Saturday, February 13, 2016

แนวรุก “การสื่อสารเพื่อการมีส่วนร่วม” ...จุดเปราะ “ปฏิรูปการศึกษาไทย”

แนวรุก "การสื่อสารเพื่อการมีส่วนร่วม" ...จุดเปราะ "ปฏิรูปการศึกษาไทย"

. ปรากฎการณ์นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. แสดงออกซึ่งปฏิกิริยาเสียดทานปะทะทางทีท่า อารมณ์ และคมคำกับนักข่าวสายทำเนียบรัฐบาลแบบต่อเนื่องเกือบทุกวันต่อวันจนชินตาประชาชนคนไทย เป็น "แบบเรียน"อีกหน้าหนึ่งของวิทยาทานและประสบการณ์ตรง นอกเหนือจากตำราการสื่อสารมวลชน ที่ทุกฝ่ายทุกคนต่างมีคำตอบ คำถาม ข้อฉงนปมเงื่อนคละเคล้ากันไปในแง่ของนิยามและปรัชญา "การสื่อสาร" วันนี้ !

ดูเหมือนว่า รัฐบาลคสช.กำลังเดินหน้า ยุทธการ"รุกคืบและรุกฆาต" ในมิติ time line และ road map แบบหวังผลในปลายทางของกระบวนการ "คืนความสุขให้ประชาชน"ในทุกสารบบปฏิรูประบบราชการไทย ศตวรรษที่ 21 ในขณะที่อุ้งมือกลไกและรากเหง้าอิทธิพล"นักการเมืองไทย"ในอดีต ยังคงมีแทรกซึมแทรกซ้อนในทุกองคาพยพ ระบบราชการและวิถีชีวิตอณูโครงข่ายชุมชนกระทั่งคลุมครอบทุกครัวเรือนด้วยซ้ำไป

กล่าวเฉพาะการปฏิรูประบบการศึกษาไทยด้วยแล้ว ที่ดูเหมือนภาครัฐพยายามชูธง "ความรู้ความเข้าใจ" ไปสู่ประชาชนให้บังเกิดพลังแห่ง "ความตระหนัก" และสุดท้ายให้ตกผลึกปลายทางไปที่ "การมีส่วนร่วม"ของปัจเจกชนจนถึงองค์กรทุกภาคส่วน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องต้องอาศัยการวางแผนระบบการสื่อสาร การสร้างความรู้ความเข้าใจอย่างมีสมรรถนะประสิทธิภาพ ศักยภาพและเอกภาพ

ซึ่งแน่นอนในโลกยุคดิจิตอลและอิทธิพลอุปกรณ์ smart phone 4 G กับยุคสมัยที่ "ผู้สร้างข่าว ผู้ส่งข่าว ผู้เสพข่าว" กลายเป็นคนๆเดียวกัน กระบวนทัศน์การสื่อสารของหน่วยงานองค์กรด้านการบริหารและการจัดการการศึกษา ณ วันนี้ จึงมิใช่เพียงแค่การวางระบบ วางคน วางงาน วางอุปกรณ์เครื่องมือเทคโนโลยีการสื่อสาร หรือประสบการณ์บุคลากรคนทำงานการสื่อสารประชาสัมพันธ์เพียงแค่การอ่าน การคิด วิเคราะห์ บูรณาการข้อมูล ออกแบบสื่อ template ไปจนถึง infographic ได้ดีได้เด่นเท่านั้น

การปฏิรูปกลไกและระบบการสื่อสารและการประชาสัมพันธ์จึงต้องดำเนินการควบคู่ไปกับ"การปฏิรูปการศึกษา" อย่างก้าวกระโดดออกนอกกรอบ นอกบริบทตำราการสื่อสารจากทุกแขนงประเภท ก่อนที่วงจร "ปฏิรูป-ปฎิวัติ"ระบบราชการและกระบวนทัศน์เนื้องานด้านการบริหารและการจัดการศึกษา ซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนและต้นทางของการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศในระยะยาวแบบยั่งยืนจะสู้รบปรบมือกับกลไกการสื่อสารในหลายๆ action section และ vision แบบพายเรือหมุนวนในอ่าง โดยมีประชาชนคนทั้งประเทศ "สับสน จับต้นชนปลาย แสวงหา เรียนรู้จากหลากหลายมิติสื่อ" สรุปและเออออห่อหมกองค์ความรู้จากทั่วทุกสารทิศแบบวันต่อวัน นาทีต่อนาทีด้วยตนเอง

