ผู้ค้ำหมอหนีทุนยันไม่ได้รับติดต่อคืนเงิน จะฟ้องร้องหรือไม่ขอปรึกษาเพื่อนหมอก่อน ขณะที่สกอ.ส่งอัยการฟ้องล้มละลายตั้งแต่ก.ย.58แล้ว เสียงอ่อยถ้าไม่เข้าไทยเอาผิดไม่
3ก.พ.2559 ผศ.ทพญ.ภัทรวดี ลีลาทวีวุฒิ รองหัวหน้าภาควิชาทันตกรรมเด็ก คณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) หนึ่งใน 4 คนที่เซ็นค้ำประกันให้ ทพญ.ดลฤดี จำลองราษฎร์ อดีตอดีตอาจารย์ภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็ก คณะทันตแพทย์ ม.มหิดล ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอก ณ สหรัฐอเมริกา และหนีทุนไม่เดินกลับมาประเทศไทย ทำให้ผศ.ทพญ.ภัทรวดี ต้องรวมชดใช้หนี้ค้ำประกันทุนเรียน เป็นจำนวนเงินกว่า 2 ล้านบาท กล่าวถึงกรณีที่ ทพ.เผด็จ พูลวิทยกิจ ทันตแพทย์ อยู่คลินิกแห่งหนึ่งในจ.สระบุรี ผู้ค้ำประกันอดีตทันตแพทย์ มม.อีกคนที่ออกมาเปิดเผยว่า ได้รับจดหมายจาก ทพญ.ดลฤดี เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2559 ว่าจะคืนเงิน ซึ่งที่นำมาโพสต์ว่าก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการติดต่อจากทพญ.ดลฤดีว่าจะมีการคืนเงินแต่อย่างใด ส่วนจะดำเนินการฟ้องร้อง ทพญ.ดลฤดี หรือไม่อย่างไร ขอหารือ ทพ.เผด็จ ซึ่งเป็นผู้ร่วมค้ำประกันก่อน "ขอยืนยันว่าไม่เคยได้รับการติดต่อมาจากทพญ.ดลฤดี และไม่เคยมีการตกลงกันมาก่อนว่าให้ผู้ค้ำประกันจ่ายเงินไปก่อนและมาใช้คืน และที่มีการโพสต์จดหมายว่าจะใช้คืนของ ทพ.เผด็จก็ทราบจากนักข่าวว่าจดหมายที่มีชื่อของเราด้วย ส่วนการแถลงข่าวของมหาวิทยาลัยมหิดลล่าสุดนั้นก็ทำให้ทราบว่าสถาบันดำเนินการอย่างไรบ้างที่ผ่านมา ซึ่งผู้ค้ำไม่เคยรู้มาก่อน รู้แต่ว่าถูกสถาบันดำเนินการฟ้องไปพร้อมกับผู้ที่ได้ทุนไปศึกษาต่อและต้องชดใช้ตามระเบียบ" ผศ.ทพญ.ภัทรวดี กล่าวและว่า
เงินจำนวน 2 ล้านกว่าบาทที่นำไปใช้หนี้ ได้รับความช่วยเหลือมาจากเพื่อนให้สามารถดำเนินการได้ตามระเบียบของสถาบัน เพื่อให้สามารถทำหน้าที่สอนนักศึกษาได้ต่อไปสกอ.ส่งอัยการฟ้องล้มละลายตั้งแต่ก.ย.58แล้ว
ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)น.ส.อาภรณ์ แก่นวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) กล่าวถึงกรณี ทพญ.ดลฤดี จำลองราษฏร์ อดีตอาจารย์คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล(มม.) ไม่ชดใช้ทุนว่าสกอ.ได้ให้ทางอัยการสูงสุด เป็นผู้ดำเนินการยื่นฟ้องล้มละลายอดีตอาจารย์ทันตแพทยศาสตร์ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย.2558 ซึ่งอัยการสูงสุดได้ส่งฟ้องไปเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2558 หมายเลขคดีที่ล.3603/58 ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสกอ.