Monday, November 30, 2015

เจนวิทย์ สระทองหนต้นกล้าอินทรีย์รุ่นใหม่หัวใจเกร่ง

เจนวิทย์ สระทองหนต้นกล้าอินทรีย์รุ่นใหม่หัวใจเกร่ง

ทันทีที่จบมัธยม 3 ร.ร.กำแพงแสนวิทยาคม “น้องโฟล์ค” ตัดสินใจมุ่งสู่ห้องเรียนธรรมชาติ สวมชุดชาวนาชาวสวน หันมาแบกจอบแบกเสียมแทนจับปากกา เพื่อแบ่งเบาภาระพ่อแม่ เข้ามาเรียนรู้วิถีการทำเกษตรอินทรีย์กับกลุ่มเครือข่ายพี่น้องสองตำบล+... จนได้เป็นหนึ่งในสมาชิกเกษตรกรอินทรีย์ ภายใต้โครงการสามพรานโมเดล ที่ขับเคลื่อนโดยมูลนิธิสังคมสุขใจ โดยการสนับสนุนของกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โฟล์คเติบโตมาในครอบครัวเกษตรกร พ่อแม่ของเขาทำเกษตรเคมีมาตั้งแต่ต้น จนเมื่อ 2 ปีก่อนได้เข้าร่วมกลุ่มกับเครือข่ายพี่น้องสองตำบล+.... และปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากการทำเกษตรระบบเคมี มาสู่แบบอินทรีย์อย่างจริงจัง โดยมีเจ้าหน้าที่จากโครงการสามพรานโมเดล คอยแนะนำ ให้ความรู้ และเทคนิคต่างๆ จากที่เคยเป็นลูกมือช่วยพ่อแม่ปลูกผัก วันนี้ โฟล์คขอแยกมาทำแปลงผักด้วยตัวเอง ดูแลเอง วางแผนการผลิตเอง ขายเอง ด้วยความมุ่งมั่น ซื่อสัตย์ และตั้งใจจริงทำให้ผลผลิตของเขากำลังจะได้ใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์นานาชาติ หรือ IFOAM (International Federation of Organic Agriculture Movements) ในเร็วๆ นี้ ด้าน อรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการ สามพราน ริเวอร์ไซด์ และเลขาธิการมูลนิธิสังคมสุขใจ ในฐานะผู้ริเริ่มและผลักดันให้เกิดโครงการ “สามพรานโมเดล” กล่าวว่า โฟล์คเป็นตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ ที่สะท้อนให้เห็นว่า ถ้าหากมีแรงบันดาลใจ มีความมุ่งมั่น ทำจริง สุดท้ายแล้วกระบวนการเรียนรู้มันไม่ยากเลย โฟล์คเองเคยลองผิดลองถูกมาหลายครั้ง หากมองย้อนกลับไปเยาวชนไทยหัวใจอินทรีย์คนนี้ให้เหตุผล ที่ไม่อยากเรียนต่อ ม.4 เชิงตั้งคำถามว่า “ก็ถ้าเรียนไปแล้ว ต้องทิ้งพ่อแม่ ทิ้งน้อง เพื่อเป็นลูกจ้างเขา สู้มาพลิกฟื้นผืนดิน ซึ่งเป็นของเราเองไม่ดีกว่าหรือ” “ครอบครัวผมก็มีกัน 4 คน ผมเป็นลูกชายคนโต ถ้าผมไม่ช่วย แล้วใครจะช่วยพ่อกับแม่ ที่สำคัญผมไม่อยากให้พ่อแม่ และน้องของผม ต้องมาเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตอนอายุ 50 เหมือนกับปู่ของผม” นี่คือเหตุผลที่หนุ่มน้อยคนนี้สะท้อนออกมาจากใจ ว่าทำไมเขาถึงเลือกเดินเข้าห้องเรียนธรรมชาติเมื่อ 2 ปีก่อน นอกจากช่วยพ่อแม่ตามที่ตั้งใจไว้แล้ว โฟล์คยังนำองค์ความรู้ใหม่ๆ และประสบการณ์ วิธีการแก้ปัญหาในแปลกผัก รวมถึงปัญหาที่เกษตรกรอินทรีย์รุ่นลุงรุ่นป้าถ่ายทอด และแบ่งปันกันภายในกลุ่ม มาทดลองปลูกผักอินทรีย์บนพื้นที่ 1 ไร่ ที่เขาเริ่มตั้งแต่การเตรียมดิน เพาะเมล็ดพันธุ์ หมักปุ๋ย ดูแล ตลอดถึงเก็บเกี่ยวผลผลิต ด้วยตัวของเขาเอง จากผักบุ้งแปลงแรก ผักกวางตุ้ง ถั่วฝักขาว มะเขือเปราะ ก็ทยอยตามมาแซมระหว่างพื้นที่ที่ยังพอมีว่าง ที่สำคัญแปลงของโฟล์คกำลังจะได้ใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์นานาชาติ IFOAM ในเร็วๆ นี้ วันนี้ผักอินทรีย์ของเขาส่งให้ห้องอาหารของโรงแรมสามพราน ริเวอร์ไซด์ และขายให้แก่ผู้บริโภคที่ตลาดสุขใจ แม้ตัวเลขรายรับของครอบครัวต่อเดือนจะไม่สูงมาก แต่น้องโฟล์ค ก็เชื่อว่าวิถีอินทรีย์จะทำให้ครอบครัวของเขารวยสุขภาพ และความสุข เพราะได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันปัจจุบันครอบครัวของน้องโฟล์ค มีรายได้เฉลี่ย 1 หมื่นกว่าบาทต่อเดือน ถึงตัวเลขนี้อาจจะไม่มากเท่ามนุษย์เงินเดือน แต่ครอบครัวก็อยู่ได้สบาย “ส่วนเรื่องการเรียนในหลักสูตรนั้น ถ้าอยากเรียนเมื่อไหร่ก็เรียนได้ครับ เพราะเดี๋ยวนี้การศึกษาเปิดช่องทางให้ผู้ที่สนใจเรียนมากมาย เช่นศึกษาผู้ใหญ่ หรือมหาวิทยาลัยเปิดก็มีให้เลือกเช่นกันครับ ทำตรงนี้ให้รู้จริง แล้วค่อยเรียนต่อ ก็ยังไม่สายครับ” น้องโฟล์ค กล่าวทิ้งท้าย

วันอังคารที่ 1 ธันวาคม 2558

ขอบคุณแหล่งข้อมูล: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

คำสำคัญ: , คมชัดลึก

No comments:

Post a Comment