"คลัง" บี้ ผู้กู้กยศ.จ่ายหนี้ ตั้งเป้าดึง 200 หน่วยงานรัฐ 50 รัฐวิสาหกิจ เข้าร่วมหักบัญชีเงินเดือน พร้อมประสานมหาดไทยห้ามต่ออายุบัตรประชาชน
25 มี.ค. 59 กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ลงนามบันทึกความร่วมมือกับ 36 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน ในการหักบัญชีเงินเดือน เพื่อคืนหนี้ให้กับ กยศ. หลังที่ผ่านมาพบปัญหาผู้กู้ยืมจำนวนมากไม่ยอมชำระหนี้คืนกองทุน
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการ กยศ. เปิดเผยว่า จะพยายามผลักดันให้หน่วยงานราชการทั้ง 200 แห่ง และรัฐวิสาหกิจ 50 แห่ง เข้าร่วมในการหักบัญชีเงินเดือนของพนักงานที่เป็นหนี้ กยศ.จ่ายคืนให้ กยศ.มากขึ้น เพราะจากข้อมูลที่ผ่านมา พบว่า ตัวเลขของเงินกู้ กยศ. เป็นหนี้เสียกว่า 50% ถือว่าสูงมาก
จำเป็นต้องมีโครงการกระตุ้นผู้กู้กว่า 4 ล้านราย วงเงินกู้กว่า 4.7 แสนล้านบาท ให้ใช้หนี้คืนเพื่อที่ในอนาคต กยศ.จะสามารถใช้เงินที่ได้รับคืนมาจากผู้กู้ไปปล่อยกู้ให้นักเรียน นักศึกษารุ่นต่อๆ ไปได้ โดยไม่ต้องของบประมาณจากรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมา กยศ.มีโครงการดึงคนให้มาใช้หนี้ ทั้งลดดอกเบี้ยให้ ลดค่าปรับ แต่ยังเข้าโครงการกันน้อยมาก
"เงินนี้ที่นำมาให้กู้ยืมทั้งหมดมาจากเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งคือเงินภาษีอากรของคนไทยทั้งประเทศ แต่เนื่องจากผู้กู้ยืมบางส่วนไม่ชำระเงินคืนกองทุน จึงส่งผลกระทบกับเงินที่จะนำมาหมุนเวียนเพื่อให้กู้ยืมกับนักเรียน นักศึกษารุ่นต่อไป ดังนั้น ต้องมีมาตรการกระตุ้นที่แรงขึ้น เพื่อให้เกิดการสำนึก เกิดความยางอาย และมาใช้หนี้เพิ่มขึ้นกันบ้าง"
ในส่วนของข้าราชการที่เป็นหนี้ กยศ.และไม่ยอมใช้หนี้กว่า 6 หมื่นรายนั้น จะพยายามให้ข้าราชการทั้งหมดใช้หนี้ด้วยการขอให้หน่วยงานราชการมาเข้าร่วมโครงการกับ กยศ.ทั้งหมด ซึ่งการลงนามระหว่างหน่วยงานนายจ้างกับ กยศ.จะทำให้สามารถหักบัญชีรายเดือนสำหรับคนที่เป็นหนี้ได้ โดยหักต่อเดือนไม่มาก เพียง 100 บาท สำหรับหนี้ 1 แสนบาท หรือปีละประมาณ 1,500 บาท ดีกว่าถูกฟ้องร้องดำเนินคดีและต้องออกจากราชการ
นอกจากนี้ เตรียมจะไปหารือกับสำนักงานประกันสังคม ในการเช็กข้อมูลผู้กู้ที่มีการทำประกันสังคม เพื่อตามมาชำระหนี้ รวมถึงกำลังประสานไปยังกระทรวงมหาดไทย ขอให้ไม่ต่ออายุบัตรประชาชนให้ผู้ที่ไม่ใช้หนี้ กยศ. ซึ่งกระทรวงมหาดไทยกำลังไปดูว่าผิดกฎหมาย หรือผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่
ขณะเดียวกันยังมอบหมายให้ กยศ.ไปดูในเรื่องการเพิ่มเพดานการกู้ และการให้กู้สำหรับสาขาอาชีพที่เกี่ยวข้องกับ 10 อุตสาหกรรมใหม่ อาทิ อาชีพนักบิน ที่ใช้เงินปีละ 1 ล้านบาทนั้น ให้ไปดูว่ามีความเป็นไปได้แค่ไหนที่ กยศ.จะให้กู้ครอบคลุมค่าเรียนได้ทั้งหมด จากขณะนี้มีเพดานการกู้สำหรับวิศวกร 8 หมื่นบาทต่อปี หมอ 2 แสนบาทต่อปี
นางสาวฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการ กยศ. เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้กู้ กยศ.กว่า 4 ล้านราย วงเงินกู้กว่า 4.7 แสนล้านบาท ครบกำหนดชำระหนี้มีประมาณ 3 ล้านราย โดยยังมีค้างชำระ 2 ล้านราย ในจำนวนนี้ชำระหนี้ได้ปกติ 1 ล้านราย อยู่ระหว่างการดำเนินคดี 8 แสนราย ไกล่เกลี่ย 1 แสนราย
โดยเงินที่ยังค้างชำระมีอยู่ 5.5 หมื่นล้านบาท และเป็นหนี้ที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้องดำเนินคดี 3.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งหวังว่าการดำเนินโครงการต่างๆ นั้น จะทำให้ผู้กู้มาชำระหนี้มากขึ้น โดย 3 ปีที่ผ่านมา การชำระหนี้เพิ่มขึ้น ปีงบฯ 2558 ชำระหนี้ 17,000 ล้านบาท ปี 2557 ชำระหนี้ 13,000 ล้านบาท ปี 2556 ชำระหนี้ 11,000 ล้านบาท
วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม 2559
ขอบคุณแหล่งข้อมูล: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
คำสำคัญ: , คมชัดลึก
No comments:
Post a Comment