Monday, March 21, 2016

ปั้นช่างซ่อมบำรุงอากาศยานมาตรฐานเอียซ่ามทร.กรุงเทพ

ปั้น"ช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน"มาตรฐานเอียซ่ามทร.กรุงเทพ แก้ขาดแคลน-งานดี-ตอบแทนสูง : เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ

ในอีก 20 ปีคาดการณ์ว่าผู้โดยสารเครื่องบินทั่วโลกจะเพิ่มเป็น 6.3 พันล้านคน อุตสาหกรรมอากาศยานจะเติบโตเพิ่มอีก 3 หมื่นลำ เฉพาะสายการบินโลว์คอสต์จะมีเครื่องบินเพิ่มราว 20,000 ลำ นั่นหมายถึงความต้องการกำลังคนที่มีทักษะฝีมือ ความชำนาญเฉพาะทางจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย “ช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน” ถือเป็นกลุ่มมดงานที่มีความสำคัญมีหน้าที่ซ่อมบำรุงเครื่องบินทุกลำที่ชำรุดจนมั่นใจได้ว่ามีความปลอดภััยสูงสุดจึงปล่อยให้เครื่องบินทะยานสู่น่านฟ้าได้ โดยเครื่องบินหนึ่งลำต้องใช้ช่างซ่อมบำรุงอากาศยานที่เชี่ยวชาญรับผิดชอบแต่ละระบบปฏิบัติการของเครื่องไม่น้อยกว่า 10 คน ซึ่งเวลานี้พบว่าประสบปัญหาขาดแคลน สวนทางกับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบิน โดยเฉพาะการบินเชิงพาณิชย์ ฉะนั้นอนาคตช่างซ่อมบำรุงอากาศยานจึงเป็นอีกอาชีพที่ตลาดการบินต้องการ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีกรุงเทพ (มทร.กรุงเทพ) ร่วมกับบริษัท แอโร่ บิวดุง จำกัด ประเทศเยอรมนี พัฒนาหลักสูตรซ่อมบำรุงอากาศยาน ภายใต้มาตรฐานขององค์กรรับรองความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป หรือเอียซ่า (EASA) ใน 2 สาขาคือ สาขาแมคคานิกส์ และสาขาการควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ภายในเครื่องบิน และจัดตั้งสถาบันการบินแห่ง มทร.กรุงเทพขึ้น ทำหน้าที่ผลิตบุคลากรซ่อมบำรุงอากาศยานมาตรฐานวิชาชีพสากล ซึ่งภายใต้สถาบันยังมีศูนย์ฝึกอบรมซ่อมบำรุงอากาศยาน ที่กรมการบินพลเรือนเยอรมนี หรือแอลเอบี ให้การรับรองมาตรฐานเอียซ่า พาร์ท 147 ซึ่ง มทร.กรุงเทพ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่ได้รับ ล่าสุด ดร.สาธิต นำคณะผู้บริหาร มทร.กรุงเทพ และสื่อมวลชนเดินทางไปยังประเทศมาเลเซียเพื่อเยี่ยมชมการเรียนการสอนด้านอากาศยานที่ Universiti Kuala Lumpur Malaysia Institute of Aviation Technology (UniKL MIAT หรือเมียส) พร้อมบอกว่าได้มาดูการจัดการเรียนการสอนที่เมียสหลายครั้ง เพราะที่นี่จัดการเรียนการสอนบริบทที่คล้ายกับของประเทศไทย และมีการจัดหลักสูตรซ่อมบำรุงอากาศยานที่เป็นมาตรฐานของมาเลเซียเองและมีการเปิดสาขาที่เป็นมาตรฐานเอียซาด้วย ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก ที่สำคัญรัฐบาลให้การสนับสนุนอย่างมาก อุปกรณ์เครื่องมือทันสมัย มีเครื่องบินหลายรุ่น หลายขนาด รวมถึงโรงฝึกซ่อมเครื่องบินที่ทันสมัย ให้นักศึกษาได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติจริง นับเป็นตัวอย่างที่ดีที่ควรศึกษาและนำมาปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนของ มทร.กรุงเทพ สำหรับ มทร.กรุงเทพ ดร.