Thursday, December 11, 2014

สปสช.ยันรพ.ขาดทุนไม่เกี่ยวงบบัตรทอง

สปสช.อัดสธ.ใส่ร้าย ยันรพ.ขาดทุนไม่เกี่ยวการจัดสรรงบบัตรทอง ระบุระบบเดิมมีกลไกแก้ปัญหา ปี 58 ใช้ 4 แนวทางเข้าช่วย ผอ.รพช.หนุนปรับจัดสรรงบบัตรทองใหม่

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม2557 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) พร้อมด้วย นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาฯสปสช. นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ รองเลขาฯสปสช. และนพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ รองเลขาฯสปสช. ร่วมกันแถลงข่าว เรื่อง “สปสช.ชี้แจงการบริหารกองทุนบัตรทอง” โดยนพ.วินัย กล่าวว่า สปสช.กูกกล่าวหาและใส่ร้ายมาหลายเวที โดยพยายามอดทัน จนเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ใส่ร้ายสปสช.ในหลายประเด็น ถ้าสปสช.ไม่ชี้แจงจะเท่ากับยอมรับการใส่ร้าย

ประเด็นที่ 1.ใส่ร้ายว่าสปสช.บริหารห่วย ไม่มีธรรมาภิบาล โดยเฉพาะในเรื่องที่สปสช.โอนเงินไปให้รพ.ในวันที่ 27 ก.ย. 2555แล้วโอนเงินจำนวนดังกล่าวกลับมาสปสช.ในเดือนธันวาคม ข้อเท็จจริง คือ รพ.ไม่เคยต้องถอนเงินแล้วส่งเงินให้สปสช. เป็นการโอนเงินล่วงหน้าไปให้รพ.ตามที่มีการประเมินค่าใช้จ่ายในส่วนของงบฯผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกในปีก่อนหน้า ถ้ารพ.ใช้ไม่หมดในปีก่อนหน้าปีต่อมาก็จะใช้วิธีการหักลบกลบหนี้ ซึ่งมีประมาณ 4,500 ล้านบาท ไม่ได้มีการสั่งให้มีการโอนเงินกลับ ข้อมูลนี้ปลัดอาจรู้น้อยหรือไม่เข้าใจ ไม่ใช่สปสช.ไม่มีธรรมาภิบาล

2.การที่ระบุว่าสปสช.มีการโอนเงินให้องค์กรอื่นที่ไม่ใช้หน่วยบริการเป็นการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์นั้น ในการจัดสรรงบส่วนนี้มีระเบียบรองรับและสามารถดำเนินการได้ 3.ใส่ร้ายว่าสปสช.บริหารกองทุนย่อยทำให้รพ.ขาดทุนและมีเงินค้างท่อ ขอแจงว่าการบริหารกองทุนย่อยคำนึถึงการเข้าถึงบริการของประชาชนเกี่ยวกับโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงต่างๆ 4.กล่าวหาว่าสปสช.ทำให้หอมอนามัยกลายเป็นหมอหน้าจอ คีย์ข้อมูลเพื่อสอยเงิน อยากชี้แจงว่าข้อมูลส่วนใหญ่ที่หมออนามัยต้องทำเป็น 43 แฟ้มตามที่สธ.กำหนด และไม่อยากให้ปลัดสธ.ส่งสัญญาณว่าข้อมูลไม่สำคัญ ทั้งที่ข้อมูลมีความสำคัญมาก เพราะฉะนั้นสธ.ต้องจัดทำระบบให้ทันสมัยให้ได้ข้อมูลเพื่อใช้ในการวิเคราะห์และวางแผน

นพ.วินัย กล่าวอีกว่า กรณีที่รพ.ขาดสภาพคล่องทางการเงินหรือขาดทุนนั้น ต้องพิจารณาทั้งในฝั่งของรายรับและรายจ่าย ในส่วนของรายรับรพ.จะได้รับจากกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ และเก็บตรงจากคนไข้ และฝั่งรายจ่ายเป็นความรับผิดชอบในกลไกการบริหารของสธ. ที่มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นทั้งการปรับลูกจ้างชั่วคราวเป็นพนักงานสธ. การจ่ายค่าแรงเพื่อเป็นวันละ 300 บาทหรือเดือนละ 15,000 บาท ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายจ่าย และมีอีกหลายรพ.ที่เมื่อเปลี่ยนตัวผู้อำนวยการแล้วทำให้สถานภาพทางการเงินดีขึ้น การใส่ร้ายสปสช.ทำให้รพ.ขาดทุนจึงไม่ใช่ อย่าไรก็ตาม การแก้ปัญหารพ.ขาดสภาพคล่องทางการเงินในระยะยาว สปสช.จะเสนอรมว.สธ.ให้ตั้งคณะกรรมการกลางมาวิเคราะห์ปัจจัย สาเหตุและแนวทางในการแก้ปัญหา โดยมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้าร่วม

ต่อข้อถาม กลไกการจัดสรรงบบัตรทองไม่ได้ทำให้รพ.ขาดทุนใช่หรือไม่ นพ.วินัย กล่าวว่า รพ.ในพื้นที่ห่างไกล ถิ่นทุรกันดารหรือมีประชากรน้อย การจัดสรรงบฯในรูปแบบที่เป็นอยู่อาจเป็นปัญหา แต่สปสช.มีกลไกเสริมให้กับรพ.เหล่านี้เพื่อช่วยแก้ปัญหารพ.ขาดสภาพคล่องทางการเงินอยู่แล้ว โดยปีงบประมาณ 2558 สปสช.มีกลไกการแก้ปัญหาขาดสภาพคล่องใน 4 ส่วน ได้แก่ 1.เงินสำหรับจ่ายให้รพ.ในถิ่นทุรกันดาร 500 ล้านบาท 2. ค่าตอบแทนบุคลากร 3,000 ล้านบาท จัดให้รพ.ที่มีปัญหาขาดสภาพคล่อง 3. กันเงินเดือนไว้ประมาณ 1,800 ล้านบาทเพื่อแก้ปัญหา และ4.จัดสรรเงินผู้ป่วยนอกให้เขตกระจายช่วยรพ.ที่ขาดสภาพคล่อง

นพ.ประทีป กล่าวว่า การจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการสามารถทำได้ไม่ผิดวัตถุประสงค์แต่อย่างใด โดยงบที่จัดสรรให้หน่วยบริการราว 1.4 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 99 %ของงบประมาณทั้งหมด อีกส่วนเป็นงบส่งเสริม สนับสุนการจัดบริการสาธารณสุข ซึ่งเงินที่จัดสรรให้มูลนิธิและหน่วยงานอื่นๆอยู่ในส่วนนี้ ปีงบประมาณ 2557 เป็นจำนวนประมาณ 587 ล้านบาท คิดเป็น 0.42 %ของงบทั้งหมด โดยจัดสนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) กรมต่างๆในสธ. สสจ.และสสอ.และมูลนิธิต่างๆ

ผอ.รพช.หนุนปรับจัดสรรงบบัตรทองใหม่ นพ. สุขสันติ พักธรรมนัก ผอ.รพ.ท่าช้าง จ.สิงห์บุรี กล่าวว่า ปัญหาที่แท้จริงของการจัดสรรงบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง ตั้งแต่ปี 2544-2557 คือการผูกรวมเงินเดือนของข้าราชการไว้ในงบเหมาจ่ายรายหัว ทำให้สถานบริการในระดับจังหวัด อำเภอ ซึ่งมีประชากรเบาบาง แต่มีข้าราชการมาก และฐานเงินเดือนสูง เมื่อนำมาหักกับเงินเหมาจ่ายรายหัวแล้วบางจังหวัดติดลบ คือเงินจากงบบัตรทองไม่พอจ่ายเงินเดือนข้าราชการในจังหวัด เมื่องบบัตรทองไมมี หรือไม่พอ การบริการของสถานบริการ จะเอาเงินจากไหนมา ซื้อยา เวชภัณฑ์ เวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยามาให้บริการประชาชน ทั้งค่าสาธารณูปโภค ค่าเวรแพทย์ พยาบาล บุคลากรที่ปฏิบัติงานให้บริการ นอกเวลาราชการ หลังจากที่งบบัตรทองไม่เพียงพอ สถานบริการต้องเริ่มนำเงินที่สะสมไว้นำออกมาใช้จ่ายเพื่อบริการประชน ทำให้รพ.ชุมชน(รพช.) กว่า 100 แห่งจาก 800 กว่าแห่งและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) 2,900 แห่งจากกว่า 8,000 แห่ง มีปัญหาขาดสภาพคล่อง

