Wednesday, July 30, 2014

"ย่าโมสไตล์"ตอบโจทย์"ยากจน-เหลื่อมล้ำ-ไม่มีงานทำ"

"ย่าโมสไตล์"ตอบโจทย์ "ยากจน-เหลื่อมล้ำ-ไม่มีงานทำ" : กนกวรรณ กลินณศักดิ์ นักวิชาการสื่อสาร สสค.รายงาน

เมื่อหน่วยจัดการปัญหาที่ดีที่สุด คือหน่วยที่ใกล้ชิดกับปัญหามากที่สุด การทำงานกับท้องถิ่น จึงกลายเป็นโจทย์สำคัญในการปฏิรูปในทุกๆ เรื่อง ไม่เว้นแม้กระทั่งการปฏิรูปการศึกษา

สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จึงร่วมกับองค์การบริหารจังหวัด (อบจ.) นครราชสีมา และเขตพื้นที่การศึกษา หอการค้าจังหวัดและสถาบันผลิตบุคลากรการศึกษาในระดับอุดมศึกษา จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “กขคง…ที่นี่มีคำตอบ” ของการศึกษาเมืองย่าโมสไตล์ สู่การจัดการการศึกษาที่มีความหมายต่อชีวิตและการมีงานทำ เพื่อลูกหลานย่าโมทุกคน ณ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุลไปเมื่อเร็วๆ นี้

นายวินัย วิทยานุกูล รองผู้ว่าฯ นครราชสีมา ชี้ให้เห็นปัญหาและทางแก้ที่พบ 2 ประเด็น คือ 1.ระบบการศึกษาของไทยยังคงเน้นการศึกษาที่ให้คนเรียนสายสามัญส่งผลให้เด็กจบแล้วออกมาตกงาน ทางแก้ไขคือ การเปลี่ยนแนวคิดให้เด็กมัธยมต้นเรียนต่อสายอาชีพให้มากขึ้น จบแล้วมีงานทำเลี้ยงตนเองและสามารถส่งตัวเองเรียนถึงปริญญาตี-เอกได้เช่นกัน 2.ความยากจน จึงควรสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นลูกคนรวย-จน อยู่ในเมือง ชนบท ก็ควรมีโอกาสและความเสมอภาคเท่ากัน โดยพบว่า ครูแนะแนวมีบทบาทสำคัญที่จะดึงความสามารถของศิษย์แต่ละคนออกมา

“ต้องแก้ไขที่ต้นเหตุ โดยให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมจัดการศึกษาอย่างจริงจังด้วย ถ้าให้ท้องถิ่นจัดระบบการศึกษาจะรู้ความต้องการของท้องถิ่นตนเอง รู้ตลาดแรงงานของตนเองก็จะสามารถผลิตคนได้ตรงกับความต้องการ เด็กก็ไม่ต้องอพยพเข้าไปในเมืองใหญ่หรือกรุงเทพฯ จะช่วยลดความแออัดและลดรายจ่าย รวมถึงการจัดสรรงบประมาณควรเสมอภาค โดยจังหวัดยากจนได้รับงบประมาณมากกว่า”

ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาวิชาการ สสค. กล่าวถึงโจทย์ท้าทายของ จ.นครราชสีมา คือ ทำอย่างไรให้การศึกษาพื้นฐานเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพทั้งจังหวัด และสามารถลดความเหลื่อมล้ำจากความยากจน เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน พัฒนาสังคมจังหวัด ซึ่งถือว่าเป็นการทลายกำแพงจากกรอบแนวคิดการทำงานเฉพาะหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นการร่วมกันแก้ไขปัญหาโดยเอาโจทย์เยาวชนคนย่าโมเป็นตัวตั้ง

สอดคล้องกับดัชนีการศึกษารายจังหวัดประจำปี 2557 โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ได้สำรวจสถานการณ์คุณภาพการศึกษาของไทย โดยวัดจากจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ย IQ เด็กอายุ 6-15 ปี อัตราการเข้าเรียนต่อระดับชั้นมัธยมศึกษา และคะแนนโอเน็ต ระดับ ม.6 ของแต่ละจังหวัด พบว่า จ.นครราชสีมา มีดัชนีการศึกษาอยู่ในลำดับที่ 44 ของประเทศ ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ค่าเฉลี่ยต่ำ แต่ข้อมูลที่น่าสนใจจาก สพฐ. ปี 2554 พบว่า มีจำนวนเด็กยากจนสูงถึง 193,709 หรือ 60.41 เปอร์เซ็นต์ และเกิดปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา กลายเป็นเด็กเร่ร่อน ส่วนใหญ่อยู่บริเวณข้างทางรถไฟ สวนรัก และหอนาฬิกา

