Friday, November 13, 2015

มหิดลเร่งพัฒนาวัคซีนพ่นจมูกกันไข้เลือดออก

มหิดล เร่งพัฒนาวัคซีนพ่นจมูก ป้องกันไข้เลือดออก ชี้ปัจจัย​ติดเชื้อซ้ำไวรัสเพิ่มตัว 100-1,000 เท่า เตือนประชาชนมีไข้อย่าบริจาคเลือดเหตุทำคนอื่นติดเชื้อได้

เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2558 ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการเสวนาเรื่อง ไขความจริงวิทยาศาสตร์ ของไข้เลือดออก โดย ศ.ดร.ศุขธิดา อุบล อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็งกี่ กล่าวว่า ​​​ปัจจุบันไม่มียาต้านไวรัสไข้เลือดออก และถึงแม้มียาต้านไวรัส โอกาสในการใช้ยาถือว่ายังต่ำมาก โดยระยะเวลาการให้ยาจะอยู่ที่​ 4-5 วัน แต่ส่วนใหญ่​ผู้ป่วยกว่าจะมาพบแพทย์ ก็​เข้าวันที่ 2 ​แล้ว ​ซึ่งจะทำให้ยาไม่สามารถรักษาเพื่อหยุดการเพิ่มจำนวนไวรัสได้ ​ความหวังจึงอยู่ที่วัคซีนป้องกันโรค โดยประเทศไทย ศ.นพ.ณัฐ ภมรประวัติ และ รศ.ดร.สุธี ยกส้าน เป็นนักวิจัยกลุ่มแรกของโลก ที่สามารถพัฒนาให้เชื้อเด็งกี่อ่อนฤทธิ์ลงเพื่อทำเป็นวัคซีนได้​ทั้ง 4 สายพันธุ์ ซึ่งวัคซีนที่กำลังพัฒนาอยู่ก็ยังพบว่าสร้างภูมิคุ้มกันได้ ร้อยละ 60 เท่านั้นแต่วัคซีนที่จะป้องกันได้ต้องสร้างภูมิได้มากกว่านี้ และยังพบว่า วัคซีนดังกล่าวทำเพื่อป้องกันเด็งกี่ทั้ง 4 สายพันธุ์แต่เชื้อกลับต่อสู้กันเอง ทำให้ภูมิคุ้มกันบางสายพันธุ์ขึ้นสูง บางสายพันธุ์ไม่ขึ้นหรือต่ำจนวัดไม่ได้ นอกจากนี้ ไวรัสเด็งกี่ ยังปล่อยโปรตีนชนิดหนึ่งออกมาชื่อ NS1 ซึ่งเป็นพิษต่อเซลล์เม็ดเลือดขาว ทำให้ผนังหลอดเลือดรั่ว ซึ่งในวัคซีนก็ยังไม่สามารถป้องกันการปล่อยสารดังกล่าวได้ จึงยังต้องพัฒนาต่อ​ ศ.ดร.ศุขธิดา กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทย กำลังมีโครงทดลองของนักศึกษาทุนโครงการปริญญาเอก กาญจนาภิเษก ภายใตัการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ​ที่​พัฒนาวัคซีนชนิดพ่นทางจมูกเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออกสายพันธุ์ที่ 3 ซึ่งถือว่าเป็นชนิดที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ได้ยากที่สุด โดยทำเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย ​ไปใส่ไว้ในอนุภาคชนิดหนึ่ง ซึ่งจะนำเชื้อเข้าไปสู่ภูมิคุ้มกันได้โดยตรง วิธีนี้จึงทำให้ได้ภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น ขณะนี้พบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ในหลอดทดลอง และอยู่ระหว่างการนำไปสู่การทดลองในสัตว์ และทดลองทางคลินิกต่อไป แต่ก็ยังต้องใช้เวลาอีกหลายปี ศ.