Tuesday, March 15, 2016

บทเรียนจาก....เซปิงจ่าย๒หมื่น...คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม!

บทเรียนจาก...."เซปิง"จ่าย2หมื่น...คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม! : ทีมข่าวสาธารณสุข

กรณีการออกมาพูดเกี่ยวกับผ่าตัดใบหน้าของ นายสุรชัย สมบัติเจริญ นักร้องลูกทุ่ง ภายโต้โครงการ “Face Off ผ่าแหลก ศัลยกรรม 10 อย่าง บนใบหน้ากระชากความแก่จาก 60 ให้เหลือ 35 Dr.Xeping” นับเป็นกรณีตัวอย่างในการโฆษณาข้อมูลทางการแพทย์เกินจริง ซึ่งไม่ได้กระทำโดยแพทย์หรือสถานพยาบาลโดยตรง เพราะมีกฎหมายควบคุมอย่างเข้มข้น แต่กระทำผ่านบุคคลอื่น หากมองความผิดเรื่องการโฆษณาเกินจริง กรณีนี้ต้องแยกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1.โรงพยาบาลศัลยกรรมตกแต่งกมล สถานพยาบาลที่ถูกระบุเป็นสถานที่ผ่าตัดให้นายสุรชัยว่าทำผิดมาตรา 38 พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ที่ห้ามไม่ให้สถานพยาบาลโฆษณาเกินจริงหรือยินยอมให้มีการโฆษณาเกินจริงหรือไม่ ซึ่งคณะอนุกรรมการโฆษณาสถานพยาบาล สบส. ตัดสินว่ามีความผิด หลังพบหลักฐานการโฆษณาโครงการนี้โดยตรงผ่านเฟซบุ๊กและการยินยอมให้โฆษณาจากเหตุไม่ได้ทักท้วงให้บุคคลที่ทำการโฆษณายุติ 2.แพทย์ กรณีนี้มีเกี่ยวข้อง 2 คน คือ แพทย์ที่ถูกระบุว่าเป็นผู้ทำการผ่าตัด และแพทย์ที่เป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาลตามที่แจ้งขึ้นทะเบียนไว้กับ สบส. หรือผอ.โรงพยาบาล ซึ่งแพทยสภาได้ส่งให้อนุกรรมการจริยธรรมดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงฐานเกี่ยวข้องกับการโฆษณาเกินจริง ผิดข้อบังคับแพทยสภา 3.นายสุรชัย สมบัติเจริญ ซึ่งตามกฎหมายนับว่าไม่มีความผิด เพราะเป็นคนไข้ และที่ผ่านมาไม่เคยได้พูดในทำนองเยินยอแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดจนโอเวอร์ และ 4.ดร.เซปิง ไชยศาส์น ที่เป็นเจ้าของโครงการ เพราะไม่ใช่แพทย์และไม่เกี่ยวข้องกับสถานพยาบาล จึงไม่อาจใช้กฎหมายแพทยสภาและ สบส.มาพิจารณาความผิดได้ ต้องส่งให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) พิจารณากรณีของ ดร.เซปิง บทสรุปของความผิดและบทลงโทษ สำหรับ ดร.เซปิง รอการพิจารณาของ สคบ. ขณะที่ สบส.ปรับโรงพยาบาลศัลยกรรมตกแต่งกมล 2 หมื่นบาท และจะปรับรายวันอีกวันละ 1 หมื่นบาท จนกว่าจะยุติการโฆษณาเกินจริง และแพทยสภาสอบสวนทางจริยธรรมและจรรยาบรรณ 2 แพทย์ที่มีการระบุว่าเกี่ยวข้อง “แพทย์ที่ทำผิดเกี่ยวกับเรื่องการโฆษณา ส่วนใหญ่จะได้รับการพิจารณาอยู่ที่การว่ากล่าวตักเตือน เว้นแต่จะมีการทำผิดซ้ำจึงอาจจะรับโทษหนักขึ้นเป็นภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาตฯ หรือเพิกถอน” นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าว และหากพิจารณาจากอัตราค่าปรับที่โรงพยาบาลต้องจ่ายเพียง 2 หมื่นบาท ถือว่าเล็กน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับเม็ดเงินที่ต้องใช้หากซื้อพื้นที่โฆษณาโดยตรง แต่กรณีนี้กลับได้ขึ้นหน้า 1 หนังสือพิมพ์หลายฉบับ และออกข่าวโทรทัศน์แทบทุกช่อง เป็นเวลาหลายวัน ฟรี! ทั้งที่ไม่ว่าประโยชน์จากเรื่องนี้จะตกอยู่ที่ประชาชน หรือธุรกิจศัลยกรรมความงาม เพราะอัตราพื้นที่โฆษณาในหนังสือพิมพ์ ขนาด 1 ใน 4 ของหน้าหนังสือพิมพ์ที่ไม่ใช่พื้นที่หน้า 1 สีขาวดำ อย่างน้อยอยู่ที่ 6 หมื่นบาท หากเป็นหน้าสี่สีก็จะราคาสูงขึ้นไปอยู่ที่ 8.4 หมื่นบาท ซึ่งโครงการเฟซออฟได้ลงหนังสือพิมพ์อย่างน้อย 5 ฉบับหน้าสี ขั้นต่ำน่าจะต้องใช้เงิน 4.2 แสนบาท บวกกับออกโทรทัศน์ที่มีค่าโฆษณาอัตรา 5 หมื่น-3 แสนกว่าบาทต่อนาที ขึ้นอยู่กับช่องและช่วงเวลา กรณีนี้ได้ออกข่าวช่องโทรทัศน์ที่ได้รับความนิยมในช่วงเวลาที่มีผู้ชมมากที่สุด อาจต้องใช้เงินอย่างน้อย 6 แสนบาท หากออกช่องละ 1 นาที จำนวน 2 ช่อง