Sunday, October 25, 2015

๒ มุมวิวาทะ เอกซเรย์ สสส.

2 มุมวิวาทะ "เอกซเรย์ สสส." : โดย...ทีมข่าวรายงานพิเศษ

เกิดคำถามขึ้นมากมายว่า ทำไม คสช.ต้องตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นมาตรวจสอบ “สสส.” ?

สสส. หรือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก่อตั้งขึ้นตาม “พระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544” เป็นหน่วยงานรัฐ ที่มีงบประมาณหลักมาจากเงินภาษีที่เก็บจากสุราและยาสูบ ในอัตราร้อยละ 2 อธิบายง่ายๆ ตามที่ชาวบ้านเรียกกัน คือ มาจาก “ภาษีบาป 2%” ของน้ำเมาและบุหรี่ที่รัฐจัดเก็บมาได้

เริ่มทำงานจริงจังเมื่อปลายปี 2545 หรือ 13 ปีที่แล้ว งบประมาณปีแรกประมาณ 1.5 พันล้านบาท และเพิ่มขึ้นทุกปี

ล่าสุดปี 2557 กองทุน สสส.ได้รับเงินเพิ่มเป็น 4 พันล้านบาท หากดูยอดรวมเงินทั้งหมด 13 ปี มีมากถึง 3.5 หมื่นล้านบาท

เงินที่ได้เอาไปทำอะไร ?

ภารกิจหลักของ สสส.คือ การสร้างเสริมสุขภาพประชากรทุกวัยตามนโยบายสุขภาพแห่งชาติ โดยเฉพาะการรณรงค์ให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรง และลดการดื่มสุรากับสูบบุหรี่ หรือสารอื่นที่ทำลายสุขภาพ

ผลงานของ สสส.ทุกคนจำได้แม่นยำคือ การรณรงค์ “ให้เหล้าเท่ากับแช่ง” “เลิกเหล้า เลิกจน” และ “สูบบุหรี่ทำร้ายคนรอบข้าง” ฯลฯ หลังจากระดมออกสื่อทุกรูปแบบทำให้เห็นผลเป็นรูปธรรม หลายปีที่ผ่านมาในกระเช้าของขวัญปีใหม่ที่นิยมใส่ขวดเหล้ามาด้วยนั้น แทบจะไม่เห็นอีกต่อไป เปลี่ยนเป็นข้าวกล้องหรืออาหารเสริมสุขภาพแทน เพราะไม่อยากโดนครหาว่า “ให้เหล้าเท่ากับแช่ง” เช่นเดียวกับการสูบบุหรี่ในร้านอาหารหรือตามท้องถนนสาธารณะ กลายเป็นเรื่องน่ารังเกียจ...

นอกจากต่อต้านเหล้าและบุหรี่แล้ว สสส.เริ่มขยับทำกิจกรรมอีกมากมายเพื่อส่งเสริมสุขภาวะของคนไทย เช่น อุบัติเหตุท้องถนน สุขภาพแรงงาน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ชุมชนเข้มแข็ง ส่งเสริมกิจกรรมพัฒนาสื่อมวลชน ฯลฯ

เมื่อจำนวนเม็ดเงินเข้ามาเกือบปีละ 3-4 พันล้านบาท ย่อมมีการขยายโครงการมากขึ้น ทำให้โดนตำหนิว่าไม่ได้ทำตามวัตถุประสงค์ของกองทุนอย่างแท้จริง เช่น การสนับสนุนงานสวดมนต์ข้ามปี การรณรงค์ความปลอดภัยทางถนน งานกิจกรรมด้านการเมือง ด้านสิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเม็ดเงินมากขึ้น ปัญหาการให้เงินและตรวจสอบการใช้เงินก็เริ่มมากขึ้นตามไปด้วย

“กลุ่มเฝ้าระวัง สสส.” หรือกลุ่มสนับสนุนคำสั่งของ คสช.ให้ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของ สสส. เพราะไม่เห็นด้วยกับการทำงานของ สสส.มานานแล้ว พร้อมวิเคราะห์ให้ฟังว่า ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา สสส.มีปัญหาในการทำงาน 3 ข้อใหญ่ด้วยกัน คือ

1.ปัญหาการให้เงินทุนทำกิจกรรม ส่วนใหญ่ให้พรรคพวกหมอหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เป็นเครือข่ายกลุ่มคนใน สสส.หรือกลุ่มหน้าเดิมๆ ที่เคยทำกิจกรรมกับ สสส.มาก่อน กลุ่มคนหน้าใหม่มักไม่ได้รับการสนับสนุน แม้ว่าเป็นโครงการที่ดีก็ตาม

2.ปัญหาการทำบัญชีระเบียบการเบิกจ่ายใช้เงินยุ่งยากซับซ้อน ทำให้กลุ่มชุมชนที่รับผิดชอบโครงการของ สสส.มีปัญหาหลังจากรับเงินมาทำกิจกรรมแล้ว และการประเมินโครงการไม่ได้วัดที่ผลประโยชน์ของชาวบ้านอย่างแท้จริง

3.ปัญหาการไม่ทำตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ เนื่องจาก สสส.เป็นหน่วยงานรัฐที่ต้องทำตามวัตถุประสงค์ 6 ข้อ ซึ่งกำหนดชัดเจนใน พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพฯ ดังนั้นจะมาตั้งวัตถุประสงค์หรือเปลี่ยนแปลงตามใจชอบของผู้บริหารไม่ได้

