ม.สยามสานฝันสู่อาเซียน"ดรีม ออฟ อาเซียน" : ชนาธิป สุกใส อาจารย์ประจำศูนย์ประชาคมอาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยสยาม
มหาวิทยาลัยสยามเป็นเจ้าภาพจัดงาน Siam-ASEAN Institute International Workshop 2015 ในระหว่างวันที่ 17-25 มกราคม 2558 โดยมีนักศึกษาจาก 10 ประเทศอาเซียน รวมทั้งนักศึกษาจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย รวมทั้งสิ้น 38 คน จาก 14 ประเทศ
การจัดการสัมมนาครั้งนี้เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันอุดมศึกษาไทยและอาเซียนให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น กระชับความสัมพันธ์ภาคประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับสถาบันอุดมศึกษา ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่หลากหลาย ร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับ "พลเมืองอาเซียน" (ASEAN Citizenship) "อนาคตเยาวชนอาเซียน" (Future of ASEAN Youth) อาทิ ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน (ราชบัณฑิต และที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม) สุกิจ อุทินทุ (รองประธานกรรมการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ) บริษัท ไมเนอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมและศึกษาดูงานในสถานที่สำคัญต่างๆ เช่น หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พิพิธภัณฑ์มิวเซียมสยาม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย ท่าเรือแหลมฉบัง รวมทั้งศูนย์ไฟแนนเชียล แล็บ และศูนย์ศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยสยาม
โจทย์สำคัญสำหรับนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้คือ การจับกลุ่มระดมสมองเพื่อหาแนวทางและกำหนดท่าทีร่วมกันเกี่ยวกับอนาคตของอาเซียนใน 7 ประเด็นต่อไปนี้ ด้านการศึกษา ควรมุ่งเน้นโครงการนักศึกษาภายในประเทศสมาชิกอาเซียนให้มากขึ้น พร้อมสร้างมาตรฐานการศึกษาร่วมกัน เนื่องจากปัจจุบันคุณภาพของการศึกษาของประเทศสมาชิกอาเซียนมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก
การเคลื่อนย้ายแรงงานและการเชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียน เร่งรัดการดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงสายอาเซียน และทางรถไฟคุนหมิง-สิงคโปร์ ให้แล้วเสร็จตามที่ปรากฏในแผนแม่บทความเชื่อมโยงอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity)
เศรษฐกิจ ลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างอาเซียนให้มากขึ้น โดยสามารถดำเนินการผ่านโครงการการส่งเสริมการลงทุนและความร่วมมือเฉพาะกิจเพื่อการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิก กำจัดอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี อาทิ ข้อจำกัดด้านการถือหุ้น สิทธิประโยชน์ทางภาษี ตลอดจนการผสานนโยบายทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องร่วมกัน
ศิลปวัฒนธรรม แลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมในประเทศอาเซียนให้มากขึ้น ผ่านกิจกรรมในระดับเยาวชนและระดับอุดมศึกษา ตลอดจนใช้ประโยชน์จากสื่อออนไลน์ให้เป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้น
ประชาธิปไตย ส่งเสริมให้เยาวชนรุ่นใหม่มีความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และสนับสนุนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชนให้มากขึ้น
ความมั่นคงของมนุษย์ สร้างความเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐ สถาบันการศึกษา และเยาวชนให้มากขึ้น ผ่านมาตรการในด้านการรักษาความปลอดภัยในการดำรงชีวิตและการใช้ชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ความรุนแรงในเด็กและผู้หญิง ซึ่งประเด็นเหล่านี้ยังเป็นจุดอ่อนสำหรับหลายประเทศในอาเซียน
สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน สร้างความตระหนักรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้พลังงานเพื่อมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงสุด
มหาวิทยาลัยสยามหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผลสำเร็จจากการจัดกิจกรรมในครั้งนี้จะเป็นก้าวแรกไปสู่การจัดกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และจะสามารถต่อยอดนำไปสู่ความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการศึกษาในอาเซียนได้อย่างแท้จริงและเป็นรูปธรรมต่อไป
วันพุธที่ 25 มีนาคม 2558
ขอบคุณแหล่งข้อมูล: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
คำสำคัญ: , คมชัดลึก
No comments:
Post a Comment