Thursday, March 17, 2016

พลังนักศึกษาพัฒนาชุมชนขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

พลังนักศึกษาพัฒนาชุมชนขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง : สุชาดา สอนกริ่ม

การศึกษาไม่ใช่แค่การเรียนเพื่อความรู้ภายในห้องเรียนเท่านั้น เพราะข้างนอกห้องเรียนยังมีผู้ที่เดือดร้อนและประชาชนส่วนมากที่ยังต้องการกำลังแรงกายจากนักศึกษาเพื่อช่วยพัฒนาชุมชน มูลนิธิรากแก้ว จึงได้ตั้งโครงการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยพลังของนิสิตนักศึกษาขึ้น บันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ 4 สถาบันหลักเพื่อเป็นโครงการนำร่องที่จะสร้างกระแสการยกระดับการเรียนการสอนและการทำกิจกรรมนิสิตนักศึกษารูปแบบใหม่ที่เกิดประโยชน์ต่อชุมชนสู่สังคมคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ “ศศินิภา ต้นบุตร” ประธานรากแก้วมหิดล นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาลัยนานาชาติ เล่าว่า โครงการนี้แตกต่างจากโครงการจิตอาสาทั่วไปเนื่องจากมีการลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้านอย่างจริงจังและมีการติดตามผลอย่างยั่งยืน โดยมีการค้นหาแหล่งต้นตอของปัญหาในแต่ละพื้นที่ว่าเกิดจากอะไร จากนั้นนำความรู้ของนักศึกษาเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา “มหิดลได้ร่วมดำเนินงานโครงการภายใต้มูลนิธิรากแก้วในนามมหาวิทยาลัยมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานเริ่มต้นจากโครงการข้าวแล้วพัฒนาต่อมาเป็นกล้วยโครงการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โครงการน้ำโครงการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้และโครงการคัดแยกขยะบทบาทจะเน้นในเรื่องของการสร้างโครงสร้างให้มั่นคง” ศศินิภา กล่าว โครงสร้างของทีมที่ทำงาน สร้างความเป็นปึกแผ่นและเป็นฝ่ายสนับสนุน ติดต่อประสานงานในฝ่ายต่างๆ มีกิจกรรมช่วยฝึกการรับผิดชอบและการแบ่งเวลา สามารถนำความรู้ที่เรียนมาช่วยแก้ปัญหาและปรับใช้ได้สังคมได้ นักศึกษามีคุณภาพและพลังเพื่อช่วยเหลือชุมชนอย่างเต็มใจเต็มความสามารถจริงๆ แล้วปัญหาในสังคมมีอยู่เยอะมากที่สามารถนำความรู้ของนักศึกษาไปใช้ในการแก้ปัญหาได้ มหาวิทยาลัยสามารถเข้าไปช่วยได้ เราพัฒนาและเสริมสร้างอนาคตให้แก่เด็กๆ ให้ความรู้ให้การศึกษาเพื่อช่วยให้พวกเขาเติบโตมาเป็นอนาคตที่ดีได้ อย่างที่รากแก้วเข้ามาสนับสนุนก็เพื่อให้เราเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต เช่นกันสิ่งที่เราทำมันเป็นผลดี คนอื่นได้ดีตัวเราก็ดีด้วย “รุจิมา ขมิ้นเขียว” คณะวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น สาขาการจัดการคลัง ชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยขอนแก่น เล่าต่อว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีชมรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชนอยู่แล้ว และได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือชุมชนมาแล้วหลายปี จึงได้สนใจเข้าร่วมกับมูลนิธิรากแก้วเพราะมีการติดตามผลโดยรากแก้วจะช่วยรวมนักศึกษาที่มีจิตอาสาจากทั่วภาคอีสาน ล่าสุดได้ลงพื้นที่ที่ทุ่งโป่ง ช่วยเก็บข้อมูลและไปช่วยทำคลองน้ำที่ทุ่งโป่งเขื่อนอุบลรัตน์ รุจิมา มีหน้าที่เชิญชวนผู้ที่สนใจด้านจิตอาสาเข้ามาร่วมค่ายด้วยกันที่ได้ทำมาก็ประมาณ 5-6 ค่ายแล้ว เนื่องจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นครบรอบ 50 ปีการอุทิศเพื่อสังคม จึงได้จัดโครงการขึ้นมา 3 โครงการหลักๆ หนึ่งในนั้นก็จะเป็นโครงการแก้จน ซึ่งร่วมกับมูลนิธิรากแก้วและปิดทองหลังพระคือไปช่วยพัฒนาพื้นที่ในภาคอีสานหลักๆ จะเป็นรอบๆขอนแก่น คือ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ ช่วยลงพื้นที่ มข.แก้จน และอีกที่หนึ่งที่รากแก้วจะทำคือที่ทุ่งโป่ง ที่ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น “ศุภรดา ภาสตโรจน์” นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยความในใจว่า การเข้าร่วมโครงการช่วยเหลือชุมชนกับมูลนิธิรากแก้ว ทำให้เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่ไม่สามารถหาได้ภายในห้องเรียน ทำให้ได้เห็นโลกในมุมที่กว้างขึ้นและแตกต่าง นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างคุณค่าในตัวเองโดยการมอบความจริงใจแสดงความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำสิ่งดีดี ทำให้อิ่มเอมใจมีความสุขที่ได้ทำประโยชน์ให้แก่คนอื่นในสังคม ทำให้มีคุณค่าในชีวิตเพิ่มมากขึ้น “วันดี ช่างเหล็ก” คณะวิทยาการจัดการ ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เล่าว่า กิจกรรมที่ทำส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมที่พัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม การเยียวยา การศึกษาของเด็กด้อยโอกาส ได้เข้าร่วมมูลนิธิรากแก้วเน้นในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบในการช่วยเหลือสังคมคือปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ เพราะส่วนใหญ่ชาวบ้านในภาคใต้จะมีอาชีพกรีดยาง ราคายางตกรายได้ของชาวบ้านก็ลดลง จึงส่งผลกระทบต่อด้านอื่นๆ มูลนิธิรากแก้วจะเข้ามาช่วยส่งเสริม ให้ความรู้ และสนับสนุนทางด้านงบประมาณ อำนวยความสะดวกให้แก่นักศึกษา มหาวิทยาลัย จะมีโครงการ 1 คณะ 1 ชุมชน ที่แต่ละคณะจะต้องรับผิดชอบชุมชนที่มีปัญหา และติดตามผลในแต่ละครั้ง ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานมูลนิธิรากแก้ว กล่าวว่า พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นโครงการนำร่องเพื่อยกระดับการทำงานของ 4 มหาวิทยาลัย ที่ได้มีความร่วมมือกันมาก่อนในการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมหาวิทยาลัยได้นำความรู้และพลังของนิสิตนักศึกษาผสานกับศาสตร์พระราชา ไปลงมือปฏิบัติจริงเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชน นอกจากเป็นการพัฒนานิสิตนักศึกษาให้เป็นผู้นำที่เข้าใจปัญหาของประชาชนและประเทศชาติแล้ว เป้าหมายสุดท้ายคือการทำให้ชุมชนมีศักยภาพในการแก้ปัญหาด้วยตนเอง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและสร้างความมั่นคงมั่งคั่งยั่งยืนให้แก่ประเทศชาติตามแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาล

วันศุกร์ที่ 18 มีนาคม 2559

ขอบคุณแหล่งข้อมูล: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

คำสำคัญ: , คมชัดลึก

No comments:

Post a Comment