ด้าน รศ.ดร.ชาญชัย อินทรประวัติ รองนายก อบจ.นครราชสีมา กล่าวว่า การศึกษาของเมืองย่าโมต้องเป็นการจัดการศึกษาที่มีความหมายต่อชีวิตและการมีงานทำ เพื่อลูกหลานย่าโมทุกคน โดย อบจ.นครราชสีมารับเป็นแม่งานใหญ่ให้ สสค.เปิดเป็นพื้นที่นำร่องให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถทำได้เพียงเวลาช่วงข้ามคืน ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ช่วยกันออกแบบ ทั้งองค์กรภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ช่วยกันจัดการดึงทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่นำออกมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ามากที่สุด

ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ ผศ.ดร.จิระพล ศรีเสริฐผล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) กล่าวว่า การแก้ปัญหาลดความเหลื่อมล้ำนั้น มทส.เริ่มจากให้โควตาเข้าเรียน 80% และอีก 20% มาจากการสอบแข่งขัน ซึ่งมีการวิจัยเด็กกลุ่มโควตาพบว่า ในปีแรกแม้ผลการเรียนจะสู้เด็กสอบแข่งขันไม่ได้ แต่เมื่อได้ครูที่ดีพบว่าเด็กโควตาคว้าเกียรตินิยมได้ถึง 80% อีกทั้ง มทส.เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทยที่จัดทำหลักสูตรสหกิจศึกษา ร่วมมือกับสถานประกอบการ ให้นักศึกษาเข้าไปฝึกงานและเรียนรู้โลกแห่งการทำงานที่แท้จริง ด้วยการเรียนถึง 12 ภาค และมี 2 ภาคการศึกษาที่ส่งเด็กไปฝึกงานในสถานที่จริง ผลทำให้สถาบันอุดมศึกษา 108 แห่ง เข้าร่วมการสอนในรูปแบบสหกิจศึกษา และยังพบว่า ในจำนวนเด็ก 100,000 คน ที่จบปริญญาตรี และได้งานทำในปีแรก มีเยาวชนถึง 35% ที่จบจากหลักสูตรสหกิจศึกษา

ขณะที่หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ดร.ธีรพงศ์ คณาศักดิ์ รองประธานฝ่ายวิชาการและพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอี กล่าวว่า ด้วยลักษณะพื้นที่ของจังหวัดเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้า เป็นประตูสู่ภาคอีสาน เป็นจุดสนใจของกลุ่มธุรกิจที่จะมาลงทุนใน จ.นครราชสีมา ดังนั้นความต้องการกำลังคนที่จะสนองตอบธุรกิจจึงเป็นประเด็นสำคัญ โดยภาคการศึกษาต้องผลิตเด็กให้สอดคล้องและตรงกับความต้องการทั้ง 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มเด็กสายสามัญที่มุ่งเรียนต่อระดับอุดมศึกษา ขณะนี้ผลิตออกมาเพียงพอ แต่เด็กจบใหม่ไม่สามารถทำงานได้ทันที 2.กลุ่มเด็กสายอาชีพ ซึ่งต้องการแรงงานที่มีฝีมือ โดยภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม พร้อมจ่ายค่าแรงตามที่รัฐบาลเห็นเหมาะสม แต่แรงงานต้องมีคุณภาพด้วย

“อนาคตจะตอบโจทย์ภาคธุรกิจที่ต้องการนักศึกษาและแรงงานที่ตรงกันได้ ต้องเปิดใจภาคธุรกิจและการศึกษา ถึงความต้องการเพื่อหาจุดโฟกัสที่ตรงกัน อีกทั้งการจัดการศึกษาต้องมีความยืดหยุ่น เพราะสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และสังคม มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่การศึกษายังไม่ปรับตัว ฉะนั้นต้องดูเทรนด์ความต้องการใน 3 ปี 5 ปี เพื่อจะได้สามารถปรับให้เข้ากับความต้องการของอุตสาหกรรมธุรกิจ”

นี่จึงเป็นอีกบทสรุปการศึกษาแบบย่าโมสไตล์ ที่ท้องถิ่นขอมีส่วนร่วมจัดการศึกษาด้วยตนเอง เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีต้นทุนความพร้อม เพียงแต่ต้องหาแนวร่วมที่เข้มแข็งเพื่อเดินต่อเพื่อลูกหลานย่าโมทุกคน!

...............

(หมายเหตุ :'ย่าโมสไตล์'ตอบโจทย์ 'ยากจน-เหลื่อมล้ำ-ไม่มีงานทำ' : กนกวรรณ กลินณศักดิ์ นักวิชาการสื่อสาร สสค.รายงาน)

วันพุธที่ 30 กรกฎาคม 2557

ขอบคุณแหล่งข้อมูล: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

คำสำคัญ: คมชัดลึก, ข่าวทั่วไป, เหลื่อมล้ำ, การศึกษาสาธารณสุขสิ่งแวดล้อม, ข่าวการศึกษาสาธารณสุขสิ่งแวดล้อม

No comments:

Post a Comment