พยายามให้มม.ติดตามหนี้มาตลอด จนกระทั่งสู่กระบวนการฟ้องร้องศาล ซึ่งเมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ ทพญ.ดลฤดี ซึ่งถือเป็นลูกหนี้ ต้องชดใช้ทุน 30 ล้านบาท แต่เมื่อทาง ทพญ.ดลฤดี ไม่มาชำระหนี้ ทางสกอ.ได้มอบหมายให้ทาง มม.ไปสืบทรัพย์ ว่าทพญ.ดลฤดี มีทรัพย์สินอะไรบ้าง พบว่าไม่มีทรัพย์สินใดที่ใช้ชื่อ ทพญ.ดลฤดี ซึ่ง ณ เวลานั้น ทพญ.ดลฤดี ยังไม่ได้สมรส แต่ต่อให้สมรส สินสมรสก็ใช้ได้เฉพาะในราชอาณาจักรไทย ดังนั้น เมื่อมูลค่าหนี้ของคดี 30 ล้าน เกินหลักทรัพย์ของทพญ.ดลฤดี ทางสกอ.จึงได้นำหลักฐานทั้งหมดไปส่งมอบให้ทางอัยการสูงสุด เป็นผู้ดำเนินการยื่นฟ้องล้มละลาย ส่วนเรื่องดังกล่าวผ่านมา 10 ปี แต่สกอ.เพิ่งมาฟ้องเมื่อเดือน ก.ย. 2558 นั้น เพราะว่าเรื่องนี้ต้องเป็นไปตามกระบวนการฟ้องร้อง “จริงๆ เรื่องทุน เราไม่ได้อยากได้เงิน เพราะการที่สกอ.ส่งนักเรียน อาจารย์ทุน ไปศึกษาต่อทั้งในและต่างประเทศนั้น เพราะคาดหวังว่าพวกเขาจะกลับมาเป็นอาจารย์ที่ดี ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศ ซึ่งกรณีของ ทพญ. ดลฤดี เป็นเพียงกรณีเดียวที่เกิดขึ้น และอาจจะเรียกได้ว่าเป็นกรณีแรก เพราะที่ผ่านมา ถึงจะมีผู้ที่ผิดสัญญา เช่น เรียนโท แต่ไม่จบปริญญาเอก หรือมาทำงานชดใช้ทุนไม่ครบตามเวลาที่กำหนด ก็มีเพียงเล็กน้อยมาก อย่าง โครงการทุนสาขาขาดแคลน 16 สาขา เช่นเดียวกับ ทพญ.ดลฤดี ซึ่งมีผู้รับทุน 5,000 กว่า มีเพียง 23 คน ที่ผิดสัญญา แต่ทุกคนก็กลับมาชดใช้และทำตามสัญญา มีเพียง ทพญ.ดลฤดี คนเดียว ที่ไม่ได้ใช้ทุนและไม่ใช้เงิน” น.ส.อาภรณ์ กล่าว ที่ผ่านมา สกอ.ได้มีการวางแนวทางในการแก้ไขปัญหาของผู้ไม่ชดใช้ทุน โดยได้มีการปรับเปลี่ยนสัญญาผู้ค้ำประกัน จากบุคคลภายนอกก็เป็นคนในครอบครัว เพราะเชื่อว่า นักเรียน อาจารย์ทุนคงไม่ทำให้คนในครอบครัวตัวเองเดือดร้อน เลขาธิการกกอ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับกรณีที่นักวิชาการออกมากล่าวว่าต่อให้ฟ้องล้มละลายก็ไม่มีประโยชน์นั้น การฟ้องล้มละลายเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะสามารถกระทำได้ และการดำเนินการทุกอย่างก็เป็นไปตามกฎหมายไทย ซึ่งเมื่อมีการฟ้องให้ ทพญ. ดลฤดี เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว จะมีอายุความเพียง 3 ปี เนื่องจากการฟ้องล้มละลายดังกล่าวเป็นการฟ้องล้มละลายที่ไม่ใช่กรณีทุจริต ซึ่งถ้าเป็นกรณีทุจริต จะมีอายุความ 10 ปี ทั้งนี้ การฟ้องล้มละลายดังกล่าว มีผลบังคับใช้ได้เฉพาะในราชอาณาจักรไทยเท่านั้น และจะทำให้ ทพญ.เป็นบุคคลล้มละลาย ใน 3 ปี แต่หลังจากนั้นก็ถือเป็นบุคคลธรรมดา ดังนั้น ถึงการฟ้องร้องล้มละลายจะไม่สามารถเอาผิดทพญ.