การปฏิรูปงานด้านการสื่อสารและการประชาสัมพันธ์การศึกษาในยุคปฏิรูปประเทศและการปฏิรูปการศึกษาที่กำลังยกร่างพิมพ์เขียวของประเทศด้วยร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอย่างคึกคักในปัจจุบันวันนี้นั้น การเดินหน้าขององค์คณะบุคคลตามกฎหมายทั้งในรูปแบบคณะกรรมาธิการ คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการในสารบบของการ "แสวงหา ประชาพิจารณ์ ประชามติ วิเคราะห์ ยกร่าง บังคับใช้" คิดค้นระเบียบกติกาทั้งสาระปลีกย่อยในรูปแบบแตกต่างกันไป เช่น การกระจายอำนาจ การยกระดับวิชาชีพครู สมรรถนะบุคลากร การยกระดับโรงเรียนเป็นนิติบุคคล การจัดภาคีประสิทธิภาพเขตตรวจราชการการศึกษา ฯลฯ หลากหลายไลน์-ลู่และวิธีคิดแตกหน่อออกผลทะลุทะลวงเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นต้นสายปลายเหตุนำไปสู่การสร้างสัญลักษณ์เชิงเควชั่นมาร์คให้ล่องลอยสะเปะสะปะในสมองเป็นภาระปมปุจฉาให้ประชาชนต่างมองเฉพาะในมุมที่ตนยืน เห็นในมุมที่ตนนั่ง ขาดมิติเอกภาพ ความรู้ความเข้าใจและกระบวนการสร้างสรรค์สู่การมีส่วนร่วมในกระบวนการขับเคลื่อนสู่การปฏิรูปประเทศที่รัฐบาลภาวการณ์พิเศษมุ่งหวัง

ภาพของผู้นำประเทศในภาวะการปกครองและการบริหารประเทศในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ถูกสื่อสารสู่สื่อสาธารณะหลากหลายตามสไตล์ของอดีตผู้นำกองทัพและการตั้งธงแบบชัดเจนเด็ดขาดตามภารกิจผู้นำการปกครองแบบพิเศษให้บุคลากรแขนงสื่อสารมวลชนภาคเอกชนได้นำไปบอกเล่าเก้าสิบต่อยอด จึงเป็นภาพลักษณ์การสื่อข่าวและการส่งสารที่ผกผันระหว่าง "งานข่าว-ข้อเท็จจริงและสัจจธรรมเชิงประจักษ์" ที่ขาดแนวร่วมและแนวรุกพร้อมเดินคู่ขนานแบบเรียงหน้ากระดานชูธงสู่ประชาชนทั้งประเทศให้เข้ามามีบทบาท ร่วมด้วยช่วยคิดและร่วมฟันธงอย่างเป็นระบบ

การสื่อสารสู่การปฏิรูปการศึกษาควบคู่กับการยกร่างกฎหมายการศึกษาทุกระดับจึงต้องมีระบบการสื่อสารที่เริ่มต้นด้วยกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับลงสู่แผนปฏิบัติการอย่างเป็นระบบและโครงข่ายภาครัฐ ภาคเอกชนเชื่อมโยง ดังนี้

1. การกำหนดหน้าที่หรือภารกิจกำกับการสื่อสารประชาสัมพันธ์การศึกษาให้มีหน่วยปฏิบัติหรือองค์

คณะบุคคล ปรากฏมาตรฐาน ตัวชี้วัด การพัฒนาและการประเมินผลที่ผูกติดและเชื่อมโยงกับภารกิจ การติดตาม การหล่อหลอมองค์ความรู้ การดำเนินการที่ถูกต้องทันสมัยเป็นปัจจุบัน พร้อมออกแบบ ผลิตสื่อ เชื่อมโยงเครือข่าย การวิเคราะห์ การวิจัย การประเมินผลและการพัฒนา

2. การสร้างและพัฒนาบุคลากรให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ในเนื้องานด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์บน

