สตง.ขยับฟ้องอาญาหมอฟันหนีทุนทำรัฐเสียหาย สั่งวางมาตรการล้อมคอกพวก "เก่งแต่โกง" ด้าน "หมอเผด็จ" จี้มหิดลส่งข้อมูลให้ฮาร์วาร์ดสอบใน 2 วัน
6 ก.พ. 59 คดีอื้อฉาวกรณี ทพญ.ดลฤดี จำลองราษฎร์ อดีตอาจารย์ภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็ก คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ม.มหิดล) นักศึกษาที่ได้รับทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอก ที่สหรัฐอเมริกา แล้วไม่กลับมาใช้ทุนต่อมหาวิทยาลัยมหิดล แต่กลับไปทำงานเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในสหรัฐ และใช้ชีวิตสุขสบายอยู่กับสามีชาวอเมริกัน ปล่อยให้เพื่อนอาจารย์คนไทยที่เป็นผู้ค้ำประกันต้องรับกรรม ชดใช้หนี้สินที่ไม่ได้เป็นผู้ก่อแทนอย่างทุกข์ยาก จนสังคมโซเชียล โดยเฉพาะคนไทยในสหรัฐ มีความเห็นใจ ร่วมกันต่อต้านหมอฟันฉาว และเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ ทพ.เผด็จ พูลวิทยกิจ ทันตแพทย์คลินิกแห่งหนึ่งใน จ.สระบุรี และผู้เซ็นค้ำประกันอีก 3 คน จนกระทั่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ต้องเข้ามาสอบสวนพฤติกรรมของ ทพญ.ดลฤดี ซึ่งอาจส่งผลต่อสถานภาพของเธอ ขณะที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้ยื่นฟ้องเธอในคดีล้มละลายไปแล้วเมื่อก่อนปีใหม่ และศาลนัดไต่สวนนัดแรกวันที่ 14 มีนาคมนี้ ขณะที่ล่าสุด สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กำลังเข้ามามีส่วนในการตรวจสอบเรื่องอื้อฉาวนี้ในแง่มุมเกี่ยวกับการสร้างความสูญเสียแก่รัฐเพื่อเอาผิดในคดีอาญาอีกด้วย
นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยต่อสำนักข่าวอิศรา ว่า ได้สั่งการนิติกร สตง.ไปศึกษาข้อกฎหมายเกี่ยวกับปัญหาการหนีทุนเรียนของ ทพญ.ดลฤดี เพื่อเอาผิดทางอาญา นอกเหนือจาการฟ้องร้องทางแพ่ง แม้ว่าเจ้าตัวจะแจ้งลาออกจากราชการไปแล้วก็ตาม
"สตง.เห็นว่าเรื่องนี้มีความสำคัญ แม้การหนีทุน จะมีบุคคลค้ำประกันที่ต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น และมีกระบวนการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายคืนจากบุคคลที่ได้รับทุนไปเรียน แต่ สตง.มองว่า เรื่องนี้สร้างความเสียหายให้แก่ราชการเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเงินแผ่นดินที่ใช้จ่ายไป และไม่ได้ผลตอบแทนกลับมา ประเทศชาติเสียบุคลากร กำลังสมองไปเปล่าประโยชน์ ลงทุนส่งให้ไปเรียนเมืองนอกด้วยเงินจำนวนมาก แต่เมื่อเรียนสำเร็จแล้ว ไม่เดินทางกลับมาทำงานรับใช้ประเทศ ถือเป็นเรื่องที่เลวร้ายต่อระบบคุณธรรมของประเทศเป็นอย่างมาก"
ผู้ว่าการ สตง. ยังระบุด้วยว่า จะสั่งการให้เจ้าหน้าที่ไปรวบรวมข้อมูลการให้ทุนของหน่วยงานราชการต่างๆ ว่า มีขั้นตอนการดำเนินการเป็นอย่างไร จำนวนนักศึกษาที่หนีทุนเรียน และวงเงินราชการที่ต้องเสียหายไป รวมถึงกระบวนการติดตามเงินทุนคืนของหน่วยงานต่างๆ ว่ามีความบกพร่องหละหลวมเกิดขึ้นหรือไม่ด้วย เพื่อนำมาใช้ในการกำหนดมาตรการป้องกันปัญหาเสนอแนะให้หน่วยงานราชการที่ให้ทุนการศึกษา และรัฐบาล คาดว่าในช่วงสัปดาห์หน้า สตง. น่าจะประกาศมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมาได้
