เรียนหนักงานหนักไม่หวั่นจบช่างเชื่อมงาน-รายได้ดี : หทัยรัตน์ ดีประเสริฐรายงาน
"งานช่างเชื่อมเป็นที่ต้องการของตลาด แต่ไม่มีคนอยากเรียน เปิดรับ 40 คน มีคนมาสมัครเรียนแค่ 8 คน เพราะเป็นสาขาที่เรียนหนัก พอจบออกไปก็ต้องทำงานกลางแจ้ง บางคนมองว่า เรียนหนัก งานก็หนักตามไปด้วย ผู้ปกครองหลายคนก็ไม่นิยมส่งลูกเรียนสาขานี้ ทั้งๆ ที่จบออกไปมีงานทำและมีรายได้ดีอย่างแน่นอน เพราะเป็นสาขาขาดแคลน ที่สำคัญตลาดยังต้องการอีกมาก" ว่าที่ ร.อ.ไพฑูรย์ สร้อยสน ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือหนองคาย กล่าว ล่าสุดวิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือหนองคาย เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันทักษะวิชาช่างเชื่อม การแข่งขันทักษะวิชาการติดตั้งไฟฟ้าด้วยท่อร้อยสาย ในการประชุมวิชาการองค์การนักวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทย การแข่งขันทักษะวิชาชีพและทักษะวิชาพื้นฐาน ประจำปีการศึกษา 2557 ระดับชาติครั้งที่ 24 ระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ โดยมีนักศึกษาสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษากว่า 421 แห่งทั่วประเทศ เข้าแข่งขันที่ จ.หนองคาย โดยมี ดร.อกนิษฐ์ คลังแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธานเปิดงาน โดยงานนี้ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้เข้าเยี่ยมชมพบปะกับผู้เข้าแข่งขันทักษะวิชาช่างเชื่อม การแข่งขันทักษะวิชาการติดตั้งไฟฟ้าด้วยท่อร้อยสาย และการต่อเรือเหล็ก บริเวณเซลฟ์เวย์ ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือหนองคาย ด้วย ว่าที่ ร.อ.ไพฑูรย์ กล่าวว่า การเรียนการสอนที่วิทยาลัยแห่งนี้มีการเรียนการสอนการต่อเรือด้วย โดยใช้แบบบูรณาการหลายสาขาเข้าด้วยกัน ทั้งช่างยนต์ ช่างเชื่อม ช่างไฟฟ้า ให้สามารถทำงานเชื่อมโยงกันได้ เรียนแบบทฤษฎีควบคู่กับการปฏิบัติ นักเรียนทุกคนจะได้ลงมือทำงานจริง นำไปใช้ได้จริง อย่างนักเรียนที่เรียนวิชาการต่อเรือจะมีรายได้จากการทำงานนอกเวลาเรียนด้วย เพราะที่นี่รับจ้างต่อเรือท่องเที่ยวและเรือขุดทรายด้วย "ณรงค์ เกษตรภิบาล" ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา ประธานคณะกรรมการบริหารองค์การนักวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทย ระดับชาติ ให้ข้อมูลว่า ช่างเชื่อมเป็นสาขาที่ขาดแคลนมากที่สุด และเป็นสาขาที่รายได้ดีที่สุด แต่ไม่เป็นที่นิยมเรียน เพราะเรียนหนักและงานที่ทำเป็นงานสนามกลางแจ้ง ผู้ปกครองและเด็กนักเรียนส่วนใหญ่มองว่าเป็นงานที่หนักและเหนื่อย เป็นสาเหตุที่ทำให้สาขาช่างเชื่อมขาดตลาด "ทั่วประเทศมีข้อมูลตลาดมีความต้องการช่างเชื่อมถึง 3 แสนคน แต่กำลังผลิตทั่วประเทศมีเพียง 2 หมื่นคนเท่านั้น ยิ่งถ้าเปิดอาเซียนจะทำให้ขาดแคลนมากขึ้น เพราะการก่อสร้างและอุตสาหกรรมเกือบทุกชนิดล้วนต้องการช่างเชื่อม เนื่องจากสิ่งปลูกสร้างทุกวันนี้ใช้เหล็กเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่แค่ช่างเชื่อมที่ขาดแคลน ช่างก่อสร้าง ช่างไม้ก็ขาดแคลน เพราะนักเรียนนิยมเรียนช่างยนต์และช่างไฟฟ้ามากกว่า" ประธานคณะกรรมการบริหารองค์การนักวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทย ระดับชาติ กล่าว ทางออกของเรื่องนี้ "มานะ ธัญวาส" ที่ปรึกษาบริษัทหม้อน้ำแรงดันสูง หนึ่งในกรรมการตัดสินการแข่งขันทักษะวิชาช่างเชื่อม บอกว่า ภาคเอกชนจะต้องร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ทำความเข้าใจกับนักเรียนและผู้ปกครองถึงโอกาสความก้าวหน้าและรายได้ของผู้ที่เรียนช่างเชื่อม ที่สำคัญสถานศึกษาต้องร่วมกับภาคเอกชนทำหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และเปิดโอกาสให้นักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันต่างๆ หลากหลายเวทีเพื่อทักษะและประสบการณ์ให้แก่ผู้เรียน เมื่อสำเร็จการศึกษาออกไปก็พร้อมทำงานได้ทันที ขณะที่ "เต้ย" วิทยา รูปช้าง นักศึกษาปี 3 ช่างเชื่อมโลหะ วิทยาลัยเทคนิคปทุมธานี ซึ่ง "อ.สมสกุล วัชรจิตต์กุล" อาจารย์แผนกช่างเชื่อม พามาร่วมแข่งขัน และได้อันดับที่ 3 เล่าว่า ชอบช่างเชื่อม และเห็นตัวอย่างจากพ่อ ที่เป็นช่างเชื่อมอยู่แล้วมีรายได้ดี ยอมรับว่า เป็นการเรียนที่หนัก และทำงานก็คงหนักตามไปด้วย แต่ด้วยความชอบก็ไม่ใช่ปัญหาในการเรียนและการทำงาน ที่สำคัญคนที่เรียนจบช่างเชื่อมแล้วสามารถทำงานเป็นช่างเชื่อมก่อน เมื่อมีประสบการณ์ก็เรียนต่อเป็นอาจารย์ หรือพัฒนาไปเป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพช่างเชื่อมก็มีรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นได้ เช่นเดียวกับ "วรเมธ อินทวะระ" นักศึกษาปี 1 ช่างเชื่อมโลหะ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือหนองคาย ซึ่งรุ่นนี้มีเพียง 8 คน ทั้งๆ ที่เปิดรับถึง 40 คน ยืนยันว่าจะเรียนช่างเชื่อมจนจบโดยไม่ย้ายสาขา แม้จะเรียนหนักและร้อน แต่ในเมื่อเป็นสาขาที่ขาดแคลนก็เชื่อว่าจบแล้วจะมีงานทำอย่างแน่นอน สนใจเรียนช่างเชื่อมโลหะสอบถามได้ที่ ว่าที่ ร.อ.ไพฑูรย์ สร้อยสน ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือหนองคาย 08-6235-8811
วันอังคารที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558
ขอบคุณแหล่งข้อมูล: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
คำสำคัญ: , คมชัดลึก
No comments:
Post a Comment