ยกตัวอย่าง จ.สิงห์บุรี มีประชากรสิทธิ์บัตรทอง 140,000 คน. ได้รับงบบัตรทอง ทั้งจังหวัด 359 ล้านบาท ข้าราชการสสังกัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ของจ.สิงห์บุรี มี 3,000 คน หักเงินเดือน61% ออกจากงบบัตรทอง เป็นเงินที่ต้องนำไปหักออกจากงบบัตรทองที่ 324 ล้านบาท ทั้งจังหวัดเหลือเงินบริหารเพื่อบริการประชาชนสิทธิ์บัตรทองทั้งปี เพียง 35 ล้านบาท ชึ่งจำเป็นต้องมีเงินมาเพิ่มในระบบ ปีละไม่ต่ำากว่า 180 ล้านบาท รวมเป็น220 ล้าน เพื่อให้สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งให้บริการประชาชนได้ดี มีประสิทธิภาพ ปัจจุบันจ.สิงห์บุรีได้รับงบเพิ่มเติมมาแก้ปัญหาอีกเพียงปีละ 80-90 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอ ทำให้สถานบริการ 5ใ น 6 แห่งติดลบ อยู่ในภาวะวิกฤติทางการเงินระดับ1 จำนวน 4 แห่ง ระดับ7จำนวน1แห่ง ระบบการบริหารงบบัตรทองจึงควรต้องเปลี่ยนแปลง

นพ.สุขสันติ กล่าวอีกว่า หากมองในระดับเขตจ.สิงห์บุรีเป็น 1ใน8 จังหวัดของเขต4 ที่ประกอบไปด้วย จ.สระบุรี ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี อยุธยา อ่างทอง นครนายก และสิงห์บุรี โดย 3 จังหวัดหลังเป็นจังหวัดขนาดเล็ก ประชากรน้อย งบบัตรทองไม่พอเมื่อหักเงินเดือนออก สถานะภาพเหมือนจ.สิงห์บุรี แต่อีก5 จังหวัด เป็นจังหวัดใหญ่ประชากรหนาแน่น เมื่อเข้าเป็นเขตสุขภาพ จังหวัดใหญ่จะสามารถปรับเกลี่ยงบมาช่วยจังหวัดเล็กได้ ซึ่งเขต4 มีประชากร2.9 ล้าน ได้รับงบบัตรทองทองทั้งเขตที่ 7,500ล้านบาท หักเงินเดือนระดับเขตที่ 3,600 ล้านบาท เหลืองบบริหาร 3,900 ล้านบาท ถ้าวางกรอบการบริหารจัดการงบบัตรทองระดับเขต จะทำให้ 3 จังหวัดขนาดเล็ก พ้นภาวะวิกฤติทางการเงินได้จากการเกลี่ยงบประมาณภายในเขต

ข้อเสนอการจัดสรรงบประมาณขาลงงบบัตรทองใหม่ คือ 1. ไม่ควรนำเงินเดือนข้าราชการสธ.มาร่วมอยู่ในงบบัตรทอง ควรแยกออกไปตามพรบ.เงินเดือนของกระทรวงการคลังเหมือนเดิม สำหรับในช่วงเปลี่ยนผ่านให้ตัดเงินเดือนในระดับเขตเพื่อให้สามารถปรับเกลี่ยกันภายในเขต 2. ส่งเสริมให้เกิดการช่วยเหลือกันของสถานบริการภายในเขตบริการสุขภาพ ซึ่งจะทำให้เกิดภาพโรงพยาบาลใหญ่ช่วยโรงพยาบาลเล็ก คุณภาพมาตรฐานบริการก็จะเกิดขึ้น สอดรับกับความต้องการของประชาชน และ 3. ระบบการเงินการคลังต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อสนับสนุนให้สถานบริการสามารถให้บริการได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการขาดสภาพคล่องทางการเงิน และสถานบริการจะได้รับรู้ถึงรายรับที่แน่นอน สามารถวางแผนงบประมาณได้