ด้าน “กลุ่มสนับสนุน สสส.” อธิบายถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่า การใช้จ่ายเงินเพื่อทำกิจกรรมของ สสส.แบ่งเป็น 2 ส่วนหลักด้วยกันคือ 1.“โครงการที่ สสส.รับผิดชอบ” ในแต่ละปีมีประมาณเกือบ 1,000 โครงการ และ2.โครงการที่ไปสนับสนุนพันธมิตรหรือเครือข่ายภาคประชาชนและหน่วยงานรัฐทั่วประเทศ ในส่วนนี้มีประมาณ 3-4 พันโครงการ

เมื่อเงินมีมากขึ้น โครงการก็หลากหลายมากมายตามไปด้วย แม้ตอนยื่นขอทำโครงการจะระบุวัตถุประสงค์ตรงกับ สสส. แต่พอกิจกรรมทำไปได้สักพัก ผู้ทำกิจกรรมอาจไม่ทำตามวัตถุประสงค์ก็ได้ ทำให้เกิดปัญหาหลายอย่าง แต่กิจกรรมเหล่านี้มีเพียงไม่กี่ร้อยโครงการจากทั้งหมด 4,000 กว่าโครงการ

ที่สำคัญคือ การสร้างเสริมสุขภาพไม่ได้หมายถึงเฉพาะสุขภาพร่างกาย แต่รวมถึงสุขภาพจิต หรือด้านจิตใจด้วย ส่วนเรื่องกิจกรรมการเมืองนั้น ต้องไปดูว่าเกี่ยวกับการส่งเสริมให้ชุมชนมีสุขภาพเข้มแข็งหรือไม่

ปัญหาการสนับสนุนเฉพาะ “พรรคพวกหน้าเดิมๆ” นั้น มีคำอธิบายว่า เพราะกลุ่มคนที่เคยทำมีผลงานดีและชัดเจน มีประโยชน์ต่อสังคม ประเมินผลสำเร็จของโครงการออกมาผ่านตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ถ้ากลุ่มนี้ยื่นเรื่องขอทุนทำเพิ่มในปีต่อไปก็คงไม่สามารถปฏิเสธได้ เพราะการหาพันธมิตรมาทำงานเพื่อสังคมอย่างจริงจังไม่ใช่เรื่องง่าย ขณะที่กลุ่มใหม่ที่ต้องการเงินไปทำกิจกรรมต้องผ่านการพิจารณาละเอียด เพราะเคยเจอปัญหาทำไปได้ครึ่งเดียวแล้วเลิกทำจำนวนมาก

นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องการทำบัญชีก็เป็นปัญหาใหญ่ สสส.มีคณะทำงานตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของทุกโครงการ ทำให้ต้องการเอกสารหลักฐานเบิกจ่ายเงินที่เชื่อถือได้ บางครั้งอาจสร้างความยุ่งยากให้แก่กลุ่มชาวบ้านที่มาร่วมงาน แต่ สสส.พยายามจัดอบรมให้ความรู้การทำบัญชีเป็นระยะๆ

ล่าสุด วันที่ 21 ตุลาคม 2558 กลุ่มเครือข่ายเอ็นจีโอ และเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน เช่น มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน โครงการฟื้นฟูคาบสมุทรสทิงพระ จ.สงขลา โครงการสื่อละครชุมชนสำหรับเด็ก-เยาวชน จ.เชียงใหม่ ฯลฯ ได้ออกแถลงการณ์ 5 ข้อสนับสนุนให้มีการตรวจสอบ สสส.อย่างเปิดเผย โปร่งใส ปราศจากการเลือกปฏิบัติ สรุปใจความได้ว่า

1.ขอให้กระบวนการตรวจสอบเปิดเผย โปร่งใส ตามหลักธรรมาภิบาล เปิดโอกาสให้ชี้แจงและสังคมมีส่วนร่วม ไม่เลือกปฏิบัติ

2.การวินิจฉัยว่า สสส.ได้ใช้จ่ายงบประมาณว่าผิดประเภทหรือวัตถุประสงค์หรือไม่ ต้องยึดถือตามเนื้อหากฎหมายที่กำหนด 6 ข้อไว้ชัดเจน

3.สสส.เป็นตัวอย่างที่องค์การระหว่างประเทศนำไปเป็นแบบอย่าง ควรที่สังคมไทยจะได้ขยายบทเรียนไปใช้กับการปฏิรูปด้านต่างๆ

4.ขอสนับสนุนให้ สสส.กระจายการใช้งบประมาณโดยคำนึงถึงการสร้างความเป็นธรรมและความยั่งยืนต่อสุขภาพของสังคม โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับประชาชนที่ด้อยโอกาส และเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดนโยบาย กระบวนการดำเนินการ และตรวจสอบมากขึ้น

5.การปฏิรูปประเทศต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่สิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการเกี่ยวกับ สสส.และอีกหลายกรณี กลับดำเนินไปในทิศทางตรงกันข้าม

ขณะนี้เครือข่ายภาคประชาชน ทั้ง “กลุ่มเฝ้าระวัง” กับ “กลุ่มสนับสนุน” กำลังจับตาดูว่า คณะทำงานที่ “คสช.” แต่งตั้งขึ้นมาตรวจสอบ “สสส.” นั้น ท้ายสุดจะสรุปผลตรวจสอบออกมาอย่างไร ?

(2 มุมวิวาทะ 'เอกซเรย์ สสส.' : โดย...ทีมข่าวรายงานพิเศษ)

วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม 2558

ขอบคุณแหล่งข้อมูล: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

คำสำคัญ: , คมชัดลึก

No comments:

Post a Comment