หลักสูตรพิเศษ "รัฐอิสระ" ตัววัดธรรมาภิบาล "อุดมศึกษา" : โดย...ทีมข่าวการศึกษา
“หลักสูตรพิเศษ” ตกเป็นจำเลยทันทีเมื่อมีการเชื่อมโยงกับการเสียชีวิตของ 3 ดอกเตอร์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ซึ่งอาจเป็นความขัดแย้งหนึ่งหรือไม่ที่นำไปสู่เหตุการณ์ดังกล่าว แต่ “หลักสูตรพิเศษ” ใช่ว่านึกจะเปิดก็เปิดได้ การจัดตั้งหลักสูตร สภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะต้องอนุมัติหลักสูตรและส่งเรื่องให้คณะกรรมการการอุดมศึกษารับทราบ สภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจึงจะนำมาพิจารณาแต่งตั้งกรรมการพิจารณาบริหารหลักสูตร ซึ่งจะทำหน้าที่สำคัญในการพิจารณาคณาจารย์ที่จะเข้ามาสอนในหลักสูตรพิเศษ และส่งเรื่องให้กรรมการอำนวยการบัณฑิตพิจารณาอีกชั้นหนึ่งเป็นด่านสุดท้าย ก่อนประกาศรายชื่อคณาจารย์ที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกให้ทำการสอน
รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (รองเลขาธิการ กกอ.) กล่าวถึงกรณีที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) เรียกร้องให้หน่วยงานที่ดูแลสถาบันอุดมศึกษา และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สอบสวนหาสาเหตุที่แท้จริงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร โดยเรียกร้องให้ปฏิรูปอุดมศึกษา เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นสะท้อนปัญหาการบริหารงานไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล การแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ ว่า ปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาเป็นเรื่องที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ให้ความสำคัญและพยายามดูแลมาตลอด ภายใต้ขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่มี อาทิ มีการร้องเรียนว่า หลักสูตรการสอนไม่มีคุณภาพ ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน เหล่านี้ สกอ.ก็จะมีคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องลงไปกำกับติดตามให้มหาวิทยาลัยแก้ไขเพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นไปอย่างมีคุณภาพ ถือเป็นหัวใจสำคัญ
“สำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เนื่องจากขณะนี้สูญเสียอาจารย์และนักวิชาการอันทรงคุณค่าถึง 3 ราย ตรงนี้ในแง่ของจัดการศึกษา ผู้ที่ได้รับผลกระทบแน่นอนคือนักศึกษา ตรงนี้ สกอ.จะติดตามการแก้ไขปัญหาของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครอย่างจริงจัง ที่ต้องเร่งหาอาจารย์มาสอนแทน เพื่อไม่ให้นักศึกษาได้รับความเดือดร้อน และเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรที่กำหนดจำนวนอาจารย์ต่อนักศึกษา ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครได้รายงานให้ทราบเบื้องต้นถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงนั้น ขณะนี้ สกอ.ยังไม่มีรายงานเข้ามา” รองเลขาธิการ กกอ. กล่าว
รศ.นพ.สรนิต กล่าวอีกว่า โดยกระบวนการทุกหลักสูตรที่เปิดสอนภายในมหาวิทยาลัยจะต้องเสนอให้สภามหาวิทยาลัยอนุมัติก่อน จากนั้นจะต้องส่งมาให้คณะกรรมการการอุดมศึกษารับทราบ ซึ่งทุกหลักสูตรที่เปิดสอนไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรปกติ หลักสูตรพิเศษ (ปริญญาโท-ปริญญาเอก) จะต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรอุดมศึกษา พ.ศ.2558 ที่จะกำหนดไว้ชัดเจนทั้งในระดับปริญญาตรี และระดับบัณฑิตศึกษา คือระดับปริญญาโท และปริญญาเอก เพื่อควบคุมและประกันคุณภาพการจัดการศึกษาให้เป็นไปอย่างมีมาตรฐานและคุณภาพ
