หลากมิติเวทีทัศน์ : วันรวมญาติชาวเล เพื่อศักดิ์ศรีที่ทัดเทียม : โดย...สุวัฒน์ คงแป้น
บริเวณชายฝั่งและตามเกาะต่างๆ ในทะเลอันดามัน มีชนเผ่าชาวเล ทั้งอุรักลาโว้ย มอแกน มอแกลน อพยพมาจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย เข้ามาอาศัยอยู่กว่า 300 ปีมาแล้ว โดยประกอบอาชีพประมงและปลูกพืชเพื่อยังชีพ ไม่มีการแสดงกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยใดๆ ทั้งสิ้น แต่ก็เป็นชนเผ่าที่มีวิถีวัฒนธรรมความเชื่อ มีพื้นที่ทางจิตวิญญาณและประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง
ปัจจุบันมีชาวเลตั้งรกรากที่มั่นคง เช่น ชาวเลแหลมตรง (เกาะพีพี) กระบี่ เกาะหลีเป๊ะและหมู่เกาะอาดัง จ.สตูล ชาวเลแหลมตุ๊กแกและราไวย์ จ.ภูเก็ต ชาวเลหมู่เกาะสุรินทร์ บ้านทุ่งหว้า และบริเวณชายฝั่ง จ.พังงา ฯลฯ รวม 5 จังหวัด จำนวน 41 ชุมชน ประมาณ 13,000 คน ซึ่งล้วนยังคงรักษาเอกลักษณ์ความเป็นอยู่ของตนเองได้อย่างเหนียวแน่น โดยเกือบทั้งหมดมีสิทธิความเป็นคนไทย มีบัตรประจำตัวประชาชนและล้วนได้รับพระราชทานนามสกุลจากสมเด็จย่า
ปัญหาที่สำคัญของชาวเล มีหลายประการด้วยกัน 1.ปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย ทั้งๆ ที่อยู่อาศัยมายาวนาน มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 25 ชุมชนที่ไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดิน ทั้งที่ดินรัฐและที่ดินเอกชนอ้างสิทธิ์ 2.ปัญหาสุสานและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อประกอบพิธีกรรมถูกรุกราน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่บริเวณชายหาดริมทะเล จากการสำรวจพบว่ากำลังมีปัญหาถึง 15 แห่ง 3.ปัญหาที่ทำกินในทะเล แต่เดิมชาวเล หากินตามเกาะแก่งและหน้าหาด แต่ปัจจุบันมีการห้ามชาวเลไม่ให้เข้าไปหากินในที่ทำกินดั้งเดิม
4.ปัญหาสุขภาพ มาจากหลายประการ เช่น ต้องดำน้ำลึกขึ้นทำให้หลายคนต้องพิการ การเข้าไม่ถึงสิทธิในการรักษาพยาบาล ความยากจน ฯลฯ 5.การศึกษาเด็กเยาวชน ชาวเลได้รับโอกาสในการศึกษาน้อยและหลักสูตรไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตวัฒนธรรม 6.สูญเสียความภาคภูมิใจในภาษาและวัฒนธรรม เพราะขาดการส่งเสริมที่ดี 7.การไร้สถานะบุคคล มีชาวเลกว่า 500 คน ที่เป็นผู้ไร้สถานะ ไร้สิทธิพื้นฐาน 8.ชาวเลเผชิญกับอคติชาติพันธุ์ของคนในสังคม ทำให้การแก้ปัญหาต่างๆ เป็นไปอย่างล่าช้า
โดยภาพรวม ปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่มาจากการพัฒนาที่ไม่สมดุล โดยเฉพาะการส่งเสริมการท่องเที่ยว การประกาศเขตอนุรักษ์ของรัฐ และอคติชาติพันธุ์ ส่งผลให้เบียดขับวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชาวเล เช่น ความต้องการใช้ที่ดินและทะเลเพื่อการท่องเที่ยว ทำให้ชาวเลถูกขับออกจากพื้นที่ด้วยวิธีการต่างๆ โดยเฉพาะในหลายพื้นที่ใช้วิธีการที่รุนแรง ข่มขู่คุกคาม ฟ้องขับไล่ การประกาศเขตหวงห้ามของรัฐที่มีมาทีหลัง ทำให้ชาวเลไม่มีสิทธิเข้าไปหากินในที่ทำกินดั้งเดิมที่เคยหากินมาตั้งแต่บรรพบุรุษ การไม่มีความรู้ทางกฎหมายและปัญหาอคติชาติพันธุ์ของสังคมทำให้ไม่มีความสนใจในการแก้ปัญหาชาวเล ส่งผลให้คุณภาพชีวิตชาวเลตกต่ำ ประกอบกับชาวเลเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่รักสงบ มีวิถีหาอยู่หากินกับธรรมชาติ ไม่สะสม ขาดความรู้เรื่องกฎหมายมักถูกหลอกถูกเอาเปรียบ จึงเป็นกลุ่มเปราะบางที่สังคมควรปกป้องเพื่อรักษาความหลากหลายทางวัฒนธรรม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล และมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนไปปฏิบัติ ประกอบด้วย การสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย การประกอบอาชีพประมง การช่วยเหลือด้านสาธารณสุข การแก้ปัญหาสัญชาติ การส่งเสริมด้านการศึกษา ทุน หลักสูตรที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต การแก้ปัญหาอคติทางชาติพันธุ์ การส่งเสริมด้านภาษาและวัฒนธรรมของชาวเล การส่งเสริมชุมชนและเครือข่ายชาวเลให้เข้มแข็ง รวมทั้งให้มีงบประมาณส่งเสริม วันนัดพบวัฒนธรรมชาวเล
