ดร.อดิศักดิ์ มุ่งชู อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนสารคามพิทยาคม จังหวัดมหาสารคาม คือหนึ่งเดียวจากผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศ ที่สามารถก้าวขึ้นมานั่งแท่นผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาระดับสูงได้สำเร็จ จากการประกาศผลการสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เมื่อปี พ.ศ. 2557
นับว่าเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ผู้อำนวยการโรงเรียนที่สามารถเข้ามานั่งในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ได้ด้วยการสอบคัดเลือก ตามคุณสมบัติที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำหนดคือมีวิทยฐานะผู้อำนวยการเชี่ยวชาญมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
ดร.อดิศักดิ์ มุ่งชู เลือกที่จะเข้ามาเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 19 (เลย – หนองบัวลำภู) เนื่องจากตัวเองเป็นลูกชาวนา เป็นคนอีสานโดยกำเนิด จึงอยากจะเห็นการศึกษาของเด็กและเยาวชนไทยในพื้นที่ก้าวไปไกลเทียบเท่านานาประเทศ
"สิ่งแรกที่อยากจะทำคือต้องเร่งขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาในทุกมิติ สิ่งใดที่เคยทำมาแล้วได้ผลลัพธ์เป็นที่พอใจเราก็คงต้องทำต่อไป แต่ถ้าสิ่งไหนที่ทำมาแล้วได้ผลลัพธ์ไม่เป็นที่พอใจหรือล้มเหลว เราคงต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการ (Process) คิดและปฏิบัติกันใหม่"
การลงพื้นที่ถึงโรงเรียนด้วยตนเอง การได้รับทราบข้อมูลพื้นฐานและเชิงลึกจากผู้บริหารโรงเรียน ครูและรวมถึงตัวนักเรียนในช่วงเวลาตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2558 ทำให้ ดร.อดิศักดิ์ มุ่งชู ได้มอบนโยบายพร้อมปรับเปลี่ยน "กระบวนการ" เพื่อนำไปสู่เป้าหมายทั้งในโรงเรียนและในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 19 แล้วในหลายๆ เรื่อง เช่น การสร้างค่านิยมของ สพม.19 ขึ้นมาใหม่ที่ว่า "รู้คน รู้งาน บริการเป็นหน้าที่"
ได้จัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับโรงเรียนในสังกัดจังหวัดเลยและหนองบัวลำภู ทั้งหมด 52 โรงเรียน จัดงานแถลงข่าว "การขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการศึกษา สพม.19" เพื่อเป็นการยืนยันความจริงใจ จริงจังในการที่จะร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาในทุกมิติ 6 ประเด็นสำคัญคือ 1. จะร่วมกันเร่งรัด ยกระดับผลสัมฤทธิ์ การทดสอบ O-NET ปีการศึกษา 2558 และ ปีการศึกษา 2559 ให้ผลสัมฤทธิ์ในแต่ละกลุ่ม สาระฯ สูงขึ้น ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 2. จะร่วมกันเร่งรัดการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามโครงการการพัฒนา คุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ (DLIT) ให้มีประสิทธิภาพ 3. จะร่วมกันเร่งรัดปลูกฝังค่านิยมหลัก 12 ประการ ให้กับนักเรียนทุกระดับและทุกคน 4. จะร่วมกันจัดตั้งชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพครู (Professional learning community) หรือ PLC 5. จะร่วมกันเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ โดยใช้กลไกการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาที่เน้นการใช้แผนปฏิบัติการประจำปีการศึกษา 2558 เป็นเครื่องมือในการบริหาร ประเมินผลการปฏิบัติงานตามตัวชี้วัดสภาพความสำเร็จ (KPI Measurement Template) ตลอดจนแผนพัฒนาตนเอง (ID Plan) และ 6. จะร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนาโรงเรียนสู่ความเป็นมาตรฐานสากล
. "ขอย้ำถึงผู้บริหารสถานศึกษาได้ให้ความสำคัญกับการสื่อสารทั้งภายในและภายนอกต้องฉับไว กิจกรรมดีๆ ผลงานนักเรียน ครู โรงเรียนที่โดดเด่นต้องนำออกมาเผยแพร่ให้สาธารณะชนได้รับรู้ โดยเฉพาะโครงการที่จะต้องตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ทั้งในเรื่องลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ โครงการ "ทวิศึกษา" เรียนร่วมกับอาชีวศึกษา การส่งเสริมทักษะอาชีพอิสระ และอื่นๆ ดังนั้นเพื่อให้การยกระดับคุณภาพการศึกษาของเราบรรลุเป้าหมาย ทุกคนจะต้องร่วมด้วยช่วยกันให้เป็นรูปธรรม ยั่งยืนตลอดไป"
การเห็นความสำคัญของการสื่อสารเพื่อการประชาสัมพันธ์ของ ดร.อดิศักดิ์ มุ่งชู จึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้บริหารโรงเรียนในสังกัดต่างให้ความร่วมมือ ทุ่มเทร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ให้การส่งเสริม สนับสนุนครูและนักเรียนได้แสดงศักยภาพออกมาอย่างเต็มความสามารถ
จงเชื่อมั่นและติดตามฝีมือของผู้บริหารมืออาชีพ ที่อยู่กับนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ทั้งโรงเรียนขนาดเล็ก กลาง ใหญ่และใหญ่พิเศษมากว่าครึ่งชีวิต ก่อนที่จะขึ้นมานั่งแท่นผู้บริหารสูงสุดในระดับเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างยั่งยืน "ที่นี่...สพม.19" เลย-หนองบัวลำภู
..........................................................
กฤตภาส ดวงไพชุม
นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ สพม.19 /รายงาน
18 กุมภาพันธ์ 2559
ขอบคุณแหล่งข้อมูล: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
คำสำคัญ: , เลย, สพฐ., แพร่, มหาสารคาม, มัธยมศึกษา, เสริมทักษะ, ประสิทธิภาพ, หนองบัวลำภู, เทคโนโลยีสารสนเทศ
No comments:
Post a Comment