ด้านนพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผอ.รพ.อุ้มผาง จ.ตาก กล่าวว่า รพ.อุ้มผาง ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่กันดารระดับ ๒ มีประชากรจากการสำรวจ 67,687 คน รวมชาวบ้านตะเข็บชายแดนด้วยแล้ว มีสิทธิบัตรทองจำนวน 25,099 คน ประกันสังคม 1,542 คน ข้าราชการ 1,312 คน บุคคลที่มีปัญหาสถานะ 5,352 คน ไม่มีหลักประกันสุขภาพ 34,382 คน ซึ่งเป็นจำนวนมากกว่าครึ่งของประชากรทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ยากจนและอยู่ในพื้นที่กันดารห่างไกลจากโรงพยาบาลมาก นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่ที่มีโรคติดเชื้อประจำถิ่นที่รุนแรงถึงชีวิตได้ เช่น มาลาเรีย ไข้ไทฟัส ไข้กาฬหลังแอ่น อหิวาตกโรค วัณโรค ฯลฯ ปัญหาหลักด้านสาธารณสุขของชาวบ้านที่นี่ คือ การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ โดยรพ.อุ้มผางต้องรับผิดชอบในฐานะที่เป็นสถานบริการหลักในการดูแลเครือข่ายทั้งอำเภอ เพราะมีทรัพยากร บุคลากร และศักยภาพสูงที่สุดในอำเภอนี้

“โรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายในการดูแลประชาชนทั้งหมดในทุกมิติของงานด้านสาธารณสุขเกิดขึ้นมาก แต่มีประชากรที่มีสิทธิในหลักประกันสุขภาพเพียงครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งไม่มีหลักประกันสุขภาพ แถมยังอยู่ห่างไกล ทำให้มีต้นทุนให้บริการสูงกว่าธรรมดา รพ.พยายามบริหารทรัพยากรที่มีทั้งหมดอย่างเต็มที่ เหมือนอุดรูรั่วของโอ่งน้ำ และพยายามหาทรัพยากรเพิ่มเติม เช่น ขอรับบริจาคยาขยะจากที่ต่าง ๆ เพื่อมาใช้ในโรงพยาบาล ทำไบโอดีเซลจากการขอบริจาคน้ำมันพืชใช้แล้วจากทั่วทุกแห่ง ใช้เติมรถอีต๊อกซึ่งเป็นรถส่งต่อของสุขศาลาที่อยู่ไกล ๆ ให้ส่งต่อผู้ป่วยได้ แต่ถึงแม้ว่าจะพยายามบริหารทรัพยากรอย่างเต็มที่แล้ว ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น ทำให้รพ.อุ้มผาง มีปัญหาสถานะทางการเงินระดับรุนแรงที่สุด และต้องของบสนับสนุนการดำเนินงานจากทุกหน่วยงานมาตลอด ไม่มีมาตรการแก้ปัญหาระยะยาวเป็นอย่างนี้มาตลอด12 ปี ตั้งแต่มีโครงการบัตรทอง”นพ.วรวิทย์กล่าว

นพ.วรวิทย์ กล่าวอีกว่า ข้อเสนอ คือ 1.สปสช. ควรยอมรับความจริงว่า มีir.ที่ต้องให้บริการตามหลักมนุษยธรรมอยู่ในประเทศไทยและไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยการบริหารการเงินแบบเดิมซึ่งใช้มากว่า 12 ปีโดยใช้หลักเอาเงินเป็นศูนย์กลางของทุกอย่าง จนเปลี่ยนวัฒนธรรมของบุคลากรสาธารณสุขที่เคยใช้ใจ เป็นตัวกลางในการสื่อสารกับผู้ป่วย มาเป็นเงินหรือกฎเกณฑ์ต่าง ๆ แทน 2. ขอให้จัดสรรเงินดำเนินการให้กับir.ต่าง ๆ ให้ดำเนินการได้ โดยเฉพาะรพ.ที่ประสบปัญหาการเงินอย่างเรื้อรัง และใช้หลักการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของโรงพยาบาลแต่ละระดับด้วย และ3.ขอให้ผู้เห็นต่างกับแนวทางที่สธ.เสนอนี้ ให้ช่วยเสนอแนวทางแก้ปัญหาให้สถานบริการที่ประสบปัญหาด้วย เพราะไม่ได้ประสบปัญหาด้วยตนเอง ก็เลยไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ มิฉะนั้นจะกลายเป็นการติที่ไม่สร้างสรรค์

วันพฤหัสบดีที่ 11 ธันวาคม 2557

ขอบคุณแหล่งข้อมูล: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

คำสำคัญ: , คมชัดลึก

No comments:

Post a Comment