Saturday, May 23, 2015

สร้างบ้านที่ได้มากกว่าบ้าน ที่ปากนคร

รักชีวิต รักษ์สิ่งแวดล้อม : เมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน สร้างบ้านที่ได้มากกว่าบ้าน ที่ปากนคร : โดย...สุวัฒน์ คงแป้น

นับตั้งแต่รัฐบาลมีนโยบายแก้ปัญหาความไม่มั่นคงในการอยู่อาศัยคนจนในเมือง หรือ “บ้านมั่นคง” เมื่อ พ.ศ.2546 โดยให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เป็นผู้ร่วมรับผิดชอบและให้คนจนเป็นเจ้าของโครงการและมีส่วนสำคัญในการพัฒนาที่อยู่อาศัย สาธารณูปโภค สิ่งแวดล้อม และระบบต่างๆ ทางสังคม เพื่อให้ระบบต่างๆ ในชุมชน สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง โดยมีหน่วยงานในท้องถิ่นเป็นผู้สนับสนุน

บ้านมั่นคงเริ่มดำเนินงานโดยการทำเป็นโครงการนำร่อง 10 ชุมชน แล้วขยายผลไปทั่วประเทศ แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการให้ครอบคลุมคนจนเมืองทั้งประเทศไทย เนื่องจากการทำงานตามโครงการบ้านมั่นคงให้ความสำคัญกับความพร้อมของชุมชนในอันที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างบ้านและระบบต่างๆ โดยชาวชุมชนเอง ให้รู้สึกรักและหวงแหนบ้านและชุมชนที่ตนทำมากับมือ ซึ่งสิ่งนี้คือเส้นทางสู่ความมั่นคงอย่างแท้จริงของชุมชน

จนถึงปัจจุบันเกิดบ้านมั่นคงแล้ว 930 โครงการ ประมาณ 97,000 ครอบครัว ใน 330 เมือง 72 จังหวัด แต่คุณค่าที่คนจนในเมืองได้มากกว่าบ้านมีอย่างมากมายเช่น การจัดระบบสิ่งแวดล้อมชุมชน กองทุนชุมชน ระบบการดูแลทางสังคม ความตระหนักของชุมชนในการร่วมกันพัฒนาเมือง สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากความเข้มแข็งของชุมชน ซึ่งไม่อาจประมาณเป็นมูลค่าได้

ตั้งแต่ พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา ได้มีความพยายามของเครือข่ายชาวบ้านที่จะร่วมกันแก้ปัญหากันทั้งเมือง แทนที่จะทำทีละชุมชน ทั้งนี้เพราะเมืองในปัจจุบันมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และเมืองเกิดใหม่ที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก ปัญหาต่างๆ ก็ยังไม่สลับซับซ้อนจนเกินไป

ความพยายามในการร่วมกันแก้ปัญหากันทั้งเมือง เริ่มต้นจากการที่พี่น้องในเมืองนั้นๆ ร่วมกันสำรวจข้อมูลเมืองในทุกมิติ ทั้งบ้าน ที่ดิน สิ่งแวดล้อม ต้นทุนด้านต่างๆ ของชุมชน แล้วนำไปสู่การวางแผนพัฒนาเมืองร่วมกัน โดยความร่วมมือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาล) ซึ่งเทศบาลตำบลปากนคร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ดำเนินงานจนประสบผลสำเร็จ เป็นกรณีศึกษาให้แก่เมืองอื่นๆ

เทศบาลตำบลปากนคร ประกอบด้วย 13 ชุมชน เนื้อที่ประมาณ 1,200 ไร่ ตั้งอยู่บนปากน้ำนคร เป็นเมืองท่ามาตั้งแต่โบราณ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าตากสินใช้เดินทัพเรือมาตีเมืองนครในอดีต อีกทั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสเข้าทางคลองปากนคร ซึ่งประวัติศาสตร์เหล่านี้ยืนยันได้ชัดเจนว่า ปากนคร เป็นชุมชนมาช้านานและมีความสำคัญยิ่งทางประวัติศาสตร์

ปากนคร ยกฐานะเป็นเทศบาลตำบล ใน พ.ศ.2542 ต่อมาเมืองมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากอยู่ใกล้กับตัวจังหวัดนครศรีธรรมราชเพียง 9 กิโลเมตร โดยในระบบการทำงานนั้นเครือข่ายชุมชนได้ประสานงานกับเทศบาล และมีความเห็นตรงกันที่จะร่วมกันแก้ปัญหากันทั้งเมืองตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา จึงขยับไปสู่การสร้างความเข้าใจในการทำงานกับแกนนำทั้ง 13 ชุมชน จากนั้นก็แบ่งทีมลงสำรวจข้อมูลของชุมชนในทุกด้าน นำข้อมูลมาสรุปร่วมกันทำให้แกนนำและชาวบ้านทั้ง 13 ชุมชน รับรู้ข้อมูล มองเห็นและตระหนักในปัญหาเท่าๆ กัน