ดังนั้นถ้าเฟซออฟไม่เป็นข่าว แต่ต้องซื้อพื้นที่โฆษณาในหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ขั้นต่ำน่าจะต้องใช้เงินประมาณ 1 ล้านบาท ยังไม่นับรวมมูลค่าที่จะได้ประโยชน์จากการที่สังคมออนไลน์มีการแชร์ข่าวนี้ต่อๆ ไปในวงกว้าง โดยเฉพาะผ่านทางเฟซบุ๊ก ที่จะมีผู้รับทราบข้อมูลการให้บริการเรื่องนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งโซเชียลอิงค์ (Zocial, inc.) หน่วยงานที่รวบรวมข้อมูลออนไลน์ในประเทศไทย ระบุว่า ปี 2558 มีคนไทยใช้งานเฟซบุ๊กถึง 35 ล้านบัญชี หรือแม้แต่ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ที่จะเอาผิดกับนายหน้าหรือเอเยนซีที่ไม่ใช่แพทย์และสถานพยาบาล ซึ่งทำการโฆษณาเกินจริง ตามมาตรา 22(1) ห้ามการโฆษณาด้วยข้อเท็จหรือเกินจริง ก็ยังมีโทษเพียงจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากผิดซ้ำเพิ่มโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีนี้จึงนับว่าคุ้มเกินกว่าคุ้ม กับการที่สถานพยาบาลโดนปรับเพียง 2 หมื่นบาท หรือเพิ่มโทษปรับอีก 10 เท่า เป็น 2 แสนบาท และนายหน้าโดนปรับ 5 หมื่น-1 แสนบาท ก็ยังคงคุ้มค่า ส่วนแพทย์ก็จะโดนโทษเพียงการถูกว่ากล่าวตักเตือนนิดๆ หน่อยๆ แหล่งข่าวในกระทรวงสาธารณสุขให้ข้อมูลว่า สมัยที่ทำหน้าที่ในการรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสถานพยาบาลโฆษณาเกินจริง ตนเองถึงกับสะอึก เมื่อผู้แทนจากสถานพยาบาลเอกชนที่เรียกมาเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงเคยพูดว่า ขอจ่ายค่าปรับ 10 เท่าเลยได้หรือไม่ เพราะอยู่ในงบโฆษณาของสถานพยาบาลอยู่แล้ว นี่จึงเป็นตัวสะท้อนได้ดียิ่งหรือไม่ว่า แท้จริงแล้วสถานพยาบาลเอกชนทั้งโรงพยาบาลและคลินิกทราบดีถึงข้อห้ามตามกฎหมาย แต่ก็ทราบดีด้วยว่าโทษนั้นน้อยนิด หากเทียบกับงบโฆษณาที่สถานพยาบาลกำหนดไว้ในแต่ละปี จึงยอมเสี่ยงกับการทำผิดเรื่องโฆษณาเกินจริง แต่สามารถกระตุ้นความสนใจเกี่ยวกับสินค้าให้แก่ผู้บริโภคได้สำเร็จ ต่อเรื่องนี้ นพ.ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล ผู้ช่วยอธิบดี สบส. บอกว่า กรมอยู่ระหว่างการเสนอพิจารณาปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 โดยเนื้อหาสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้น คือ ห้ามผู้ใดโฆษณาสถานพยาบาลโอ้อวดเกินจริง จากเดิมที่ห้ามเพียงผู้รับใบอนุญาตและผู้ดำเนินการสถานพยาบาลเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลให้ควบคุมถึงบุคคลที่ไม่ใช่แพทย์หรือเกี่ยวข้องกับสถานพยาบาล รวมถึงการโฆษณาจะต้องขออนุญาตจากสบส.ก่อน และเพิ่มโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีด้วย จากเดิมมีเพียงโทษปรับ 2 หมื่นบาท ขณะนี้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว รอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า แพทยสภาจะพิจารณาปรับปรุงโทษของแพทย์ที่ทำผิดในเรื่องโฆษณาเกินจริง ที่เดิมจะว่ากล่าวตักเตือนเป็นส่วนใหญ่ ให้ถึงขั้นภาคทัณฑ์ หรือพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม เมื่อประเด็นการโฆษณาเกี่ยวกับสินค้าและบริการทางการแพทย์เกินจริงถูกจุดขึ้นผ่านโครงการเฟซออฟ หน่วยงานรัฐจึงน่าจะฉกฉวยโอกาสในการที่จะปรับปรุงข้อห้ามหรือบทลงโทษให้ทันสมัยและสอดคล้องกับเม็ดเงินที่ใกล้เคียงกับเงินค่าโฆษณาได้หรือไม่ เพราะสินค้าและบริการทางการแพทย์ ไม่ใช่สินค้าและบริการทั่วไป จึงมิอาจปล่อยให้โฆษณาได้อย่างเสรี จนอาจส่งผลเสียหายต่อผู้บริโภคอย่างมากจากการหลงเชื่อคำโฆษณาที่เกินจริงหรือเป็นเท็จ อย่าให้กรณีศึกษาเกิดขึ้นแล้วเพียงลอยหายไปตามลม!!!

วันอังคารที่ 15 มีนาคม 2559

ขอบคุณแหล่งข้อมูล: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

คำสำคัญ: , คมชัดลึก

No comments:

Post a Comment