โรงเรียนบ้านห้วยศาลา สังกัดสพป.บุรีรัมย์ เขต 1 ได้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนคุณภาพชีวิต หรือ School-BIRD (School-Based Integrated Rural Development program) ตั้งแต่ปี 2554 โดยมีมูลนิธิวีระ ไวทยะ สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ประสานงานจัดหาองค์กรภาคเอกชนสนับสนุนเงินทุนแก่โรงเรียนและชุมชน และมีโรงเรียนมีชัยพัฒนาเป็นสถานที่ฝึกอบรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมและปฏิรูปด้านการศึกษา ที่มุ่งสร้างโรงเรียนชุมชนให้เป็นแหล่งพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิตของนักเรียนและประชาชน พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อขจัดความยากจนและปัญหาต่างๆ สังคมชนบท โครงการ School-BIRD ที่โรงเรียนบ้านห้วยศาลา ได้รับความสนับสนุนเงินทุนจากมูลนิธิซิมเบรีย ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ กิจกรรมหลักในโครงการที่โรงเรียนได้จัดทำขึ้นคือ ด้านการเกษตร ทั้งการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ การปลูกในวงบ่อซีเมนต์ซึ่งจะง่ายสำหรับเด็กในการปลูกและดูแล และกำลังเพิ่มการปลูกพืชผักไร้ดิน ส่วนการเลี้ยงสัตว์ มีกบและปลาดุก นำผลผลิตไปสนับสนุนโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียน และต่อยอดให้นักเรียนเรียนรู้การทำขนม อาหารและน้ำดื่มสมุนไพรจากผลผลิตทางการเกษตร เป็นการวางพื้นฐานในการประกอบอาชีพ รู้จักพึ่งพาตนเอง และขายในโรงเรียน ให้นักเรียนได้บริโภคอาหารราคาถูกและมีประโยชน์ต่อร่างกาย รวมทั้งยังมีรายได้ระหว่างเรียนด้วย กิจกรรมสำคัญอีกอย่างในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ครบวงจร คือ ส่งเสริมนิสัยการออม มูลนิธิซิมเบรีย ได้จัดหาภาคเอกชนมาสนับสนุนเงินทุนในการตั้งธนาคารพัฒนาชุมชนและโรงเรียนบ้านห้วยศาลาขึ้นเป็นทุนประเดิม จำนวน 500,000 บาท นายเฉลิม สงครามรอด กรรมการสถานศึกษา ซึ่งได้รับเลือกจากตัวแทนชุมชนและโรงเรียนให้ทำหน้าที่ผู้จัดการธนาคารพัฒนาชุมชนและโรงเรียนบ้านห้วยศาลา กล่าวว่า ธนาคารของเราเกิดจากความเห็นร่วมกันของชุมชนและมีรูปแบบการบริหารงานโดยคณะกรรมการ ประกอบด้วยตัวแทนชุมชนจาก 4 หมู่บ้าน และตัวแทนคณะครู นักเรียน รวม 11 คน เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2556 ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งสิ้น 381 ราย มีเงินฝากกว่า 1.9 ล้านบาท นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเงินทุนให้สินเชื่อแก่ชุมชน เพื่อไปลงทุนประกอบอาชีพ โดยไม่ต้องไปกู้ยืมเงินนอกระบบ ทำให้คนชุมชนมีความสามัคคีได้ช่วยเหลือพึ่งพากัน มีความรับผิดชอบ สามารถสร้างอาชีพและรายได้ และมีการเก็บออมเงินทุนสำรองไว้ใช้ในยามจำเป็น โรงเรียนบ้านห้วยศาลา ได้ขยายผลการดำเนินการกิจกรรมในโรงเรียนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน แต่ละครอบครัวมีการปลูกพืชผักต่างๆ ไว้กินเองและเหลือขาย ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ ซึ่งถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนศากุน ศิริพานิช..รายงาน
22 เมษายน 2559
ขอบคุณแหล่งข้อมูล: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
คำสำคัญ: , สพฐ., สพป., เกษตร, บุรีรัมย์
No comments:
Post a Comment