“กรณีที่มีการวิจารณ์ว่า การที่มหาวิทยาลัยทำโครงการหรือเปิดหลักสูตรพิเศษมากจนกลายเป็นธุรกิจการศึกษานั้น ในเรื่องค่าใช้จ่ายของหลักสูตรเป็นอำนาจของสภามหาวิทยาลัยที่จะต้องควบคุมดูแล โดยหลักการที่ สกอ.และมหาวิทยาลัยดูแลควบคุมค่าใช้จ่ายจะเป็นในระดับปริญญาตรี ซึ่งมีผลต่อผู้เรียนจำนวนมาก แต่ระดับบัณฑิตศึกษาต้องขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยซึ่งในบางครั้งอาจะต้องมองไปถึงต้นทุนการจัดการศึกษา การจ้างอาจารย์ เป็นต้น หากจะให้ดีต้องมีกติกามาควบคุมก็ค่อนข้างลำบาก” รศ.นพ.สรนิต กล่าว
รศ.นท.ดร.สุมิตร สุวรรณ อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สะท้อนภาพการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรพิเศษ ว่า ในอดีตการจัดการศึกษาหลักสูตรพิเศษ อาทิ มหาวิทยาลัยราชภัฏมีโครงการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน (กศ.พป.) ก็เพื่อสร้างโอกาสให้คนทำงาน ข้าราชการ ที่ไม่มีเวลาเรียนในช่วงปกติ มาลงทะเบียนเรียนในวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีอยู่ แต่ช่วงระยะเวลาประมาณ 10 ปีมานี้ที่มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เปลี่ยนสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ ต้องหารายได้เข้าสู่มหาวิทยาลัย ก็เริ่มมีโครงการเปิดสอนหลักสูตรภาคพิเศษ
ตรงนี้เปรียบเสมือน “รัฐอิสระ” เพราะแต่ละโครงการจะมีคณะกรรมการบริหารโดยเฉพาะ มีอำนาจในการวางแผน กำหนดรายละเอียดต่างๆ ได้เอง ซึ่งรายได้จากการเปิดหลักสูตร 20-30% จะถูกส่งเพื่อเป็นรายได้ให้มหาวิทยาลัย ส่วนที่เหลือ 70-80% จะกลับเข้าสู่โครงการเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการ พัฒนา จัดกิจกรรม รวมถึงเป็นค่าตอบแทนอาจารย์
สำหรับค่าตอบแทนอาจารย์ ขึ้นอยู่กับแต่ละหลักสูตรพิเศษกำหนดไว้ แต่ภาพรวมพบว่า ระดับปริญญาตรีค่าตอบแทนเฉลี่ยอยู่ 500-1,000 บาทต่อชั่วโมง ปริญญาโท 1,000-2,000 บาทต่อชั่วโมง และปริญญาเอก 1,500-3,000 บาทต่อชั่วโมง เพราะฉะนั้นอาจารย์คนใดสอนมากก็จะได้ค่าตอบแทนมาก บางรายอาจจะได้ค่าตอบแทนการสอนหลักสูตรพิเศษในแต่ละเดือนมากกว่าเงินเดือนปกติด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการบริหารจัดการให้ดี จุดนี้อาจกลายเป็นปมหนึ่งที่นำไปสู่ข้อขัดแย้ง นอกจากนี้ในหลักการเมื่อสิ้นปีงบประมาณเงินที่เหลือของการจัดหลักสูตรพิเศษควรจัดสรรให้มหาวิทยาลัยและคณะนำไปใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนามหาวิทยาลัย แต่ส่วนใหญ่พบว่าเงินจะถูกนำมากองไว้ที่โครงการ ทำให้บางโครงการมีเงินจำนวนมาก
“ความอิสระที่สามารถบริหารจัดการได้เอง ทำให้เกิดการแข่งขัน หรือข้อขัดแย้งได้ ซึ่งผมเสนอทางออกว่า มหาวิทยาลัยทุกแห่งต้องยกเลิกการทำโครงการเปิดสอนหลักสูตรพิเศษเหล่านี้ เปลี่ยนรูปแบบจัดการศึกษาไม่ต้องแยกว่าเป็นภาคปกติ ภาคพิเศษ จัดการเรียนสอนตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันอาทิตย์ รับนักศึกษาเพิ่มจากปกติ 1 ห้อง เป็น 2 ห้อง โดยเน้นจัดการศึกษายืดหยุ่นที่ผู้เรียนและผู้สอน กรณีที่อาจารย์ต้องสอนเพิ่มจากภาระงานปกติก็จ่ายค่าทำงานล่วงเวลา หรือโอทีให้ ไม่ต้องกำหนดเป็นค่าตอบแทนรายชั่วโมงแบบที่ทำอยู่” รศ.นท.ดร.สุมิตร เสนอแนะ
วันนี้เลยจุดที่จะไม่ปฏิรูปอุดมศึกษาไทยไปแล้ว “3 ดอกเตอร์ราชภัฏพระนคร” เป็นแค่เหยื่อของระบบการศึกษาไทย ที่สละชีวิตเพื่อปลุกคนไทยให้ตื่น เลิกเพ้อฝัน ก่อนอุดมศึกษาไทยจะกลายเป็นเป็ดง่อย ไม่ตอบโจทย์การพัฒนาชาติ แถมยังมีแนวโน้มจะถูกเขี่ยตกเวทีแข่งขันระดับนานาชาติ
(หลักสูตรพิเศษ 'รัฐอิสระ' ตัววัดธรรมาภิบาล 'อุดมศึกษา' : โดย...ทีมข่าวการศึกษา)
วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม 2559
ขอบคุณแหล่งข้อมูล: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
คำสำคัญ: , คมชัดลึก
No comments:
Post a Comment