วัดไทยในสังเวชนียสถานนำพุทธศาสนากลับสู่แดนพุทธภูมิ : สุพินดา ณ มหาไชย
มีคำกล่าวไว้ว่า เมื่อใดก็ตามที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์ในภัทรกัปนี้จะอุบัติขึ้นในโลกมนุษย์ ทุกพระองค์จะต้องจุติในดินแดนชมพูทวีป จุดที่ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน สถานที่แสดงปฐมเทศนา หรือแม้แต่ขาเตียงในพระคันธกุฏิ ก็จะวางอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน โดยเฉพาะสถานที่ตรัสรู้ต้องเป็นที่เจดีย์พุทธคยาเท่านั้น เพราะเชื่อกันว่า ตำแหน่งนั้น คือ สะดือโลก เป็นจุดเดียวในโลกที่สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนจากการตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณได้ แม้จะเป็นแผ่นดินที่ถูกเลือก แต่ปัจจุบัน พุทธศาสนากลับเหือดหายไปจากดินแดนแห่งนี้กว่า 700 ปีแล้ว ยังดีว่า ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าอโศกมหาราชที่ทรงส่งพระธรรมทูตไปเผยแผ่พุทธศาสนา 9 สาย ศาสนาของพระศาสดาจึงยังคงงอกงามอยู่ตามดินแดนต่างๆ แต่ความมุ่งหวังลึกๆ ของชาวพุทธ ก็ยังคงอยากให้พุทธศาสนากลับคืนสู่แดนพุทธภูมิอีกครั้ง
“พ.ศ.1700 เพลิงได้เผาไหม้มหาวิทยาลัยนาลันทา ศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนาขนาดใหญ่ใกล้กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ จนล่มสลายลงพร้อมๆ กับการทำลายพุทธสถานทั่วดินแดน การปราบปรามพุทธศาสนาอย่างหนักดำเนินต่อไปตามส่วนต่างๆ ของชมพูทวีป ชาวพุทธบางส่วนหนีไปที่ศรีลังกา อีกส่วนถอยร่นไปทางตอนใต้ของอินเดีย จากครั้งนั้น พุทธศาสนาแทบสูญหายไปจากดินแดนแห่งนี้" พระอาจารย์จิตติพันธ์ กิตติวังโส พระนักศึกษามหาวิทยาลัยเมืองพาราณสี ให้ข้อมูลระหว่างพาชมมหาวิทยาลัยนาลันทา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางจาริกบุญสังเวชนียสถาน 4 ตำบลในรัฐพิหาร รัฐอุตตรประเทศ ของประเทศอินเดีย และแคว้นอูธ ประเทศเนปาล โดยกองทุนส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา กรมการศาสนา จัดโครงการส่งเสริมพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนเดินทางไปประกอบศาสนกิจ ณ สังเวชนียสถาน นาลันทา หลับใหลอยู่ใต้ดินผ่านไปกว่า 700 ปี จนถึง พ.ศ.2403 ในยุคที่อังกฤษปกครองอินเดีย ถึงได้สำรวจพบและมีการขุดค้น นาลันทาจึงตื่นขึ้นมาอีกครั้ง ภายหลัง พุทธสถานอื่นๆ ก็ได้รับการบูรณะโดยรัฐบาลอินเดีย อย่างไรก็ตาม เส้นทางสังเวชนียสถานเริ่มเป็นที่นิยมหลัง พ.ศ.2500 เมื่อรัฐบาลอินเดียเฉลิมฉลองวาระครบรอบพุทธชยันตี 2500 ปี เยาวหราล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย ได้เชิญชวนพุทธประเทศ ไปก่อตั้งวัดรอบโพธิมณฑลพุทธคยาเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่พุทธศาสนิกชนจากแต่ละประเทศที่เดินทางมาแสวงบุญ ประเทศไทยตอบรับเป็นชาติแรกและก่อตั้งวัดไทยพุทธคยา ในพ.ศ.2502 เป็นวัดไทยแห่งแรกที่สร้างในต่างประเทศด้วย จากวันนั้น วัดไทยในอินเดียเพิ่มจำนวนตามจำนวนผู้แสวงบุญชาวไทย “พระมหานิพนธ์ ญาณวีโร” ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา บอกว่า ยุคแรกมีคนไทยมาแสวงบุญหลักสิบ แค่ปีละ 10-20 คน ปัจจุบันเพิ่มเป็นหลักแสน โดยวัดไทยจะคอยดูแลอำนวยความสะดวกให้ทั้งการรักษาพยาบาล และให้ที่พักอาศัย รวมถึงจัดพระเป็นมัคคุเทศก์และนำสวดมนต์ตามสถานที่สังเวชนียสถานต่างๆ ปัจจุบันมีวัดไทยในอินเดียทั้งหมด 36 วัด ส่วนใหญ่อยู่ในพุทธคยากว่า 20 วัด ที่เหลือกระจายอยู่ตามเส้นทางสังเวชนียสถาน แทบทุกวัดเปิดประตูต้อนรับและอำนวยความสะดวกแก่ญาติโยมจากไทย รวมถึงพุทธศาสนิกชนจากประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะสุขาที่สะอาดมาตรฐานไทยแลนด์ภายในวัด เป็นสุดยอดปรารถนาในเส้นทาง กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ร่วมกับ พระธรรมทูตสายประเทศอินเดียและเนปาล โดยการนำของ พระเทพโพธิวิเทศ หัวหน้าพระธรรมทูต สายประเทศอินเดีย-เนปาล ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดตั้ง “ศูนย์อำนวยการความสะดวกผู้เดินทางประกอบศาสนกิจ ณ สังเวชนียสถาน 4 ตำบล ประเทศอินเดีย-เนปาล” ขึ้นในวัดไทยในอินเดีย-เนปาล รวม 9 แห่ง เริ่มจากวัดไทย ลุมพินี ประเทศเนปาล เเป็นแห่งแรก เพื่อเป็นหลักประกันและเป็นที่พึ่งพิงสำหรับผู้ที่จะเดินทางมาสังเวชนียสถาน แม้สังเวชนียสถานจะตื่นแล้ว แต่ส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชนจากภายนอก ที่ดั้นด้นหลั่งไหลเข้าไปตามรอยพระศาสดา ส่วนในอินเดียมีผู้นับถือศาสนาพุทธเพียงแค่ 5-6% หรือประมาณ 10 ล้านคนจากจำนวนประชากรที่มีเป็นพันล้านคน เป็นศาสนาที่มีประชากรนับถือน้อยสุด และนั่นเป็นภารกิจสำคัญอีกประการหนึ่งของวัดไทยในอินเดีย ในการฟื้นศรัทธาต่อศาสนาพุทธในดินแดนต้นกำเนิด วัดไทย ใช้ศาสนสงเคราะห์ เป็นสะพานสู่การยอมรับของคนท้องถิ่น สภาพสังคมที่ยังมีระบบวรรณะครอบงำอยู่สูง ส่งผลให้การแก้ปัญหาความยากจนมีความซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะรัฐพิหารเป็นรัฐที่ยากจนที่สุดในอินเดีย โอกาสการเข้าถึงการศึกษาและสาธารณสุขยังไม่ทั่วถึง วัดไทยส่วนใหญ่จึงช่วยเติมเต็ม เป็นสถานพยาบาลและสถานศึกษาให้แก่คนในพื้นที่ วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เป็นแห่งหนึ่งที่เปิดสถานพยาบาลรักษาคนในพื้นที่อย่างเต็มตัว ต่อเนื่องหลายปี มีผู้ที่ได้รับการรักษาแล้วจากที่นี่จำนวน 5 แสนคน พระครูสมุห์สงกรานต์ กิตติวโส พระธรรมทูตไทย กองงานเลขาฯ วัดไทยกุสินารา เล่าว่า ทางวัดเปิดสถานพยาบาลกุสินาราคลินิก รับรักษาชาวอินเดียมาตั้งแต่ปี 2543 โดยคิดค่ารักษาเริ่มจาก 3 รูปีรักษาทุกโรคในปัจจุบัน เป็น 10 รูปีรักษาทุกโรค แต่วันพระจะเปิดรักษาฟรีทุกโรค ตรงนี้เป็นกลยุทธ์ให้คนอินเดียระลึกถึงพระพุทธเจ้า “ชาวอินเดียลืมพระพุทธเจ้า ลืมพุทธศาสนาไปกว่า 700 ปี ก็เลยคิดว่า ทำอย่างไรให้คนอินเดียรู้จักพระพุทธเจ้า กลับมารู้จักพุทธศาสนา จึงให้วันพระเป็นวันที่รักษาฟรี อันนี้เป็นกุศโลบาย ให้เขารู้ว่า ที่ได้ยาฟรี ได้รักษาฟรีวันนี้ เพราะมีพระพุทธเจ้า ขณะเดียวกัน เราก็ได้คิดว่า เรามาสร้างวัดสวยงาม แต่ชาวอินเดียไม่ได้ภูมิใจกับวัดแห่งนี้ มีแต่ญาติโยมคนไทยที่หน้าชื่นตาบาน จะทำอย่างไรให้เขาภูมิใจและรู้สึกว่าเป็นวัดของเขา เลยคิดว่า เรามาทำงานในดงคนยากจน คนแขก จึงตัดสินใจเปิดสถานพยาบาลเล็กๆ ขึ้นมา เพื่อรักษาโรคให้แก่คนในท้องถิ่น" นอกจากนี้ ยังเปิดโรงเรียนต้นกล้าพุทธศาสนาวันอาทิตย์ สอนวิชาพระพุทธศาสนาและวิชาทั่วไปให้เด็ก ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี ทุกๆ ปีมีเด็กมาสมัครเข้าเรียนกว่า 500 คน แต่รับได้แค่ 100 คน พระครูสมุห์สงกรานต์ บอกว่า ทุกวันนี้ เวลาไปบิณฑบาตในหมู่บ้านชาวฮินดูปรากฏว่า เขาใส่บาตรให้เราด้วยความภาคภูมิใจ ตรงนี้มาจากการที่เราให้เขาก่อน การฟื้นพุทธศาสนาสู่แดนพุทธภูมิ คือการทำให้ธรรมะของพระศาสดาเข้าไปอยู่ในส่วนหนึ่งของศรัทธาชาวอินเดีย ให้ทุกศาสนาอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนและผสมผสานทางวัฒนธรรม เหมือนอย่างที่วัดไทยกุสินารา มีรูปปั้น โค ซึ่งเป็นพาหนะของ พระศิวะ ตั้งอยู่หน้าวัด มีรูปพระพิฆเนศ อยู่ในอุโบสถ เพื่อให้ผู้คนในศาสนาอื่นสะดวกใจเดินเข้าวัดพุทธ และสำหรับพุทธศาสนิกชน การดั้นด้นไปสังเวชนียสถาน ก็เป็นดังที่พระตถาคตตรัสไว้ว่า ผู้ใดระลึกถึงพระองค์ พึงจาริกไปยังสังเวชนียสถานทั้งสี่นี้
วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ 2559
ขอบคุณแหล่งข้อมูล: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
คำสำคัญ: , คมชัดลึก
No comments:
Post a Comment