ตรวจแนวรับเมอร์สห้องแยกโรค89รพ.พร้อม : ชุลีพร อร่ามเนตร รายงาน
อุบัติการณ์ของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือ เมอร์ส กำลังคุกคามสุขภาวะของคนในเกาหลีใต้อย่างหนัก จนทุกวันนี้ผู้คนที่นั่นต้องตกอยู่ในสภาวะกดดันและหวาดวิตกต่อการใช้ชีวิตนอกบ้าน ขณะที่มีรายงานล่าสุดว่ามีคนตายจากโรคนี้แล้วอย่างน้อย 20 คน และมีผู้ที่อยู่ในข่ายต้องถูกควบคุมโรคอีกราว 1,000 คน ที่แย่ไปกว่านั้น การแพร่ระบาดของ เมอร์ส ในเกาหลีใต้ ส่วนใหญ่พบว่าอยู่ในโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยถูกส่งไปรักษา โดยไม่มีมาตรการควบคุมหรือกักกันโรคที่ดีพอ
บทเรียนอันน่าสะพรึงกลัวในเกาหลีใต้ ได้ส่งสัญญาณเตือนไปยังทั่วโลกให้เพิ่มมาตรการเฝ้าระวัง เพื่อสกัดโรคร้ายไม่ให้เล็ดรอดเข้าประเทศได้
สำหรับประเทศไทย มาตรการเฝ้าระวังเมอร์ส ถือว่ามีความตื่นตัวในระดับที่น่าพอใจ โดยเฉพาะในส่วนการรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข นอกจากประกาศให้ เมอร์ส เป็นโรคร้ายแรงที่ต้องควบคุมใกล้ชิดแล้ว
ล่าสุด ยังเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังเข้มข้นขึ้นในส่วนของสถานพยาบาล โดยการเตรียมความพร้อมของ ห้องแยกโรคสำหรับผู้ป่วยที่แพร่กระจายเชื้อ หรือห้องแยกโรคความดันลบ (Negative pressure) เป็นห้องที่ต้องการควบคุมความดันให้น้อยกว่าความดันบรรยากาศ เพื่อควบคุมการแพร่กระจายกลิ่น และเชื้อโรค ในโรงพยาบาลรัฐและเอกชนทั่วประเทศรวม 89 แห่ง ซึ่งห้องแยกโรคเหล่านี้เป็นห้องเดิมที่จัดเตรียมไว้ตั้งแต่มีการระบาดของโรคไข้หวัดนก เรื่อยมาจนถึงไข้หวัดใหญ่ 2009 และโรคอีโบลา
โรงพยาบาลราชวิถี เป็น 1 ในโรงพยาบาล 20 แห่งของกรุงเทพฯ ที่มีการเตรียมพร้อมในการเฝ้าระวังการแพร่กระจายเชื้อ โดยมีจุดคัดกรองผู้ป่วยที่มีอาการต้องสงสัย หากผู้ป่วยคนใดมีประวัติเดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาดของโรคภายใน 14 วัน จะถูกส่งต่อไปยังห้องตรวจโรคติดต่อทางเดินหายใจ ซึ่งมีแพทย์ชำนาญการคอยดูแล สอบถามอาการ และหากพบว่ามีความเสี่ยง จะถูกส่งต่อไปยังห้องตรวจแยกโรคเป็นการเฉพาะ และห้องแยกโรคความดันลบ
สำหรับห้องแยกโรคความดันลบของโรงพยาบาลราชวิถีมีทั้งหมด 4 ห้อง ซึ่งในจำนวนนี้เตรียมการไว้รองรับผู้ป่วยเมอร์ส 2 ห้อง รวมถึงยังมีห้องแล็บ สำหรับตรวจเชื้ออีก 1 ห้อง โดยภายในห้องแล็บจะมีตู้ Biological Safety Cabinet หรือที่เรียกกันว่า "ตู้ไบโอฮาซาร์ด" ช่วยป้องกันผู้ปฏิบัติงาน ผลิตภัณฑ์และสิ่งแวดล้อมให้ปลอดจากการติดเชื้อ โดยภายในห้องดังกล่าว จะมีแพทย์ พยาบาลชำนาญการ ดูแลจำนวน 13 คน และมีผู้ช่วยพยาบาลอีก 5 คน ซึ่งทุกคนจะต้องสวมใส่ชุดป้องกันเชื้อ