ด้าน ทพ.เผด็จ กล่าวว่า หลังจากที่ทาง Ombuds office ซึ่งเป็นหน่วยงานตรวจสอบภายในของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ส่งคณะกรรมการลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี ทพญ.ดลฤดี ไม่ใช้ทุนคืนรัฐบาลไทยแล้วนั้น ล่าสุดคนไทยในสหรัฐอเมริกาได้แจ้งมายังพวกตนให้ทำหนังสือถึงมหาวิทยาลัยมหิดล ให้จัดส่งเอกสารใหม่ไปยังสำนักรับเรื่องการร้องเรียนของทันตแพทย์ หรือ Ombuds Office ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอีกครั้ง เพราะเอกสารที่มหาวิทยาลัยมหิดลส่งไปครั้งแรก ส่งไปคนละหน่วยงานที่ ทพญ.ดลฤดี ทำงานอยู่
"แหล่งข่างของผมที่สหรัฐแจ้งว่าให้ผมทำหนังสือถึงมหาวิทยาลัยมหิดลว่า กระผมในนามผู้ค้ำประกันทั้ง 4 คน ของ ทพญ.ดลฤดี มีความคิดเห็นตรงกันว่า ทางมหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการตอบรับมาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเป็นคนละส่วนกัน ดังนั้น ผมจึงได้ประสานไปยังหนึ่งในผู้ค้ำประกันที่เป็นอาจารย์มหิดล เพื่อประสานไปยังฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยมหิดล ในการจัดส่งเอกสารใหม่ทั้งหมด พร้อมประทับตรามหาวิทยาลัยมหิดล เพราะผมนั้นไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากเป็นบุคคลภายนอกของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งอาจารย์หนึ่งในผู้ค้ำประกันที่อยู่ ที่มหาวิทยาลัยก็จะไปดำเนินการในวันเวลาราชการ คือวันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์นี้"
ทพ.เผด็จ กล่าวอีกว่า ต้องขอขอบคุณคนไทยในสหรัฐอเมริกาที่ได้เข้ามาช่วยเหลือ และประสานงานติดต่อหน่วยงานในสหรัฐอเมริกาให้ ซึ่งพวกตนและผู้ค้ำประกันจะเร่งดำเนินการให้ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน และอยากขอความร่วมมือ มหาวิทยาลัยมหิดลในการจัดการเอกสารต่างๆ ส่วนการยื่นฟ้องร้อง ทพญ.ดลฤดี นั้นได้มีการรวบรวมเอกสาร และหารือร่วมกับทนายความว่าจะดำเนินการอย่างไรบ้าง ซึ่งหลังจากมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น ทาง ทพญ.ดลฤดี ก็ไม่ได้มีการติดต่อมายังตนเพิ่มเติม แต่ถ้าติดต่อมาตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นการชี้แจงเรื่องอะไร หากไม่มีเอกสารหลักฐานการชดใช้เงินคืน ตนก็ไม่เชื่อและคงยังเดินหน้าเรียกร้องค่าเสียหายกลับคืนมา
ทพ.เผด็จ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ ตนได้รับข้อมูลมาจากหลายฝ่ายที่เชื่อถือได้ และหลายคนก็เกิดความเคลือบแคลงใจในการดำเนินการติดตามทวงหนี้ ชดใช้ทุนของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยเฉพาะฝ่ายกฎหมาย และผู้บริหารมหาวิทยาลัย ที่บริหารงานในช่วงปี 2547 เช่นเดียวกับตน จึงอยากเรียกร้องให้ผู้บริหารชุดเก่าออกมาชี้แจง หรือตอบคำถามสังคมกรณี ทพญ.ดลฤดี ไม่ว่าจะเรื่องการอนุมัติการลาออก ทพญ.ดลฤดี หรือการติดตามทวงหนี้ เพราะเรื่องเกิดขึ้นในช่วงอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้บริหารชุดเก่า ไม่ใช่ชุดปัจจุบัน เพราะผู้บริหารชุดเก่าน่าจะเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดและตอบคำถาม ความเคลือบแคลงใจได้ดี