สาธิต ย้ำว่ามีความพร้อม 100% ที่จะจัดการศึกษาหลักสูตรดังกล่าวในปี 2559 ซึ่งเป็นปีแรกจะเริ่มต้นที่สาขาแมคคานิกส์ก่อน มีนักศึกษารุ่นแรกแล้ว 17 คนเริ่มเรียนเดือนเมษายนนี้ ส่วนรุ่นที่ 2 สาขาเดียวกันจะรับในเดือนตุลาคมนี้ ส่วนปีถัดไปจะเปิดรับในสาขาการควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ภายในเครื่องบิน เป้าหมายแท้จริงจะรับนักศึกษา 2 รุ่นต่อปี รุ่นละ 25 คนในแต่ละสาขา โดยต้องผ่านการอบรมใน 17 โมดูล ใช้เวลาเรียน 18-24 เดือนหรือ 2,400 ชั่วโมงเป็น วิชาการ 1,200 ชั่วโมง และภาคปฏิบัติ 1,200 ชั่วโมง โดย 600 ชั่วโมงแรกจะฝึกปฏิบัติใช้เครื่องมือหรือฝึกซ่อมในห้องปฏิบัติการ และอีก 600 ชั่วโมงจะต้องไปฝึกปฏิบัติภาคสนาม ซึ่ง มทร.กรุงเทพ ทำความร่วมมือกับบริษัทอุตสาหกรรมการบิน จำกัด รับนักศึกษาไปฝึกปฏิบัติด้วย โดยใช้เวลาเรียน 2 ปีค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร 4.9 แสนบาท และจัดการเรียนการสอนด้วยภาษาอังกฤษ เป้าหมายคือเด็กจบมัธยมศึกษาปลายสายวิทยาศาสตร์ ประกาศนียบัตรวิชาชีพประเภทช่างอุตสาหกรรม หรือสูงกว่า และผู้ประกอบอาชีพซ่อมบำรุงรักษาเครื่องบิน ผู้ประกอบอาชีพด้านอากาศยานที่ต้องการยกระดับความรู้ความสามารถตามมาตรฐานเอียซ่า “เรียนจบจะได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพที่รับรองโดยเอียซ่า มาตรฐานสากลที่ครอบคลุมสายการบินทั่วโลกมากกว่า 80% สามารถทำงานได้ทั้งในประเทศหรือระดับสากลทั้งยังมีโอกาสได้รับเงินเดือนที่สูงขึ้นด้วย ส่วนใครต้องการได้รับใบอนุญาตของเอียซ่า ก็ต้องหมั่นพัฒนาตนเองเพื่อต่อยอดความเชี่ยวชาญตามมาตรฐานนั้นๆ” ดร.สาธิต กล่าวย้ำ ผศ.ปราโมทย์ อนันต์วราพงษ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ บอกว่า การพัฒนาบุคลากรก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดี โดยเมียสใช้เวลาราว 5 ปีพัฒนาอาจารย์ 128 คนในจำนวนนี้ผ่านการอบรมหลักสูตรมาตรฐานเอียซ่า 50 คน ขณะที่ มทร.กรุงเทพ ซึ่งเริ่มต้นมาเพียง 2 ปี มีอาจารย์ที่ผ่านหลักสูตรถึง 8 คนและจะพัฒนาต่อเนื่องโดยร่วมกับกลุ่มมทร. 8 แห่งซึ่งคาดว่าปี 2560 มีอาจารย์ผ่านอบรม 30 คน ทั้งนี้ ส่วนความพร้อมของอุปกรณ์การสอนเกิน 50% ยังขาดเพียงโรงเก็บเครื่องบินตามมาตรฐานเอียซ่า ที่กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงอาคารใต้ตึกคณะวิศวะ ขนาด 40x20 เมตร บรรจุเครื่องบินขนาด 40 ที่นั่งได้ 1 ลำ โดยประสานขอยืมมาจากกองทัพอากาศเพื่อให้นักศึกษาได้ใช้เรียน คาดว่าจะพร้อมใช้งานราวเดือนสิงหาคมนี้ ส่วนระยะยาว 5 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2563) มีแผนจะปรับปรุงอาคารเก่า 1 หลังให้เป็นโรงเก็บเครื่องบินเพิ่มซึ่งจะมีขนาดใหญ่ขึ้น 3 เท่า และช่วงเวลาเดียวกันมีแผนจะพัฒนาให้สถาบันสามารถเป็นหน่วยงานที่ออกใบรับรองมาตรฐานเอียซ่าได้เองด้วย

วันอังคารที่ 22 มีนาคม 2559

ขอบคุณแหล่งข้อมูล: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

คำสำคัญ: , คมชัดลึก

No comments:

Post a Comment