รักชีวิต รักษ์สิ่งแวดล้อม : ถอดบทเรียนชีวิต "เอมี่ ไวน์เฮ้าส์" เหล้า..ยา..ความตาย อุทาหรณ์เตือนใจวัยโจ๋ : โดย...ชูวิทย์ จันทรส
เป็นที่รู้กันดีว่า นักร้องเพลงแจ๊สชื่อดังอย่าง “เอมี่ ไวน์เฮ้าส์” ต้องมาจบชีวิตลงด้วยวัยเพียง 27 ปี โดยมีเหล้า ยาเสพติด และคนรอบข้างเป็นสะพานสีดำที่นำพาชีวิตของเธอไปสู่ความตาย ทั้งที่ชีวิตของเอมี่ ไวน์เฮ้าส์ จะได้พบความสำเร็จ และได้สร้างเสียงเพลงที่มีคุณค่าให้แก่แฟนเพลง
บทเรียนชีวิตที่ต้องแลกมาด้วยชีวิต ที่น่าจะเป็นอุทาหรณ์ได้ดีแก่คนรุ่นหลัง จึงถูกหยิบยกขึ้นมาสร้างเป็นภาพยนตร์ให้คนทั่วโลกได้ดู และตระหนักถึงภัยร้ายของเหล้า ยาเสพติด และสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงครอบครัว ที่มีผลกระทบต่อผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่ง
ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) โรงภาพยนตร์เอสเอฟ เซ็นทรัลเวิลด์ ชวนเยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก และนักเรียน นักศึกษาจากหลายสถาบัน เข้าชมภาพยนตร์ “เอมี่ ไวน์เฮ้าส์” (Amy Winehouse) เพื่อเพิ่มทักษะการใช้ชีวิต พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดผ่านเวทีเสวนา ในหัวข้อ “เอมี่ ไวน์เฮ้าส์ เหล้าหรือใคร หรืออะไรทำร้ายเธอ”
นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังกลยุทธ์อุตสาหกรรมสุรา กล่าวว่า หนังเรื่องนี้บอกเล่าเรื่องจริงเพื่อเป็นอุทาหรณ์เหมาะสมสำหรับทุกคนควรไปดู ส่วนตัวรู้สึกว่ารู้จักหนังเรื่องนี้ช้าไปหน่อย ครั้งแรกดูผ่านเฟสบุ๊ก บอกได้เลยว่า เรื่องนี้ไม่ธรรมดา เป็นเรื่องจริง ที่ทำให้เราต้องสังเกตว่า หากมีคนใกล้ตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน คนในครอบครัว ที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปแบบเอมี่ ไวน์เฮ้าส์ นั่นอาจสรุปได้ว่า เขาส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างแล้ว
ในหนังได้ตั้งคำถามให้คนดูได้คิดว่า การใช้ทักษะชีวิต กับคำว่า “มีใครไว้ใจได้บ้าง” เป็นคำถามที่คนดูต้องหาคำตอบเอง แล้วเราจะรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างไร ขณะเดียวกันธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มักจะฉวยโอกาสส่งเสริมการขาย กลยุทธ์ซ้ำเติมมอมเมาเยาวชน โดยเฉพาะกลุ่มที่เปราะบางให้ดำดิ่งเร็วขึ้น โอกาสที่เยาวชนจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมเป็นไปได้ยากมาก
ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า ในหนังเรื่องนี้ได้สร้างการเรียนรู้ไว้ 3 ประเด็น คือ 1.ก่อนเป็นตัวเอมี่ 2.เป็นตัวของเอมี่ และ 3.สิ่งแวดล้อม ประเด็นแรกที่กล่าวถึงคือ ก่อนเป็นตัวเอมี่ สรุปได้ว่า ครอบครัวมีความสำคัญและส่งผลต่อตัวเด็ก ในเรื่องเอมี่วัย 9 ปี รับรู้เรื่องการแยกทางของพ่อแม่ ความสุขครอบครัวหายไป แม่ไม่ได้สอนเรื่องระเบียบวินัย การควบคุมตนเอง ในหลายครอบครัวที่พ่อแม่แยกทางกัน พ่อแม่มักจะชดเชยเด็กด้วยการตามใจ ในหนังเรื่องนี้ก็เช่นกัน แม่ไม่เคยพูดคำว่า “หยุด” และ “อย่า” กับเอมี่ เมื่อเธอทั้งสูบหรี่ ดื่มเหล้า หรือจะพาผู้ชายมานอนที่บ้าน
