บริษัทโดยด่วน ประการที่สอง จะต้องทำให้การลักลอบเข้าเมือง หรือลักลอบทำงาน ต้องเสี่ยงมากยิ่งขึ้น หรือต้องลงทุนสูงขึ้น ประเด็นนี้ครอบคลุม ทั้งนายจ้าง ลูกจ้างต่างด้าว บริษัทจัดหางานเอกชน หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ความจริงเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ถูกมองข้ามไปมาก ทุกคนเข้าใจแต่พยายามหลีกเลี่ยง การลงโทษไม่รุนแรงเมื่อแรงงานต่างด้าวถูกผลักออกไป จึงมีโอกาสสูงที่จะลักลอบเข้ามาหรือนำเข้าแรงงานต่างด้าวอย่างผิดกฎหมายซ้ำขึ้นอีก "ทั้งนี้ อนุสัญญาของไอแอลโอ ฉบับที่ 97 และ 143 ได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้ และส่งเสริมให้ประเทศผู้รับขจัดการลักลอบหรือการทำงานที่ไม่ถูกกฎหมาย ประเด็นที่มักพูดถึงเสมอ คือ ประเทศผู้ส่งและผู้รับควรสนับสนุนให้การนำเข้าแรงงานต่างด้าวราคาถูกลง หรือเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด อย่างกรณีของไทย หากมีค่าใช้จ่ายสูงเกินไป แรงงานต่างด้าวจะเลือกลักลอบเข้ามา เพราะจ่ายน้อยกว่า ประกอบกับการข้ามแดนทำได้โดยง่าย" ประการที่สาม ผลักดันให้นายจ้างสวมบทบาทเป็น พระเอก และต้องร่วมรับผิดชอบมากกว่านี้ อาทิ ต้องมีสัญญาจ้าง ต้องแจ้งความประสงค์ที่ระบุคุณสมบัติและระยะเวลาที่ต้องการ ตลอดจนความพร้อมในการรองรับคนงานต่างด้าว เช่น การจัดเตรียมที่พักอาศัย การจัดสวัสดิการ การจัดอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย ตลอดจนมาตรการที่จะคุ้มครองสวัสดิภาพของคนเหล่านั้น ประเด็นนี้จะสะท้อนให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของนายจ้างด้วย ขอยกตัวอย่าง กรณีศึกษาของสิงคโปร์ได้แก้ไขปัญหาโดยการปรับทิศทางการพัฒนาประเทศโดยเน้นเทคโนโลยีมากขึ้น และอาศัยทักษะฝีมือแรงงานสูงขึ้น รวมทั้งนายจ้างต้องจ่ายภาษีมากขึ้นในการจ้างแรงงานทักษะต่ำ แต่จะจ่ายถูกลงหากจ้างแรงงานที่มีทักษะสูง ซึ่งถือเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ประการที่สี่ เฝ้าระวังการประกอบกิจการบางประเภทที่ตกเป็นเป้าการตรวจสอบ อาทิ อุตสาหกรรมประมง โดยเฉพาะกิจการเรือประมงทะเล ซึ่งมีจ้างแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก ซึ่งกระทรวงแรงงานจะต้องยกร่างกฎกระทรวงว่าด้วยกิจการประมงทะเลโดยเร็ว และต้องสอดคล้องกับมาตรฐานสากล "นอกจากนั้น กระทรวงแรงงานควรระดมพนักงานตรวจแรงงานเข้ามาตรวจสอบอย่างจริงจังโดยเฉพาะการขจัดปัญหาการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ภายใต้กรอบอนุสัญญา ไอแอลโอ ฉบับที่ 182" การผลักดันแรงงานต่างด้าวออกจากประเทศไทยให้หมด เป็นเรื่องที่ "เลิกพูด" กันได้แล้ว เพราะประเทศไทยต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวอีกนาน การเร่งรัดหรือปฏิรูปจึงต้องรีบเร่ง และเอาจริงตั้งแต่วันนี้ ปัญหาจึงอยู่ที่เราจะกำหนดนโยบายที่ชัดเจนกันอย่างไร จึงจะทิ้งประสบการณ์ที่เลวร้าย หรือข้อกล่าวหาที่ถูกโจมตีอยู่เสมอทั้งในอดีตและปัจจุบันได้ มีคนกล่าวว่า ปัญหาแรงงานต่างด้าวในแต่ละประเทศเป็นเรื่องของการมีศิลป์ในการที่จะเข้าไปแก้ไขหรือจัดการต่อปัญหา ดังคำเปรียบเปรยที่ว่า "แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในไทยหลายล้านคนเปรียบเสมือนน้ำเหนือจำนวนมหาศาลที่ไหลหลากลงมา หากบริหารจัดการโดยขุดลอกคูคลองให้น้ำไหลไปถูกที่ถูกทาง ก็จะไม่เกิดน้ำท่วม หรือหากทะลักเข้ามามากเกิน หากรู้จักสร้างฝาย สร้างเขื่อนรองรับ และกำกับดูแลควบคุมน้ำ น้ำมหาศาลเหล่านั้นก็จะถูกผันกลายเป็นกระแสไฟฟ้าให้เราเอาไว้ใช้ประโยชน์ได้"
วันอังคารที่ 22 กรกฎาคม 2557
ขอบคุณแหล่งข้อมูล: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
คำสำคัญ: แรงงาน, คมชัดลึก, ข่าวทั่วไป, การศึกษาสาธารณสุขสิ่งแวดล้อม, ข่าวการศึกษาสาธารณสุขสิ่งแวดล้อม
No comments:
Post a Comment