ธรรมาภิบาลอุดมศึกษาต้องแก้ปัญหาให้ถึงต้นตอ : ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) รายงาน
กรณีที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะใช้ มาตรา 44 เข้าไปจัดการกับ “มหาวิทยาลัย” ที่ “ไร้ธรรมาภิบาล” และจะไม่ซุกอะไรไว้ใต้พรมนั้น ทางสภาคณาจารย์และข้าราชการ ขอสนับสนุนเต็มที่ โดยอยากให้แก้ไขไปที่ “ต้นตอของปัญหา” แต่ละสถาบันซึ่งแตกต่างกัน สถาบันอุดมศึกษาของรัฐในปัจจุบัน มีทั้งมหาวิทยาลัยที่ยังคงเป็น “ส่วนราชการ” และมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (ม.นอกระบบ) ที่มีทั้งตั้งแต่เริ่มก่อตั้งและแปรสภาพจากส่วนราชการไปเป็น ม.นอกระบบ ในภายหลัง ดังนั้น การจะแก้ไขจึงต้องทำความเข้าใจสาเหตุของปัญหาแต่ละมหาวิทยาลัย และที่สำคัญปัญหาเหล่านั้น ล้วนส่งผลกระทบกับ “คุณภาพของการศึกษา” แตกต่างกันด้วย มหาวิทยาลัยในกำกับตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง หรือที่แปรสภาพในภายหลัง แม้จะมีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาล แต่จะส่งผลกระทบกับคุณภาพการศึกษาไม่มากนัก อาจเป็นเพราะมหาวิทยาลัยเหล่านี้ มีพื้นฐานโครงสร้างและระบบบริหารจัดการที่ดี หรือมีชื่อเสียงมายาวนาน แต่ในส่วนของมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการ โดยเฉพาะ “มหาวิทยาลัยกลุ่มใหม่” ปัญหาธรรมาภิบาล จะส่งผลกระทบกับ "คุณภาพการศึกษา" โดยตรงและค่อนข้างมาก จากการวิเคราะห์พบว่าสาเหตุหลักๆ มาจาก “ผลประโยชน์” และ “อำนาจ” ที่ผู้บริหาร และบุคลากรต่างแสวงหาและต้องการให้เทียบเท่ากับมหาวิทยาลัยในกำกับ ทั้งที่ระเบียบราชการไม่สามารถทำได้ เช่น การแต่งตั้งผู้บริหารระดับต่างๆ จากบุคคลที่เกษียณอายุราชการแล้ว ทั้งที่ไม่มีกฎหมาย หรือพระราชบัญญัติใดๆ ให้อำนาจทำได้ เพราะมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการ การบริหารงานบุคคลต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 และฉบับที่ 2 พ.ศ.2551 ส่วนการสรรหาและแต่งตั้งบุคคล ไปดำรงตำแหน่งผู้บริหารก็เป็นไปตาม พ.ร.บ.การจัดตั้งของแต่ละสถาบัน นั่นคือการสรรหาและแต่งตั้งต้องมาจากคนที่เป็นข้าราชการหรือพนักงานมหาวิทยาลัย ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนที่กล่าวถึงข้างต้นเท่านั้นไม่สามารถแต่งตั้งจาก “คนนอก” หรือ “คนที่เกษียณอายุราชการ” การแต่งตั้ง “คนนอก” หรือ “คนที่เกษียณอายุราชการ” เข้ามาเป็นผู้บริหาร นอกจากจะต้องนำเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากเป็นส่วนราชการมีข้อจำกัดในการจัดหารายได้เอง ไปจ่ายเป็นเงินเดือนและค่าตอบแทน ซึ่งสูงกว่าข้าราชการหลายเท่า บางคนช่วงรับราชการได้เงินเดือนแค่ 5 หมื่นบาท แต่เมื่อเกษียณแล้วและเสนอตั้งเงินเดือนให้ตัวเองสูงถึง 2.5 แสนบาท ก็มี ยังไม่รวมเงินอื่นๆ ที่ระเบียบราชการให้เบิกจ่ายได้เฉพาะข้าราชการ ดังนั้นจึงต้องออกระเบียบเองแล้วเสนอสภามหาวิทยาลัยอนุมัติ เพื่อให้ตัวเองสามารถเบิกได้เช่นเดียวกับข้าราชการ ที่สำคัญจะทำผิดอะไรก็ไม่เกรงกลัวว่าจะถูกดำเนินการ “ทางวินัย” เพราะตัวเอง“ ไม่ใช่ข้าราชการ” และที่สำคัญยังขัดกับหลักการปฏิบัติราชการทั่วไป ที่ข้าราชการทุกกระทรวงต้องออกจากราชการเมื่อครบอายุเกษียณ เพื่อเปิดโอกาสให้ “คนรุ่นหลัง” ขึ้นมาเป็นบ้าง ยกเว้นตำแหน่งที่ต้องอาศัย “ความเชี่ยวชาญ” ถึงจะให้ขยายอายุราชการไปถึง 65-70 ปีได้ เช่น แพทย์ ตุลาการ อัยการ หรือแม้แต่อาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา กฎหมายก็ระบุไว้ชัดเจนว่า “ตำแหน่งรองศาสตราจารย์ (รศ.)” ขึ้นไปอาจให้ขยายอายุราชการไปถึง 65 ปีได้ แต่ให้ทำหน้าที่สอนและวิจัยเท่านั้น ห้ามดำรงตำแหน่งผู้บริหาร “มหาวิทยาลัย” ในปัจจุบันกลับ “ตรงกันข้าม” คนที่ดำรง “ตำแหน่งบริหาร” กลับเป็น “คนที่ล้วนเกษียณอายุ” แทบทั้งสิ้น ส่วนคนที่มีตำแหน่ง “รศ.” ถ้าไม่มีพวกก็ยากที่จะได้ขยายอายุถึง 65 ปี นอกจาก “การแสวงหาผลประโยชน์” แล้ว “อำนาจ” ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีการแสวงหาในมหาวิทยาลัย เพราะการที่จะทำให้ตัวเองอยู่ในตำแหน่งได้นานขึ้นอยู่กับเสียงในสภาฯ ดังนั้นจึงมี “การใช้อำนาจ” เพื่อ “บีบ” ให้คนมาเป็นพวกพ้องให้ได้มากที่สุด จากนั้นแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารโดยไม่สนใจว่าคนคนนั้น มีความรู้ มีความสามารถ หรือมีความเหมาะสมกับตำแหน่งหรือไม่ หรือบางคนก็สนับสนุนให้ไปนั่งในสภาฯ เพื่อช่วยยกมือเลือกคนของตัวเองให้มาเป็น “นายกสภาฯ” และ “กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ” คนกลุ่มนี้ก็จะเป็นผู้เลือกให้ตัวเองให้ดำรงตำแหน่งต่อไป เมื่อครบสองวาระไม่สามารถเป็นต่อได้ ก็สลับไปมหาวิทยาลัยอื่นที่เป็นเครือข่าย หรือให้คนของตัวเองขึ้นมาเป็นผู้บริหารเพื่อคั่นเวลา แล้วตัวเองก็กลับมาเป็นต่อ นี่คือความจริง ส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นและเป็นสาเหตุต้นตอของ “ปัญหาธรรมาภิบาล” ในสถาบันอุดมศึกษา ที่รอวันให้มีการปฏิรูป ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าปัญหานี้จะเรียกว่าอยู่ “ใต้พรม” หรือ “บนพรม”
วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน 2559
ขอบคุณแหล่งข้อมูล: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
คำสำคัญ: , คมชัดลึก
No comments:
Post a Comment