เรียนรู้แบบไม่จำกัดเวลาพัฒนาเด็กไทยแบบนักวิจัย : ชุลีพร อร่ามเนตร
“โรงเรียน” บ้านหลังที่ 2 บ่มเพาะ ดูแล อบรมสั่งสอนเด็กให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ คิด วิเคราะห์ทั้งด้านวิชาการ และลงมือปฏิบัติผ่านพัฒนาศักยภาพของเด็กแต่ละช่วงวัย “โรงเรียนจิตรลดา” อีกหนึ่งโรงเรียนที่เล็งเห็นความสำคัญในการจัดการเรียนการสอน เน้นการเสริมสร้างการเรียนรู้ พัฒนาเด็กไทยให้รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีวินัย ใฝ่ความรู้ คู่คุณธรรม นอกจากนั้นยังมุ่งส่งเสริม สนับสนุนให้นักเรียนมีความพร้อมทั้งด้านวิชาการ วิทยาศาสตร์ และกีฬา
ท่านผู้หญิงอังกาบ บุณยัษฐิติ ผู้จัดการและผู้อำนวยการโรงเรียนจิตรลดา กล่าวว่า โรงเรียนปรับรูปแบบการเรียนการสอน โดยช่วงเช้าเรียนทฤษฎี เนื้อหา ส่วนตอนบ่ายเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ เพราะให้เด็กเรียนในห้องเรียน หรือทฤษฎีอย่างเดียวทำให้พวกเขาเบื่อ ไม่มีความสุขในการเรียน ซึ่งเด็กทุกคนมีความรู้ ความสามารถในตนเอง การเรียนผ่านกิจกรรม การเล่น ทำให้พวกเขาได้ใช้ศักยภาพ ความรู้ความสามารถของตนเองได้เต็มที่ เมื่อทาง มูลนิธิ PHAENOMENTA ประเทศเยอรมนี มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด และพันธมิตรได้จัดศูนย์วิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ Mini PHAENOMENTA ส่งเสริมให้เด็กสนใจ เข้าใจหลักการ แก้ไขวิทยาศาสตร์ หลังติดตั้งสถานีวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการไว้ในโรงเรียน ทำให้เด็ก ครูเกิดความสนใจ และผู้ปกครองเข้ามาช่วยสานต่อพัฒนาเด็กร่วมกัน
สถานีวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการตั้งไว้บริเวณพื้นที่โล่ง กว้าง เสมือนสนามเด็กเล่นด้านวิทยาศาสตร์ ทำให้เด็กเกิดความสนใจเรียนรู้ สังเกต คิด วิเคราะห์ หาองค์ความรู้ด้วยตนเอง สอดคล้องกับการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนจิตรลดา ที่มีวิธีการสอนเหมาะกับเด็ก ฝึกเด็กตอบโจทย์ แก้ปัญหา โดยครูทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำแนะนำแก่เด็ก และเรียนรู้ไปกับเด็ก
นางรัตนา วิชญาณรัตน์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนจิตรลดา เล่าเสริมว่า การเรียนวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนจิตรลดา จึงเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ตลอดเวลา ศึกษาจากธรรมชาติ ดูชีวิตพืช สัตว์ และมีห้องแล็บ ห้องเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ กระตุ้นให้เด็กๆ เกิดความใฝ่รู้เรื่องวิทยาศาสตร์ นอกจากนั้น มีกิจกรรมประกวดโครงงาน ให้รางวัล ส่งเสริมการเข้าแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ หรือโครงการรางวัลบัณณาสสมโภช ซึ่งโรงเรียนได้รับรางวัลมาตลอด