มีการสำรวจพบว่าเรื่องที่ดินเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด มีประชาชนทั้งหมด 1,240 หลังคาเรือน 1,163 ครอบครัว มีเพียง 303 รายเท่านั้นที่ที่ดินมีเอกสารสิทธิ ที่เหลืออาศัยอยู่บนที่ดินป่าชายเลน กรมเจ้าท่า ป่าสงวนและที่ดินวัด อาศัยหนาแน่นกระจุกตัวอยู่ตามแนวคลองหลักและคลองย่อยต่างๆ บ้านมีสภาพทรุดโทรมอยู่กันอย่างแออัด และมีครอบครัวขยายจำนวนมาก ประมาณร้อยละ 26 ของครอบครัวทั้งหมด ไม่มีถนน ไม่มีท่อระบายน้ำ ไฟฟ้าส่องสว่างส่วนกลางไม่มีเพียงพอ มีปัญหาเรื่องคลื่นและน้ำกัดเซาะ ตามมาด้วยปัญหาขยะและน้ำท่วมขัง

จากการประชุมพูดคุยกันหลายครั้ง จนนำไปสู่การแก้ปัญหาในแต่ละด้าน ซึ่งในด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยนั้น ประชาชน 1,227 ครอบครัว ต้องการปรับปรุงอยู่ในที่ดินเดิม และครอบครัวขยายจำนวน 102 ครอบครัว ประสงค์จะสร้างบ้านในที่ดินใหม่

ในการดำเนินงานให้บรรลุของทั้ง 2 กลุ่มเป้าหมายข้างต้นได้มีการตั้งคณะทำงานบ้านมั่นคงเมืองปากน้ำนคร ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากชุมชน ชุมชนละ 2 คน และมีแกนนำชาวบ้านระดับจังหวัด ตัวแทน พอช. ตัวแทนเทศบาล ร่วมเป็นคณะทำงาน และยังมีคณะกรรมการบ้านมั่นคงระดับชุมชนทั้ง 13 ชุมชน ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนชุมชน ชุมชนละ 10 คน

ประเภทที่ต้องการพัฒนาอยู่ในที่ดินเดิมทั้ง 13 ชุมชน คณะกรรมการชุมชนของแต่ละแห่งได้ร่วมกันทำงานตั้งแต่การร่วมกันปรับผังชุมชน ผังบ้าน ร่วมกับสถาปนิกชุมชนจาก พอช. บางคนอาจต้องเสียสละขยับบ้านบ้างเพื่อให้มีพื้นที่ว่างในการทำทางเดินเท้าขนาดกว้าง 2 เมตร หรือให้มีพื้นที่กลางที่ทุกคนจะใช้ประโยชน์ร่วมกันเช่น มีศาลาชุมชน สนามเด็กเล่น พื้นที่ปลูกต้นไม้ ฯลฯ ตลอดจนการจัดระบบสาธารณูปโภคอื่นๆ เช่น ระบบไฟฟ้า ถังน้ำประปาและระบบน้ำประปา ท่าเรือรวม กระทั่งพื้นที่อันเกี่ยวเนื่องกับการประกอบอาชีพ ซึ่งในการดำเนินงานดังกล่าว ได้รับงบประมาณสนับสนุนแบบให้เปล่าจาก พอช. รวมทั้ง 13 ชุมชน 1,227 หลังคาเรือน จำนวน 69.3 ล้านบาท

ส่วนประเภทครอบครัวขยาย 102 ครอบครัวที่ต้องย้ายไปซื้อที่เพื่อสร้างชุมชนใหม่ ก็มีกระบวนการทำงานตั้งแต่การร่วมกันออมทรัพย์ ร่วมกันหาซื้อที่ดินซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่ทำงานและไม่แพงจนเกินไป การร่วมกันออกแบบผังชุมชน ผังบ้านให้สอดคล้องกับอาชีพและการอยู่อาศัย และที่สำคัญต้องร่วมกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์เคหสถาน เพื่อใช้สินเชื่อจาก พอช. ทั้งซื้อที่ดินและสร้างบ้าน ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 (ไม่รวมเงินให้เปล่าด้านสาธารณูปโภคเช่นเดียวกับประเภทแรก)

จุดน่าสนใจของการพัฒนาความมั่นคงในการอยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคง ไม่ได้อยู่ที่จะสร้างบ้านแบบไหนด้วยวัสดุอะไรเท่านั้น แต่เป็นการทำให้คนทั้งชุมชนเข้าใจและตระหนักถึงส่วนรวม ต้องเสียสละที่ดินบ้างเพื่อให้ชุมชนดีขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องยากยิ่ง และที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ การทำให้ทุกคนตระหนักถึงการพัฒนาตนเองและพร้อมจะเข้าไปพัฒนาชุมชนร่วมกันในทุกระบบ ทั้งที่ดิน บ้าน สิ่งแวดล้อม กองทุนชุมชนและระบบการดูแลซึ่งกันและกันของชุมชน

การพัฒนาเช่นนี้เป็นการสร้างบ้านที่ได้มากกว่าบ้าน และสร้างเมืองที่นำไปสู่เมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน ทั้งด้านกายภาพและด้านสังคม

-----------------------

(รักชีวิต รักษ์สิ่งแวดล้อม : เมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน สร้างบ้านที่ได้มากกว่าบ้าน ที่ปากนคร : โดย...สุวัฒน์ คงแป้น)

วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม 2558

ขอบคุณแหล่งข้อมูล: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

คำสำคัญ: , คมชัดลึก

No comments:

Post a Comment