ทพ.เผด็จ ยังโพสต์ข้อความในเพซบุ๊กส่วนตัวถึงการฟ้องร้อง ทพญ.ดลฤดี ด้วยว่า ตนจะขอรับแต่เฉพาะเงินต้นที่จ่ายไปเท่านั้นส่วนดอกเบี้ยและค่าเสียหายต่างๆ ที่ตนอาจได้รับในอนาคต จะขอบริจาคให้องค์กรการกุศลทั้งหมด
"ผมขอแค่เงินต้นไปใช้คืนธนาคารที่กู้มาพอครับในส่วนของดอกเบี้ยธนาคารที่ผมกู้มาผมก็จะรับผิดชอบเอง เพราะจริงๆ ก็ทำใจว่าสูญตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ถ้าได้คืนแค่เงินต้นก็ดีใจน้ำตาไหลแล้วครับ ขอบคุณทุกท่านที่เป็นกำลังใจให้นะครับ"
ทพ.เผด็จ กล่าวต่อไปว่า จากการติดตามการแสดงความคิดเห็นของหลายๆ คนที่เข้ามาทางเฟซบุ๊กตนนั้น ทำให้เห็นข้อความที่น่าสนใจประเด็นหนึ่งคือ มีการระบุว่าก่อนหน้านี้ก็มีอาจารย์คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.มหิดล ที่หนีใช้ทุนในลักษณะเดียวกับ ทพญ.ดลฤดี เช่นกัน ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นหลังจากกรณีของ ทพญ.ดลฤดี โดยอาจารย์ท่านนี้ได้ทุนไปเรียนต่อต่างประเทศและไม่กลับมาใช้ทุนเช่นกัน ซึ่งกรณีนี้พ่อแม่ยอมจ่ายเงินคืนให้ แต่ก็ยังถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัย ผิดกับกรณีของ ทพญ.ดลฤดี ที่อนุมัติให้ลาออกแต่ไม่ถูกไล่ออก จึงเป็นข้อสังเกตที่ทำให้คนในสังคมกำลังเคลือบแคลงใจ และเป็นข้อคำถามของคนที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊กว่า ทำไมอีกคนโดนไล่ออก แต่อีกคนแค่ลาออก
กรณีที่ ทพ.เผด็จ กล่าวถึงกรณีการหนีใช้ทุนของ น.ส.อุษณีย์ ธำรงศักดิ์ อดีตอาจารย์ระดับ 4 คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งลาราชการไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก สาขาเวชศาสตร์ช่องปาก ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2538 - 2543 โดยได้รับเงินเดือนเต็มระหว่างลาศึกษา ต่อมาไม่ติดต่อกับมหาวิทยาลัยมหิดล และหน่วยงานราชการอื่นที่เกี่ยวข้องกับผู้รับทุน สำนักงาน ก.พ.จึงสั่งยุติการศึกษา สั่งงดให้ทุน และให้เดินทางกลับ เพื่อรับราชการและชดใช้ทุน แต่ปรากฏว่าไม่กลับมาปฏิบัติราชการและไม่ยอมชดใช้เงินคืนจำนวน 22 ล้านบาท ทางมหาวิทยาลัยจึงฟ้องร้องผู้ค้ำประกัน ซึ่งก็คือ พ่อแม่และพี่น้อง
อย่างไรก็ตาม ศาลจังหวัดพระโขนง ได้มีคำสั่งให้ น.ส.อุษณีย์ เป็นผู้สาบสูญ ตามที่พ่อแม่ยื่นคำร้องขอให้ไต่สวน แต่ศาลปกครองกลาง พิจารณาเห็นว่า การที่ศาลจังหวัดพระโขนงสั่งให้ น.ส.อุษณีย์ เป็นคนสาบสูญนั้นฟังไม่ขึ้น แต่เป็นความจงใจที่ไม่เดินทางกลับประเทศไทยเพื่อรับราชการชดใช้ทุน จึงมีคำพิพากษาให้ชดใช้เงินคือแก่หน่วยงานเจ้าของทุนในที่สุด
วันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2559
ขอบคุณแหล่งข้อมูล: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
คำสำคัญ: , คมชัดลึก
No comments:
Post a Comment