“ถ้าผู้ป่วยมีอาการไข้ ไอ ขอให้มาพบแพทย์ ซึ่งที่โรงพยาบาลจะมีจุดคัดกรองผู้ป่วย มีห้องตรวจโรคติดต่อทางเดินหายใจ ก่อนจะส่งไปยังห้องตรวจแยกโรคเป็นการเฉพาะ และห้องแยกโรคความดันลบ ซึ่งเป็นการป้องกันเชื้อโรคไม่ให้กระจายสู่อากาศข้างนอก หากผู้ป่วยมีอาการเสี่ยงก็จะอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้จะมีการเก็บตัวอย่างเชื้อจากคอผู้ป่วยส่งตรวจทางห้องปฏิบัติด้วย หากผลเป็นลบแสดงว่าไม่ได้ติดเชื้อเมอร์ส โควี ซึ่งที่ผ่านมายังไม่พบผู้ป่วยโรคเมอร์สในประเทศไทย ขอให้มั่นใจได้ว่าห้องแยกโรค ห้องตรวจต่างๆ ของโรงพยาบาลราชวิถี ได้รับมาตรฐานไม่มีกรณีมาติดเชื้อที่โรงพยาบาลอย่างแน่นอน" นพ.อุดม เชาวรินทร์ ผอ.รพ.ราชวิถี อธิบายขั้นตอนการเฝ้าระวังโรคที่ค่อนข้างรัดกุมและปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์
นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข ระบุว่า หากเมอร์สแพร่กระจายเข้ามาในไทย จะส่งผลกระทบต่อความมั่งคงของชาติ โดยเฉพาะด้านสังคม และเศรษฐกิจ จึงต้องติดตามเฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิด
นพ.รัชตะ อธิบายว่า กระทรวงได้ขอความร่วมมือโรงพยาบาลรัฐและเอกชนในการตรวจรักษาและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล ตามแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัยดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล ที่คณะทำงานด้านการรักษาพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข และคณะแพทย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ร่วมกันจัดทำขึ้น
"เรามีมาตรการเฝ้าระวังโดยเน้นการคัดกรองซักประวัติผู้ป่วยที่มีไข้ ร่วมกับอาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ หากพบว่ารายใดมีความเสี่ยงจะจัดห้องตรวจผู้ป่วยแยกจากผู้ป่วยอื่นๆ ซึ่งภายในห้องมีอุปกรณ์มาตรฐานการป้องกันโรคแก่บุคลากร เช่น หน้ากากอนามัย เสื้อกาวน์ แว่นตา ถุงมือด้วย”
นพ.รัชตะ ยืนยันว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึง 15 มิถุนายน ไทยยังไม่พบผู้ป่วยโรคนี้ ขณะที่มีผู้ที่เข้าข่ายเฝ้าระวังโรคทั้งสิ้น 32 ราย ซึ่งผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการยังไม่พบการติดเชื้อโรคเมอร์ส ขณะที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ความสำคัญดูแลเรื่องนี้เป็นอย่างดี โดยนอกจากห้องปฏิบัติการควบคุมโรคทั้งหมด 14 แห่ง และพร้อมให้การวินิจฉัยภายใน 8 ชั่วโมงแล้ว โรงพยาบาลต่างๆ ยังมีห้องแยกโรคสำหรับผู้ป่วยที่แพร่กระจายเชื้อทางอากาศตามมาตรฐานในโรงพยาบาลทุกสังกัด 89 แห่ง อยู่ในเขตกรุงเทพฯ 20 แห่ง และภูมิภาคอีก 69 แห่ง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า เมอร์ส ยังไม่เข้ามาถึงบ้านเรา แต่ประชาชนทุกคนยังต้องร่วมมือดูแลสุขลักษณะของตนเอง กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ หากเดินทางกลับจากต่างประเทศแล้ว มีอาการไข้ ไอ ควรเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทันทีและแจ้งประวัติการเดินทางด้วย หรือหากใครมีข้อสงสัยสามารถโทรศัพท์สอบถามกรมควบคุมโรคได้ที่ โทร.1422 ตลอด 24 ชั่วโมง
วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน 2558
ขอบคุณแหล่งข้อมูล: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
คำสำคัญ: , คมชัดลึก
No comments:
Post a Comment