ประเด็นที่ 2 เป็นตัวของเอมี่ กับความมีชื่อเสียง เงินทองมากมาย แต่เธอกลับไม่มีความสุข เอมี่เลือกใช้วิถีชีวิต และการแก้ปัญหาด้วยการหนีปัญหา อีกทั้งโรคบูลิเมียก็เป็นพื้นฐานการเกิดโรคซึมเศร้าของเอมี่ เธอขาดความสามารถในการตอบสนองและการใช้ทักษะชีวิต ทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกทำในสิ่งที่เราทำแล้วสบายใจ และสามารถตัดสินใจเองได้ และเธอก็เลือกที่จะใช้เหล้า ยาเสพติด เพื่อหลีกหนีปัญหา
ประเด็นที่ 3 สิ่งแวดล้อม จากครอบครัวที่พ่อแม่ ไม่เคยใช้คำว่า “หยุด” และ “อย่า” กับเอมี่ รวมทั้งสามีที่ชักจูงให้เธอได้รู้จักกับยาเสพติด ทุกครั้งที่ผ่านการบำบัดและต้องกลับมาอยู่ในสังคมเดิมๆ และกลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิม นั่นเขาเริ่มส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างแล้ว ซึ่งเราจะช่วยเขาได้เราต้องมีความเมตตา อุเบกขา และความอดทน เราถึงจะช่วยเขาได้ ในเรื่องนี้จะเห็นว่า เหล้าจะเป็นตัวต้นทางที่นำสู่เรื่องต่างๆ ทั้งยาเสพติด และความตาย
นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ในเรื่องนี้ทำให้ได้รับรู้การใช้ชีวิตแบบวัยรุ่นที่สุดโต่ง และจากไปก่อนวัยอันควร แต่ลึกๆ แล้วไม่มีใครรู้ว่า อีก 80% ของชีวิตเขาต้องเผชิญกับอะไรมาบ้าง อีกทั้งปัจจัยต่างๆ ส่งให้ต้องเป็นแบบนี้ ทำให้เรามองเห็นคุณค่าของชีวิตมากขึ้น เอาบทเรียนที่ได้จากสิ่งเหล่านี้มาปรับใช้ ดูหนังแล้ววิเคราะห์บทเรียน มองให้เห็นพื้นที่สีดำของตัวละคร และต้องหาทางแก้ไขและดีดตัวเองออกมาเมื่อเกิดขึ้นกับตัวเองได้
ด้าน นายบุรินทร แซ่ล้อ ผู้อำนวยการโคตรอินดี้ กล่าวว่า ดูหนังแล้วให้ดูตัวเอง บอกได้เลยว่า ตนเคยทั้งดื่มเหล้าและสูบบุหรี่มาหมด และบอกได้เลยว่า เรื่องของสุรา ยาเสพติดในวงการดนตรีมีไหม ตอบได้เลยว่าประมาณ 10% ซึ่งมองว่ามันเป็นเรื่องของแฟชั่นมากกว่า จากประสบการณ์การจัดงานคอนเสิร์ตโคตรอินดี้ ซึ่งตอนทำแรกๆ หลายคนบอกว่าจะทำได้จริงเหรอ แต่มาวันนี้เราพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เราสามารถจัดพื้นที่บันเทิงปลอดเหล้าและบุหรี่ได้ และตนก็อยากให้การจัดงานแบบนี้ตกสู่รุ่นต่อรุ่น ถือว่าเป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ในการดูคอนเสิร์ต
“เพื่อน พ่อ แม่ ครอบครัว เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้วัยรุ่นไม่เข้าหายาเสพติดได้ เราควรปลูกจิตสำนึก ให้รู้ถึงภัยอันตรายของเหล้า ยาเสพติดต่อเด็ก”
บทเรียนชีวิตที่ก้าวพลาดที่ต้องแลกกับชีวิตของศิลปินชื่อดัง อย่าง เอมี่ ไวน์เฮ้าส์ อาจจะเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ต้องรู้เท่าทัน ณ วันนี้ ผู้ใหญ่ในสังคมคงต้องช่วยกันเพิ่มทักษะการใช้ชีวิตให้แก่เยาวชนไทย ก่อนที่จะสายเกินแก้ อย่างชีวิตของ “เอมี่ ไวน์เฮ้าส์”
(รักชีวิต รักษ์สิ่งแวดล้อม : ถอดบทเรียนชีวิต 'เอมี่ ไวน์เฮ้าส์' เหล้า..ยา..ความตาย อุทาหรณ์เตือนใจวัยโจ๋ : โดย...ชูวิทย์ จันทรส เลขานุการเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์)
วันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม 2558
ขอบคุณแหล่งข้อมูล: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
คำสำคัญ: , คมชัดลึก
No comments:
Post a Comment