เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 8 กันยายน 2557 ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมคณะ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนวัดพรหมเกษร ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ ซึ่งเป็นโรงเรียนแรกของเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลกเขต 1 ที่จะประสบภัยน้ำท่วมหากมีน้ำจากจังหวัดสุโขทัยไหลบ่ามา โดยมี ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา พิษณุโลก เขต 1 พร้อมผู้อำนวยการโรงเรียน คณะครู และนักเรียนให้การต้อนรับ ภายหลังจากผู้อำนวยการโรงเรียนได้รายงานการเตรียมการรองรับสถานการณ์น้ำท่วมในสถานศึกษาแล้ว ดร.กมล รอดคล้าย ได้เยี่ยมชุดนิทรรศการเกี่ยวกับอุทกภัยที่เกิดขึ้นกับโรงเรียน เฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์น้ำท่วมในปี 2554 ที่ถือว่ามีน้ำท่วมหนักที่สุดในเขตพื้นที่ อ.บางระกำ ต่อมาเวลา 13.30 น. ดร.กมล ได้เดินทางไปประชุมผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสพป.พิษณุโลก เขต1 เขต 2เขต3 และสพม.39 ณ ห้องหยาดเพชร โรงแรมเรือนแพ รอยัล ปาร์ค อ.เมือง จ.พิษณุโลก เพื่อมอบนโยบายของ สพฐ.ปีงบประมาณ พ.ศ.2558 และการเตรียมการรองรับสถานการณ์น้ำท่วมในสถานศึกษา โดย ดร.กมล ได้เน้นย้ำในเรื่องของโรงเรียนที่ประสบภัยน้ำท่วมให้ผู้บริหารโรงเรียนได้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมตัวและหาวิธีป้องกัน ในส่วนของ สพฐ. ได้ลงพื้นที่ก่อนกำหนดเพื่อมามาเห็นสถานการณ์ล่วงหน้าและได้เตรียมการป้องกัน ที่สำคัญคือจะได้ส่งสัญญาณไปจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศ โดยมีกระบวนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมคือก่อนน้ำต้องติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด นำไปสู่การเตรียมการล่วงหน้าเช่น การเปิดภาคเรียนล่วงหน้าเป็นการชดเชยเมื่อนักเรียนต้องหยุดเรียนเมื่อเกิดน้ำท่วม การเตรียมเด็กให้รู้ล่วงหน้า การย้ายวัสดุสิ่งของขึ้นที่สูง การเตรียมเรือ เตรียมชูชีพ เมื่อเกิดสถานการณ์น้ำท่วม ผอ.เขต ต้องเข้าไปดูสถานการณ์ความรุนแรง ดูแลเรื่องความเป็นอยู่ของเด็กและครอบครัว ถุงยังชีพ หากน้ำท่วมใหญ่จนคุมสถานการณ์ไม่ได้ให้เขตพื้นที่ที่ 1 ตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในจังหวัดของตนเองโดยอัตโนมัติ มีสถานที่เก็บถุงยังชีพและหน่วยช่วยเหลือเคลื่อนที่ โดยสำรองงบประมาณของเขตพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน เมื่อสถานการณ์น้ำลดแล้วให้สำรวจความเสียหายเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณซ่อมสร้าง โดยกระบวนการทั้ง 3 ขั้นตอนเป็นเรื่องที่ผู้บริหารต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ไม่เฉพาะปัญหาอุทกภัยเท่านั้นแต่รวมถึงภัยต่าง ๆ ที่จะต้องทำให้นักเรียนทราบว่ามีภัยอะไรขึ้นกับตนเองทั้งภัยจากธรรมชาติและภัยจากโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งต้องให้ความรู้และแนวปฏิบัติในการจัดการกับภัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงปัญหาจากการกระทำของคน เช่นการตีกัน อุบัติเหตุจากไฟช๊อต ความรู้เหล่านี้ สพฐ. ได้ให้ผู้เกี่ยวข้องได้ยกร่างแนวปฏิบัติและถ่ายทอดความรู้นี้ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ และจะมีหนังสือแจ้งไปยังเขตพื้นที่ต่าง ๆ ให้เตรียมการล่วงหน้ารับปัญหาอุทกภัยโดยใช้รูปแบบของจังหวัดพิษณุโลกเพื่อนำไปประยุกต์ใช้.
09 กันยายน 2557
ขอบคุณแหล่งข้อมูล: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
คำสำคัญ: , สพฐ., สพป., ความรู้, สุโขทัย, พิษณุโลก, ประถมศึกษา
No comments:
Post a Comment