Friday, March 18, 2016

ดึงเยาวชนเรียนทำเสื่อกกอนุรักษ์ท้องถิ่นแผ่นดินเกิด

ดึงเยาวชนเรียนทำ"เสื่อกก"อนุรักษ์ท้องถิ่นแผ่นดินเกิด : สุชาดา สอนกริ่ม

จันทบุรี หรือ เมืองจันท์ เมืองชายทะเลที่ไม่เล็กไม่ใหญ่ แต่มีแหล่งท่องเที่ยวมากมายให้นักท่องเที่ยวได้มาพักผ่อนตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นป่า เขา ทะเล น้ำตก วัดวาอาราม รวมไปถึงสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่น่าค้นหามากมาย แม้หลายคนเคยคิดว่า เมืองจันท์เป็นเมืองทางผ่านและถูกมองข้ามจากนักท่องเที่ยวมุ่งหน้าไปเยือนทะเลตราด หรือหมู่เกาะต่างๆ แต่ในอีกมุมหนึ่งของเมืองนี้กลับมีความรื่นรมย์สำหรับนักเดินทางที่ชื่นชอบความเงียบสงบและความสวยงามของธรรมชาติ และแหล่งเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมที่สำคัญของ จ.จันทบุรี คือ การทอเสื่อกก ซึ่งในประเทศไทยยังคงเหลืออยู่ไม่มากแล้ว สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เล็งเห็นคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่กำลังจะสูญหาย จึงจัดทำโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเทคนิคการถ่ายภาพวิดีโอพกพาเฉพาะทาง เชิงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนสนับสนุนให้เยาวชนตระหนักถึงความสำคัญของศิลปวัฒนธรรม และแสดงออกถึงมุมมองและความคิดสร้างสรรค์ผ่านผลงานภาพถ่าย เพื่อปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เกิดความตระหนักและสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาและคุณค่าในความหลากหลายทางศิลปวัฒนธรรม ทั้งที่เป็นวิถีชีวิตค่านิยมที่ดีงามและความเป็นไทย “คุณยายสุริยา แก่นจันทร์” ผู้ควบคุมดูแลที่เสื่อสุริยา เล่าว่า การทอเสื่อกกเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านที่มีมานาน แต่เดิมพื้นที่ของหมู่บ้านบางสระเก้ามีต้นกกขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่มีใครรู้จักนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ กระทั่งมีชาวญวนที่อาศัยอยู่ฝั่งตรงข้ามจันทบุรี (ปัจจุบันเป็น ต.จันทนิมิต จ.จันทบุรี) ได้มาพบเห็นต้นกกที่บ้านบางสระเก้า จึงขอไปทอเป็นเสื่อแล้วนำกลับมาให้ชาวบ้านบางสระเก้า พร้อมทั้งแนะนำให้ชาวบ้านรู้จักวิธีการทอเสื่อ และได้ทอสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน โดยเริ่มแรกจะทอเป็นผืนเพื่อใช้ในครัวเรือนสำหรับปูนอนและใช้รองนั่ง เมื่อปี 2515 เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นชาวบ้านจึงมารวมตัวกันคิดค้นและแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นและมีการทำเป็นชุมชน โดยแบ่งหน้าที่กันเป็นส่วนๆ นอกจากผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายแล้ว ในปัจจุบันยังเพิ่มลวดลายที่น่าสนใจมากขึ้นอีกด้วย เช่น ลายพริกไทย ตาแขก ตาคู่ เป็นต้น ชื่อในแต่ละชื่อนั้นชาวบ้านจะตั้งเองทำให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น คุณยายสุริยา เล่าต่อว่า ในปัจจุบันเยาวชนให้ความสนใจในการอนุรักษ์สืบสานการทอเสื่อกกน้อย เพราะส่วนใหญ่เมื่อเรียนจบ ม.3 หรือ ม.6 ก็จะทำไร่ทำนาหรือไม่ก็เข้ากรุงเทพฯ เพื่อทำงานโรงงานในปัจจุบันจึงมีเพียงผู้สูงอายุและวัยกลางคนเท่านั้นที่ยังคงทอเสื่ออยู่และหากมีผู้คนใจเข้ามาเรียนรู้ ชมสินค้า หรือซื้อสินค้าไปฝากคนที่บ้านคุณยายและคนในพื้นที่ก็พร้อมจะให้ความรู้ และบริการตามความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว และจะจัดสอนวิธีการทำให้อย่างละเอียดพร้อมลงมือปฏิบัติจริง “กัลยรัตน์ นิมนากรณ์” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเขาสมิงวิทยาคม ผู้เข้าร่วมโครงการ มหัศจรรย์ สร้างสรรค์ บันทึกฝัน ที่บ้านเกิด เล่าว่า กลุ่มได้ลงพื้นที่เกี่ยวกับเสื่อสุริยา และนำเสนอวิดีโอโฆษณา เชิญชวนนักท่องเที่ยว โดยการแสดงเป็นหลานไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ และกลับมาหายายที่ต่างจังหวัด ยายจึงสอนทำเสื่อ ในเนื้อเรื่องนั้น ได้ทดลองทำเสื่อกก ทุกขั้นตอน ทำให้ได้รับความรู้ในการทำเสื่อกกมากขึ้น “คิดว่าการทำเสื่อกกนั้น ควรจะอนุรักษ์ให้อยู่คู่กับชุมชนและประเทศของเราต่อไป วิดีโอที่จัดทำขึ้นนั้น จะออกแนวเฮฮาผสมผสานความรักความอบอุ่น เพื่อปลูกจิตสำนึกให้คนหันกลับมามองและเห็นคุณค่าของอาชีพในแบบพื้นบ้านของตนมากยิ่งขึ้น จึงอยากจะเชิญชวนเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ เข้ามาเที่ยว ชมวิธีการทำเสื่อสุริยา และอุดหนุนผลิตภัณฑ์ของเสื่อสุริยา เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมพื้นบ้านให้คงอยู่ ตลอดไป” กัลยรัตน์ กล่าว

วันศุกร์ที่ 18 มีนาคม 2559

ขอบคุณแหล่งข้อมูล: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

คำสำคัญ: , คมชัดลึก

No comments:

Post a Comment