มาตรฐานและบรรทัดฐานวิชาชีพ ซึ่งโดยฐานข้อมูลของภาคราชการการศึกษาปรากฎปริมาณหน่วยงาน องค์กร องค์คณะบุคคล ตลอดจนบุคลากรทั้งสายผู้บริหาร สายผู้สอน และสายสนับสนุนรองรับกระจายโครงข่ายสายงานอยู่ทั่วประเทศ ระบบการสื่อสารโดยเทคโนโลยีการสื่อสารและการพัฒนาข้อมูลสารสนเทศในโลกยุคดิจิตอล จึงต้องมีการกำหนดบุคลากรวิชาชีพเฉพาะทางปฏิบัติภารกิจการสื่อสารประชาสัมพันธ์หน่วยงานการศึกษาแบบมีความรู้ความสามารถ มีทักษะ มีคุณลักษณะเฉพาะตนและสามารถสร้างสรรค์งานการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขยายผล ส่งต่อประชาชนในท้องถิ่น และส่งผลต่อคุณูปการด้านการจัดการศึกษาชาติอย่างเป็นระบบเต็มพื้นที่

3. การกำหนดวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์การศึกษาภารกิจ นโยบาย แผนงานพัฒนาแบบ

บังคับใช้กับบุคลากรผู้นำหน่วยงานทุกระดับ ตั้งแต่ส่วนกลาง เขตตรวจ เขตพื้นที่จนถึงสถานศึกษา ให้เชื่อมโยงกับการพัฒนาที่พร้อมรับการตรวจสอบ ติดตาม ประเมินผลผลิต ผลกระทบเชิงบวกและรองรับนโยบาย แผนงาน วิธีคิด กระบวนทัศน์สู่กระบวนการสื่อสารประชาสัมพันธ์ของภาครัฐและหน่วยงานโครงข่ายอย่างเป็นระบบ มีผลงานเชิงประจักษ์ ตรวจสอบได้ มีการรายงานสู่สาธารณชน ถูกต้อง ตอบโจทย์ ป้องกันและแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว ทันยุคสมัย

"การสื่อสารกระบวนการบริหารจัดการศึกษา" จึงเป็นยุทธศาสตร์และวาระแห่งการปฏิรูปการศึกษาที่ทุกองค์คณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาจะต้องกำหนดภารกิจ บทบาท หน้าที่และคณะดำเนินงานสื่อสารการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ก่อนสรุปรายงานต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะรัฐมนตรีต่อไป

"การสื่อสาร" เป็นเรื่องท้าทายนักปฏิรูปการศึกษายุคใหม่ที่มักแสดงความคิดเห็นและพูดตลอดเวลาว่า "ประชาชนต้องมีส่วนร่วม" ในขณะที่การปฏิรูปการศึกษาศตวรรษที่ 21 นักการศึกษา นักวิชาการ นักบริหารการศึกษายังคงวาทกรรมและแง่คิดแบบวัวพันหลักถกเถียงหยิบจับสาระ โครงสร้าง รูปแบบกระจายอำนาจ รูปแบบการสอนมาทุกยุคสมัย แต่การสื่อสารเพื่อให้ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจกลับถูกละเลยมองข้าม มีเพียงคีย์เวิล์ดปรากฎในเชิงรูปธรรมแต่ไม่มีแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ให้ติดตาม ประเมิน และต่อยอดขยายผล....

การที่จะทำให้การปฏิรูปการศึกษาสัมฤทธิ์ผล สนช. สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและกระทรวงศึกษาธิการน่าที่จะหันมาให้ความสำคัญกับการพิจารณากระบวนการ "ปฏิรูปการสื่อสารประชาสัมพันธ์การศึกษา" ควบคู่ไปกับกระบวนการ "การปฏิรูปการศึกษาไทย" ด้วย

เมื่อระบบการสื่อสารการศึกษาได้รับการสนองตอบและดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและคุณภาพ ประชาชนบังเกิดความรู้ความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน ส่งผลให้ประชาชนเกิดความตระหนัก เข้าใจในบทบาท การรับผิดชอบและการเข้ามามีส่วนร่วมกับการขับเคลื่อนนโยบายจัดการศึกษาของรัฐบาลอย่างจริงจังต่อเนื่องและรู้ซึ้งอย่างถ่องแท้ในบทบาทหน้าที่ของภาคประชาชนต่อกระบวนทัศน์การจัดการศึกษาไทย

การปฏิรูปการศึกษาไทยโดยประชาชนไทยเพื่อเด็กไทย...จึงไม่น่าจะต้องลากยาวให้ยุ่งยากอีกต่อไป !

10 กุมภาพันธ์ 2559

ขอบคุณแหล่งข้อมูล: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ

คำสำคัญ: , เลย, สพฐ., ความรู้, รัฐมนตรี, ท้องถิ่น, ประสิทธิภาพ

No comments:

Post a Comment