ดร.ศุขธิดา กล่าวว่า ​ปัจจัยที่ทำให้โรคไข้เลือดออกเกิดความรุนแรง คือ การติดเชื้อไข้เลือดออกต่างสายพันธ์ุครั้งที่ 2 พบว่าจะรุนแรงมากกว่าผู้ที่ติดเชื้อครั้งแรก อยู่ที่ 15-80 เท่า​ โดยกลไกของเชื้อเด็งกี่นั้น เมื่อติดเชื้อครั้งแรกแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันเชื้อสายพันธุ์นั้นๆไปตลอดชีวิต และในช่วง 6 เดือน - 2 ปี หลังการติดเชื้อ ร่างกายจะมีภูมิต้านทานข้ามสายพันธุ์ จึงพบว่าถ้าติดเชื้อซ้ำในช่วงนั้น จะไม่ป่วยและมีภูมิต้านทานไปตลอดชีวิตด้วยเช่นกัน แต่หากติดเชื้อซ้ำหลังจากช่วง 2 ปี ภูมิต้านทานข้ามสายพันธุ์จะต่ำลง จนทำให้เกิดอาการป่วยที่รุนแรง โดยอนุภาคของไวรัสจะไปจับกับเซลล์เม็ดเลือดขาว ทำให้ไม่สร้างภูมิคุ้มกัน ส่งผลให้ไวรัสเจริญเติบโตมาก ​100-1,000 เท่า ​เมื่อนั้น​​เซลล์เม็ดเลือดขาวจะทำงานผิดปกติ และสร้างสารน้ำปล่อยออกมานอกเซลล์ มีผลทำให้เกิดการทำลายเกร็ดเลือด ระบบการแข็งตัวของเลือดเสียไป ผนังหลอดเลือดเสีย ทำให้หลอดเลือดรั่ว จนน้ำและโปรตีนบางตัว ออกจากหลอดเลือด หากไม่สามารถหยุด​ทัน ก็ทำให้เกิดอาการช็อก และNS1 ก็ยังเพิ่มขึ้นจำนวนมากเช่นกัน ซึ่ง​พิษจะที่ทำให้ผนังหลอดเลือดรั่ว ​​ทั้งสองอย่างช่วยกันจึงทำให้ผู้ป่วยอาการหนักมาก ​ศ.ดร.ศุขธิดา กล่าวว่า ปัจจุบันมีงานวิจัยเกี่ยวกับเชื้อเด็งกี่ ที่ต้องเฝ้าระวังหลายประเด็น เช่น ​ในช่วง​ 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการค้นพบสายพันธ์ุใหม่ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์อยากเรียกว่า สายพันธ์ที่ 5 โดบเชื้อพบยุงและลิง ที่อยู่ในป่า แถบ​ชายแดนประเทศมาเลเซีย ซึ่งจะพบการติดต่อสู่​คนต่อเมื่อสายพันธ์ุพัฒนาตัวเองเพิ่มจำนวนไวรัสจนสามารถเข้าเซลล์มนุยษ์ได้ ​ซึ่งลิงและมนุษย์มีความใกล้เคียงกัน โอกาสเข้าสู่คนจึงค่อนข้างสูง ที่น่ากังวลคือ ถ้าสายพันธ์ุที่ 5 ออกจากป่ามาสู่เมือง ซึ่งอาจเกิดจากการท่องเที่ยว ก็จะทำให้การควบคุมโรคเป็นปัญหามากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยในต่างประเทศ​ 3 เดือน ที่ผ่านมา พบ​ว่า เชื้อเด็งกี่ สามารถถ่ายทอดได้จากการบริจาคเลือด ​โดยพบจำนวน 4 รายแล้ว ซึ่งปัจจุบันเชื้อเด็งกี่ ถือเป็น​เชื้อที่ไม่มีการตรวจในการบริจาคเลือด ทำให้ประชาชนหากรู้สึกตัวว่า มีไข้ ก็ไม่ควรบริจาคเลือด

วันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2558

ขอบคุณแหล่งข้อมูล: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

คำสำคัญ: , คมชัดลึก

No comments:

Post a Comment