รักชีวิต รักษ์สิ่งแวดล้อม : "say NO! slow life social awareness" ปลุกพลังเยาวชนรู้จักปฏิเสธอบายมุข : โดย...ปาลิณี ต่างสี เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง
“เยาวชนคืออนาคตของชาติ” เป็นคำพูดที่คนทั่วไปมักจะพูดกันติดปาก และนับวันบทบาทของเด็กและเยาวชนเริ่มจะปรากฏให้เห็นเด่นชัดมากขึ้น ยิ่งทุกวันนี้พวกเขามีความกล้าที่จะรวมพลัง ลุกขึ้นมาส่งเสียงสะท้อนปัญหาต่างๆ รายรอบตัว รวมถึงปลุกกระแสให้เพื่อนๆ เยาวชนด้วยกันเอง ได้ตื่นตัวไม่หลงผิดก้าวพลาดไปหาสิ่งที่ทำให้ตัวเองต้องเสียอนาคต
การรวมตัวของกลุ่มนักเรียนนักศึกษาจากหลากหลายสถาบันกว่า 100 ชีวิตในครั้งนี้ เกิดขึ้นในนามเครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน เครือข่ายเกสรชุมชนกทม. ทีมเฉพาะกิจเธียเตอร์ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) จัดกิจกรรมรณรงค์ ภายใต้แนวคิด “say NO! slow life social awareness” พร้อมแสดงโชว์การเต้นประกอบเพลงปฏิเสธอบายมุข เหล้า บุหรี่ พนัน ยาเสพติด ปัจจัยเสี่ยง หวังสะท้อนปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเยาวชน
“น้องบูม” หรือ ณัฐพงศ์ สำเภาแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน อธิบายถึงกิจกรรมครั้งนี้ว่า พวกเราต้องการสะท้อนปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การพนัน บุหรี่ และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยให้เยาวชนแต่ละกลุ่มคิดคอนเซ็ปต์ แต่งตัว-แสดงผลกระทบจากปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การพนัน บุหรี่ รวมถึงยาเสพติด และร่วมกันเต้นประกอบจังหวะเพลงแสดงท่าทางจุดยืนปฏิเสธปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เหล่านั้น นอกจากนี้ยังมีตัวแทนเยาวชนที่เคยผ่านประสบการณ์ปัจจัยเสี่ยงมาร่วมฝากแง่คิดเพื่อเป็นอุทาหรณ์
“เยาวชนเป็นเป้าหมายโดยตรงต่อปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ส่งผลกระทบทั้งความรุนแรง การถูกล่วงละเมิดทางเพศ ก่ออาชญากรรม อุบัติเหตุ พิการเจ็บตาย จึงอยากกระตุ้นเตือนให้ทุกภาคส่วนรับรู้ รวมถึงอยากให้เยาวชนแสดงจุดยืน คือ 1.Say no รู้จักปฏิเสธอบายมุข ปฏิเสธความไม่ถูกไม่ควร 2.Slow life เยาวชนควรใช้ชีวิตแบบค่อยเป็นค่อยไป มีสาระ มีสติ ไม่ไร้ทิศทางไปตามกระแสสังคม และ 3.Social awareness คือวัยรุ่นยุคใหม่ควรตระหนักรู้ทันสังคม สนใจความเป็นไปของสังคม และหาโอกาสมีส่วนร่วมกับสังคม”
“น้องบูม” ยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า กิจกรรมนี้นอกจากเยาวชนจะรู้เท่าทัน กล้าลุกขึ้นมาปกป้องตัวเอง และได้มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆ แล้ว เรายังต้องการส่งเสียงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ใส่ใจกับปัญหาที่กระทบต่อเยาวชนที่มีมายาวนาน ออกมาตรการเพื่อมาปกป้องคืนความสุขให้เด็กและเยาวชนอย่างเป็นรูปธรรม
นายเอ(นามสมมุติ) เยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวถึงผลกระทบจากการดื่มสุราจนทำให้ชีวิตเปลี่ยน กระตุ้นให้ก่ออาชญากรรมว่า เริ่มดื่มสุราตั้งแต่อายุ 15 ปี ทุกๆ วันต้องดื่มกับเพื่อน ขาดเรียนบ่อยครั้ง เงินที่พ่อแม่ให้มาก็มาลงกับขวดเหล้าหมด ยอมรับว่า ช่วงที่ดื่มหนักๆ มีปัญหาการเรียน สุขภาพ ทะเลาะวิวาท ขาดสติ นำมาสู่อาชญากรรมในคดีร่วมกันฆ่าผู้อื่น จนถูกต้องโทษจนถึงปัจจุบัน จากบทเรียนครั้งนี้สอนอะไรหลายอย่าง จนเมื่อมาอยู่ที่บ้านกาญจนาฯ ก็ได้วัคซีนที่ดีทำให้คิดได้ ต่อไปนี้สัญญาว่าจะปรับปรุงตัวเองเป็นคนใหม่ และขอโอกาสอยากฝากให้ผู้ใหญ่ให้ยอมรับเด็กที่เคยก้าวพลาดมาก่อน ได้มีพื้นที่ยืนในสังคม เพราะเมื่อเขาพร้อมปรับปรุงตัวเองก็ควรให้โอกาส