ดลฤดีได้ หากไม่เข้ามาในประเทศไทย เพราะ ขณะนี้ ทพญ. ดลฤดี ยังมีหลักฐานทะเบียนราษฏร์อยู่ในประเทศไทย หรือหากเขาเข้ามาในประเทศไทยก็จะช่วยให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(ตม.) กักตัวอาจารย์ท่านดังกล่าวได้ นอกจากนี้ ในส่วนของมูลค่าหนี้ นั้น ตามหลักกฎหมาย ทพญ.ดลฤดี ต้องรับผิดชอบ ซึ่งหลังจากนี้หากทพญ.ดลฤดี ต้องการชำระหนี้ทุนคืน ต้องไปหารือกับกรมบัญชีกลางว่า จะต้องชำระหนี้คืนจำนวนเท่าใด และคาดว่าจะมากกว่ามูลค่าหนี้ 30 ล้านบาท เพราะมูลค่าหนี้ 30 ล้านบาท เป็นเพียงเงินต้นหากไม่มาชำระหนี้ตามเวลาที่กำหนดก็จะถูกปรับ มีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 อย่างไรก็ตาม กรณีที่เกิดขึ้น ถือเป็นบทเรียนที่ดีในการวางแนวทางในการจัดสรรทุนการศึกษา แต่ทั้งนี้ในส่วนของโครงการทุนต่างๆ นั้น ก็มีหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกันอยู่แล้วตามความเหมาะสม ซึ่งการที่ ทพญ.ดลฤดี กล่าวอ้างว่าสัญญาชดใช้ทุน คืนเงินทุนไม่เป็นธรรม เอาเปรียบนั้น เรื่องนี้ตั้งแต่ก่อนทำสัญญา ทพญ.ดลฤดี ก็คงเห็นภาระทุนอยู่แล้ว ผู้รับทุนก็คงเข้าใจถึงการชดใช้ทุน เป็นการยอมรับร่วมกัน และขณะนี้ ทางสกอ.ก็ยังคงใช้เกณฑ์ดังกล่าวอยู่ ผู้สื่อข่าวถามว่า ตามกระแสข่าวล่าสุดพบว่า อดีตอาจารย์ทันตแพทย์ ส่งข้อมูลถึงเพื่อนอาจารย์ผู้ค้ำประกัน ยินดีจะคืนเงินให้เลขาธิการ กกอ. กล่าวตอนแบบทีเล่นทีจริงว่า กลับมาทำงานใช้ทุน ง่ายกว่าและต่อให้อดีตอาจารย์แต่งงานที่ประเทศสหรัฐ ก็ให้พาสามีกลับมาได้ เป็นหมอฟันมาเปิดคลินิกหมอฟันในประเทศไทยได้ ทพ.เผด็จ พูลวิทยกิจ ทันตแพทย์อยู่คลินิกแห่งหนึ่งในจ.สระบุรี 1ใน 4 ผู้ค้ำประกันอดีตทันตแพทย์ มม. กล่าวว่าได้รับจดหมายจาก ทพญ.ดลฤดี เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2559 ว่าจะคืนเงิน ซึ่งที่นำมาโพสนั้น เพราะต้องการให้สังคมได้เห็นว่า ทพญ.ดลฤดี พยายามลดทอนความรุนแรงในสังคม แต่ไม่ได้จะคืนเงินจริงๆ ซึ่งถ้าจะคืนเงินจริงต้องทำการโอนเงิน หรือส่งเงินมาให้แล้ว ดังนั้น ขณะนี้ กำลังปรึกษากับทีมทนายความ เพื่อดำเนินการฟ้องร้อง ทพญ.ดลฤดี แน่นอน อย่างไรก็ตาม อยากเรียกร้องให้ทางหน่วยงานด้านกฎหมาย อย่าง สภาทนายความ เข้าไปตรวจสอบการทำงานของฝ่ายกฎหมาย มม. เพราะเรื่องดังกล่าวหากย้อนกลับไปดูข้อมูล หรือสัญญาต่างๆ มีมูลเหตุหลายเรื่องที่น่าสนสัย และเชื่อว่าน่าจะฟ้องร้องได้ตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว แต่ทำไมฝ่ายกฎหมายของ มม.ถึงไม่ทำอะไร
วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559
ขอบคุณแหล่งข้อมูล: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
คำสำคัญ: , คมชัดลึก
No comments:
Post a Comment