ตลอดระยะ 5 ปีที่ผ่านไป การแก้ปัญหาต่างๆ ยังไม่บรรลุผล อันเนื่องจากปัญหาเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน จึงต้องใช้ความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรท้องถิ่น จังหวัด นักวิชาการ และชุมชนชาวเล ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันได้ตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาที่ดิน ที่ทำกินและพื้นที่ทางจิตวิญญาณชุมชนชาวเลขึ้นมา โดยมี พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง เป็นประธาน โดยมีนักวิชาการ และตัวแทนชาวเลเป็นกรรมการ
ในการดำเนินงานของคณะกรรมการจะเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ใช้ข้อมูลและข้อเท็จจริงเป็นปัจจัยสำคัญ จึงได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาสืบหาข้อมูลข้อเท็จจริงเป็นรายพื้นที่หลายคณะด้วยกัน โดยมีแนวทางการทำงานในแต่ละเรื่องที่ชัดเจนดังนี้
1.การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นกรณีเกาะหลีเป๊ะ ชาวเลแหลมตุ๊ก ชาวเลราไวย์ แหลมตง (เกาะพีพี) ซึ่งแต่ละแห่งล้วนมีความสลับซับซ้อนทางด้านข้อมูลด้วยปัญหาสะสมมาเป็นเวลานานและถูกละเลยไม่ได้รับการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง แต่ละฝ่ายก็มีข้อมูลคนละชุดและต่างก็ยึดถือข้อมูลของตนเองเป็นหลัก ดังนั้นภารกิจของคณะกรรมการชุดนี้คือ ให้แต่ละส่วนจัดทำข้อมูลของตนเองขึ้นมา ทั้งการตั้งถิ่นฐาน ข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศ เอกสารทางราชการ ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ หลักฐานทางจิตวิญญาณ ต้นไม้ สิ่งก่อสร้าง ฯลฯ แม้แต่ชาวบ้านเองก็ต้องจัดทำข้อมูลเหล่านี้ด้วยเช่นกัน โดยมีมูลนิธิชนไทและสถาบันวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคอยสนับสนุน แล้วจัดส่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นผู้ประมวลให้เสร็จโดยเร็ว ซึ่งข้อมูลที่ดีเอสไอประมวลจะถือเป็นเอกสารสำคัญในการตัดสินใจดำเนินงานต่อไป
2.การแก้ปัญหาการประกอบอาชีพของชุมชนชาวเล ซึ่งหลักๆ ก็คือทางการประกาศเขตอุทยานทับที่ชาวเล และห้ามชาวเลจับสัตว์น้ำในท้องทะเลบริเวณอุทยาน ทั้งๆ ที่พื้นที่เหล่านี้ชาวเลหากินกันมานับร้อยปี การแก้ปัญหานี้ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณา โดยมีแนวทางในการผ่อนปรนให้ชาวเลหากินในเขตอุทยานได้ แต่กำหนดเครื่องมือที่เป็นวิถีดั้งเดิมของชาวเล ตลอดจนกำหนดปริมาณและช่วงเวลาของการจับสัตว์น้ำไว้ด้วย
3.ประการสุดท้ายก็คือ พื้นที่ทางจิตวิญญาณหรือที่ฝังศพ ซึ่งชาวเลจะอาศัยป่าเป็นที่ขุดหลุมฝังศพผู้เสียชีวิตมาหลายชั่วอายุคน แต่ปัจจุบันที่ดินมีราคาสูง ประมาณการว่าพื้นที่ฝังศพทุกแห่งรวมกันมีมูลค่านับพันล้าน ล้วนตั้งอยู่ใกล้ทะเล มีความสวยงามตามธรรมชาติ จึงเป็นที่หมายปองของนักลงทุนทั้งหลาย ไม่ต่างอะไรจากที่อยู่อาศัย ดังนั้นพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชาวเลเกือบทุกแห่ง จึงกลายเป็นที่หมายปองของนายทุน จนทำให้ชาวเลหลายแห่งไม่มีแม้ที่จะฝังศพ ดังนั้นคณะกรรมการจึงได้มีการสำรวจพื้นที่ทางจิตวิญญาณอย่างละเอียด เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา
นี่คือปัญหาหลักๆ ที่ยังแก้ไม่เสร็จสิ้น และแม้ว่าปัญหาจะรุมเร้าสักเพียงไร การรวมตัวของชาวเลก็ยังเกิดขึ้นต่อไป โดยชาวเลจะมีการนัดหมายกันทุกปี มารวมตัวกันในงาน “รวมญาติชาวเล” โดยในปีนี้จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 13-14 พฤศจิกายน 2558 ณ อ.เกาะลันตาใหญ่ จ.กระบี่ เพื่อเชื่อมโยงพี่น้อง สร้างความมั่นใจในการต่อสู้กับปัญหาร่วมกันและสร้างความภูมิใจในเผ่าพันธุ์ของตนเอง
---------------------
(หลากมิติเวทีทัศน์ : วันรวมญาติชาวเล เพื่อศักดิ์ศรีที่ทัดเทียม : โดย...สุวัฒน์ คงแป้น)
วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน 2558
ขอบคุณแหล่งข้อมูล: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
คำสำคัญ: , คมชัดลึก
No comments:
Post a Comment