Monday, September 8, 2014

งานสาน สานใจ จากภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่เยาวชนไทย

มนุษย์ได้รู้จักวิธีการนำวัตถุดิบที่อยู่ใกล้ตัว มาดัดแปลงเป็นสิ่งของเครื่องใช้ จากขั้นตอนที่ง่ายจนวิวัฒนาการสู่ความละเอียดอ่อน ประณีตงดงามในเชิงศิลปะและประโยชน์ใช้สอย จนสนองความต้องการได้เป็นอย่างดี และสืบทอดมาจนปัจจุบัน ผลิตสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ไว้เป็นจำนวนมาก หรือ ที่เราเรียกกันว่า "หัตถกรรม"

เครื่องจักสาน ถือได้ว่าเป็นแขนงหนึ่งในงานหัตถกรรม แม้ทุกวันนี้จะมีเครื่องมือเครื่องใช้ ที่ทำจากโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น แต่ก็ยังมีเครื่องมือเครื่องใช้หลายชนิด ที่ไม่สามารถมาใช้แทนเครื่องจักสานได้ เช่น เครื่องจักสานประเภทก่องข้าวที่กล่าวแล้ว ไม่มี ภาชนะอื่นใดใส่ข้าวเหนียวนึ่งได้ดีเท่าก่องข้าว และกระติบที่สานด้วยไม้ไผ่ ไม่มีเครื่องจับปลาที่ ทำด้วยวัตถุดิบอย่างอื่นมาแทนที่ ลอบ ไซ สุ่ม ที่ สานด้วยไม้ไผ่ได้ สิ่งเหล่านี้ แสดงให้เห็นคุณลักษณะ พิเศษของเครื่องจักสานที่มีคุณค่าในตัวเอง ยากที่ จะใช้งานหัตถกรรมและอุตสาหกรรมอย่างอื่น ทดแทนได้

คุณยายน้ำเชี่ยว มากศรตรง ปราชญ์ชาวบ้าน อายุ 68 ปี เลขที่ 19 ม.2 ต.ท้อแท้ อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก เห็นว่าเราควรอนุรักษ์เครื่องจักสานให้เยาวชนรุ่นหลังได้ทำเป็น ได้สืบสานประเพณีวัฒนธรรมไทย ภูมิปัญญาของคนไทย จึงได้เปิดบ้านสอนนักเรียนในจังหวัดพิษณุโลก และใกล้เคียงที่สนใจจะสืบทอดงานหัตถกรรมจักสานไม้ไผ่เป็นผลิตภัณฑ์ ให้ได้เข้าเรียนรู้ ฝึกทักษะ เพื่อสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น และสร้างรายได้ในครอบครัวได้

ด้วยเหตุนี้ จึงมีนักเรียนกลุ่มศิลปะประดิษฐ์ สาระการงานพื้นฐานอาชีพและเทคโนโลยี จากโรงเรียนทรัพย์ไพรวัลย์วิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 39 อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ได้รวมกลุ่มกัน มาศึกษาเรียนรู้งานหัตถกรรม ด้านการจักสาน งานฝีมือแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่ก่อนหน้านี้เคยแพร่หลาย แต่ปัจจุบันมีให้เห็นไม่มากนัก และเด็กรุ่นใหม่ ไม่ค่อยให้ความสำคัญงานทางด้านหัตถกรรมมากนัก จึงให้คุณยายน้ำเชี่ยว สอนวิธีการจักสาน โดยเริ่มตั้งแต่จักตอก ย้อมสี ขึ้นรูป สานเป็นลวดลายต่างๆ จนได้ผลิต และในวันนี้ได้เริ่มในขั้นตอนแรกคือ สานพัด ซึ่งเป็นงานสานขึ้นพื้นฐาน ในการกำหนดลวดลายและวางตำแหน่งของเส้นตอกแต่ละเส้น

ด้าน นางสาววิภา แซ่เฮอ นักเรียนชั้น ม.5 ที่มาฝึกงานสาน กล่าวว่า " วันนี้ มาหัดสานกระบุง ตระกร้า ชะลอมใส่ผลไม้ เพื่อเป็นการสืบสานวัฒนธรรมไทย ช่วยลดภาวะโลกร้อย ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ในการสร้างอาชีพ ทำรายได้ให้ครอบครัวค่ะ"

ส่วน นางสาววิภาวี แซ่หยาง นักเรียนชั้น ม.5 กล่าวว่า "ตนมีความสนใจในงานหัตถกรรม เพราะวัสดุต่างๆ หาได้ง่ายจากชุมชน และต้องการสืบสานงานฝีมือ อีกทั้งเมื่อเรียนรู้ฝึกฝนจนชำนาญก็ยังสามารถนำความรู้ที่ได้ไปสร้างรายได้ระหว่างเรียน หรือนำไปประกอบอาชีพ เมื่อตนนั้นสำเร็จการศึกษาได้อีกทางหนึ่งด้วย"

นางน้ำเชี่ยว มากศรตรง กล่าวว่า ตนนั้นยึดอาชีพจักสาน มาตั้งแต่เป็นสาวจนถึงปัจจุบันก็ยังคงยึดอาชีพนี้อยู่ เพื่อสืบสานสิ่งที่คนรุ่นหลังได้สั่งสอนไว้ และได้มีการพัฒนาลวดลายงานต่างๆ ขึ้นมาให้เข้ากับยุคสมัย อาทิ ชะลอม ตะกร้า กระบุก งานสานเคลือบภาชนะ จนถึงกระบุกออมสิน สร้างรายได้ให้ประมาณวันละประมาณ 300-500 บาท โดยงานแต่ละชิ้นมีราคาตั้งแต่ 50 บาท ไปจนถึง 2000 บาทเลยทีเดียว ตนจึงอย่างนำความรู้ที่มีมาสอนต่อให้คนรุ่นต่อไปได้สืบสาน เพื่อให้มีอาชีพติดตัว สร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว หรือสร้างรายได้หลังจากจบการศึกษา จึงได้เปิดให้เยาวชน ร่วมไปถึงโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัดพิษณุโลก ที่สนใจมาเรียนรู้งานจักสาน โดยตนยินดีให้สอนฟรี"

นับเป็นอีกหนึ่งในงานศิลปหัตถกรรม ที่สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาของชาวบ้าน การทำเครื่องจักสาน ต้องใช้ความชำนาญ และความสามารถเฉพาะตัวของช่างพื้นบ้านแต่ละถิ่น สิ่งเหล่านี้เป็นคุณค่าพิเศษของเครื่องจักสานที่ต่างไปจากผลิตภัณฑ์อื่นที่ผลิตด้วยเครื่องจักร เครื่องจักสานจึงเป็นงานศิลปหัตถกรรม ที่มีคุณค่ายิ่งอย่างหนึ่งของไทยที่ควรอนุรักษ์ไว้ สืบไป.

………………………………………………

วรางคณา อนันตะ

นักประชาสัมพันธ์ สพม.39(พิษณุโลก-อุตรดิตถ์)

02 กันยายน 2557

ขอบคุณแหล่งข้อมูล: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ

คำสำคัญ: , เลย, สพฐ., แพร่, ประเพณี, ความรู้, ท้องถิ่น, พิษณุโลก, อุตรดิตถ์, มัธยมศึกษา

No comments:

Post a Comment