นายบี(นามสมมุติ) อายุ 22 ปี เยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวถึงอดีตที่เคยก้าวพลาดเพราะการพนันว่า ขณะนั้นอายุ 18 ปี ได้ร่วมกับเพื่อนก่อคดีฆ่าชิงทรัพย์ จนถูกจับดำเนินคดีและคุมประพฤติ 8 ปี เนื่องจากต้องการนำเงินมาเล่นการพนัน เริ่มเล่นครั้งแรกตอนอายุ 14 ปี จากแทงสนุ้ก ไพ่ พัฒนามาเล่นพนันบอลในบ่อน ที่ผ่านมาไม่เคยสนใจเรียน ไม่เข้าสอบ ไม่ทำกิจกรรมอะไรที่เกี่ยวกับการเรียนเลยแม้แต่น้อย ที่ผ่านมาต้องสูญเงินเพราะการพนันเดือนละ 2 หมื่นบาท
“จากบทเรียนครั้งนั้น ทำให้ผมคิดได้ว่าการพนันไม่ทำให้ใครเจริญ มีแต่จะทำให้ชีวิตเราจมดิ่ง เสียเงิน เสียสุขภาพ ครอบครัวแตกแยก ผมจึงอยากฝากถึงเยาวชนเมื่อเราก้าวพลาดแล้ว ก็ควรเริ่มต้นใหม่ในทางที่ถูกได้ และก่อนจะทำอะไรขอให้มีสติคิดถึงอนาคต คิดถึงครอบครัว และจากนี้เมื่อพ้นโทษ ก็จะกลับไปเรียนตามที่ได้สัญญาไว้กับพ่อแม่” นายบี กล่าวทิ้งท้าย
“น้องโค้ช” มณฑล พวงเงิน อายุ 23 ปี ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสูบบุหรี่ กล่าวว่า เริ่มสูบบุหรี่ตอนอายุ 14 ปี สาเหตุที่สูบเพราะอยากรู้อยากลอง มองว่าดูแล้วเท่ จากนั้นก็สูบหนักขึ้นวันละ 2 ซอง กระทั่งเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เริ่มมีอาการคอบวม จนพ่อแม่ขอร้องให้ไปตรวจที่โรงพยาบาล หมอตรวจพบว่าเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ ให้รีบผ่าตัดด่วน และผลที่ตามมาคือ ทำให้ผมต้องเป็นอัมพาตครึ่งซีก ระบบการหายใจติดขัด ต้องเจาะคอ พูดไม่ได้เกือบปี ปัจจุบันยังพูดไม่ชัดติดๆ ขัดๆ หมดค่ารักษาพยาบาลนับล้าน ตอนนี้อยู่ในช่วงเฝ้าระวัง ต้องกินยาเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง ซึ่งพ่อแม่ญาติพี่น้องต้องช่วยกันมาดูแลผม จนรู้เลยว่าการสูบบุหรี่ส่งผลกระทบทั้งต่อตัวผมและคนรอบข้างผมอย่างมาก
“อยากฝากถึงคนที่คิดจะสูบบุหรี่ว่า ให้เลิกความคิด เพราะมันไม่ส่งผลดีต่อตัวเองและทำร้ายคนอื่นจากบทเรียนชีวิตครั้งนี้อยากฝากเป็นอุทาหรณ์ให้เยาวชนย้อนมองตัวเองและคิดถึงความรู้สึกของคนในบ้านให้มากๆ เราไม่ควรทำให้สังคมเดือดร้อน สิ่งไหนไม่ดีควรถอยหลังออกมา และฝากถึงผู้ใหญ่ในบ้านเมืองให้ตระหนักยับยั้งปัญหายาเสพติด อบายมุขต่างๆ ที่ทำลายเยาวชน เพราะอย่าลืมว่าทั้งแรงจูงใจและสภาพแวดล้อมทำให้เด็กเข้าไปอยู่ในจุดนั้นได้ง่ายมาก”
ขณะที่ สุรชัย วงษ์ประเสริฐ เยาวชนเครือข่ายเกสรชุมชน อดีตจากเด็กเคยติดยาและมีปัญหาครอบครัว จนสามารถนำตัวเองมาสู่คนทำงานเพื่อชุมชน ระบุว่า ก่อนที่จะเสพยาก็เริ่มจากการดื่มเหล้า สูบบุหรี่มาก่อน ซึ่งสมัยเรียน ปวช. การหาซื้อยาเสพติดง่ายมากและมีราคาค่อนข้างถูก แต่เมื่อเราเริ่มเห็นผลกระทบต่างๆ รอบตัว ทั้งการเรียน เงินทอง สุขภาพ และปัญหาครอบครัว ก็ทำให้เริ่มลดละเลิกได้ในที่สุด ปัจจุบันหันมาเป็นอาสาสมัครทำงานเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในชุมชน เพราะอยากจะตอบแทนสังคมบ้าง อย่างไรก็ตาม อยากฝากถึงเยาวชนที่กำลังคิดจะลองให้กลับตัว หันมาตั้งใจเรียนเพื่อสิ่งที่ดีๆ จะตามมาในอนาคต อย่าเอาตัวเองเข้าไปในจุดที่เสี่ยง เพราะอาจจะทำให้เกิดผลกระทบตามมาจนเราไม่สามารถเอากลับคืนมาได้อีก
การส่งเสียงของเยาวชนครั้งนี้ คงทำให้สังคมไทยอยากที่จะยกเครื่องครั้งใหญ่ หวังว่าผู้ใหญ่ระดับนโยบาย การปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ จะหันหน้ามารับฟังปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่เพิกเฉยในประเด็นเด็กและเยาวชนอีกต่อไป และสิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือ ต้องร่วมเฝ้าระวังเตือนสติก่อนที่จะสายไปมากกว่านี้ !!!
(รักชีวิต รักษ์สิ่งแวดล้อม : 'say NO! slow life social awareness' ปลุกพลังเยาวชนรู้จักปฏิเสธอบายมุข : โดย...ปาลิณี ต่างสี เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง)
วันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม 2558
ขอบคุณแหล่งข้อมูล: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
คำสำคัญ: , คมชัดลึก
No comments:
Post a Comment