"ศูนย์วิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ Mini PHAENOMENTA ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างสนุกสนาน มีความสุข และเกิดความสงสัย เสาะแสวงหาคำตอบ ซึ่งแนวคิดนี้ทำให้เด็กได้ตีความตามความคิดของตัวเอง โดยมีครูให้คำแนะนำ ชี้แนะ จุดประกายการเรียนรู้ของครูและเด็กได้เป็นอย่างดี แนวคิดดังกล่าวยังดึงผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วม เด็กจะได้รู้สึกว่าแรงบันดาลใจได้จากพ่อแม่ เด็กพ่อแม่ตื่นตัว ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน จึงอยากให้มีศูนย์ดังกล่าวไปทุกโรงเรียน กระบวนการที่เกิดขึ้นจากการเล่น เป็นสิ่งที่มีคุณค่า ทำให้เด็กทำด้วยใจ แถมยังทำให้เกิดชุมชนแห่งการถกเถียงทางวิทยาศาสตร์ ระหว่างเด็กกับเด็ก เด็กกับครู และเด็กกับพ่อแม่ นายกฤษฎา อุตตโมทย์ คุณพ่อของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา กล่าวว่า จากการศึกษาแนวคิดศูนย์ดังกล่าว เป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงที่ทำให้เด็กเกิดการความสงสัย ตั้งคำถามในใจ และทดลองว่าทำได้อะไร ต้องหาคำตอบ เล่น แตกต่างจากการเรียนในอดีตที่ส่วนใหญ่เราเลือกโจทย์ และรู้ว่าคำตอบคืออะไร แต่ตอนนี้เราไม่รู้ว่าโจทย์คืออะไร คำตอบคืออะไร ต้องค้นคว้าด้วยตัวเอง
อีกทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้คิดงานร่วมกับเพื่อน รุ่นพี่ เกิดการสื่อสาร ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น ไปยังผู้อื่นได้ เป็นประสบการณ์กลุ่ม และสร้างสานสัมพันธ์ครอบครัว เพราะที่ผ่านมาพ่อแม่มีส่วนร่วมการเรียนของลูก เพียงการอ่าน ให้คำแนะนำ แต่ศูนย์นี้ทำให้เกิดการลงมือปฏิบัติ เรียนรู้ร่วมกัน อยากให้พ่อแม่ทุกคนแบ่งเวลาดูแลลูกทำกิจกรรมร่วมกับโรงเรียน เพื่อทำให้เข้าใจลูกและช่วยเสริมในส่วนที่ลูกต้องการ”
ด้าน น้องแพรวดาว ด.ญ.กัญญวรา จุลฤกษ์ และน้องสิฐ ด.ช.พิสิฐพล กุลกอบเกียรติ นักเรียนชั้น ม.3 ช่วยกัน เล่าว่า ทางโรงเรียนจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละช่วงวัย โดยปลูกฝังกระบวนการคิด วิเคราะห์ เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ อย่างการเรียนวิทยาศาสตร์ เปิดโอกาสให้นักเรียนทำกิจกรรมทั้งในและนอกห้องเรียน มีโครงงานวิทยาศาสตร์ การประกวดต่างๆ
โดยครูคอยให้คำแนะนำ นักเรียนถกเถียงแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกัน การที่มีศูนย์วิทยาศาสตร์ปฏิบัติจัดตั้งที่โรงเรียน ช่วยเติมเต็มการเรียนวิทยาศาสตร์ให้สนุก ตื่นเต้นมากขึ้น เพราะอุปกรณ์ต่างๆ ไม่บอกวิธีการเล่น ก่อเกิดความสงสัย อยากรู้ว่าเล่น ทำอย่างไรให้ได้คำตอบ เกิดการทดลอง กระตุ้นอยากเรียน ชอบวิทยาศาสตร์มากขึ้น
“โรงเรียนจิตรลดา” เปิดการเรียนการสอนมาตั้งแต่ปี 2498 ปัจจุบัน มีนักเรียนประมาณ 2,000 กว่าคน ทั้งสายสามัญ และสายวิชาชีพดูรายละเอียดเพิ่มเติม http://164.115.24.163/index1.php หรือ โทร.0-280-4830-1
วันอังคารที่ 5 มกราคม 2559
ขอบคุณแหล่งข้อมูล: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
คำสำคัญ: , คมชัดลึก
No comments:
Post a Comment