สวธ.จัดมหกรรมหมอลำ สืบสานวัฒนธรรม มรดกอีสาน : นิรชา ทูลประสิทธิ์รายงาน
ภายในงานมีการแสดงหมอลำของวงดนตรีหมอลำภายในท้องถิ่นและจังหวัดใกล้เคียงภายในภาคอีสาน นอกจากนั้นยังมีงานของดีบ้านฉัน ซึ่งจัดแสดงของขึ้นชื่อประจำจังหวัดและอำเภอนั้นๆ เพื่อเป็นการสานต่อและเพิ่มรายได้ให้แก่คนในท้องถิ่น มีการจัดเสวนามหกรรมหมอลำในหัวข้อต่างๆ เพื่อหาข้อแลกเปลี่ยนพูดคุยและหาทางออกแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นกับหมอลำในยุคสมัยนี้ ด้าน นันทิยา สว่างวุฒิธรรม อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า ต้องการให้คนในท้องถิ่นมีการซึมซับวัฒนธรรมประจำท้องถิ่นของตนเอง ให้เกิดความสนใจให้เห็นคุณค่าและภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ต้องการที่จะสนับสนุนและคงอยู่ของหมอลำ ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติเรา ปัจจุบันการแสดงพื้นบ้านอาจจะถูกรุกโดยสื่อเทคโนโลยีอยู่มาก และทำให้คนรุ่นใหม่ๆ ละเลยหรือลดความสนใจในการแสดงเหล่านี้ แต่เชื่อว่าการแสดงพื้นบ้านแต่ละอย่างก็มีเสน่ห์เฉพาะตัวแตกต่างกันออกไป หากมีการพัฒนาฟื้นฟูและปรับปรุงให้สอดคล้องกับยุคและสมัยก็จะสามารถเฟื่องฟูและสร้างรายได้ให้แก่คณะนักแสดงได้อีกครั้ง ที่สำคัญการแสดงพื้นบ้านจะเป็นเหมือนตัวแทนทางวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นและแสดงให้เห็นถึงมรดกภูมิปัญญาของบรรพบุรุษของเรา ซึ่งก็มีการปรับเปลี่ยนมาแล้วทุกยุคทุกสมัย อาจารย์ ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม ศิลปินแห่งชาติปี พ.ศ.2549 สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานในครั้งนี้ต้องขอขอบคุณกระทรวงวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านหมอลำและเห็นความสำคัญของการคงอยู่และสืบสานวัฒนธรรมประจำชาตินี้ต่อไป หมอลำเป็นการละเล่นที่จะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เมื่อก่อนการแสดงจะเน้นเนื้อหาสาระ บอกที่มาที่ไป ยุคหลังจะเน้นเรื่องความสนุกมากกว่าเนื้อหาสาระจะไม่ค่อยมี เน้นทางเร้าใจ เน้นทางสนุกสนาน สำหรับคนสมัยใหม่เชื่อว่าพวกเขาไม่ได้ละเลยหมอลำ แต่เขาต้องการที่จะรับวัฒนธรรมใหม่ๆ อยากลองสิ่งใหม่ๆ แต่พอถึงช่วงระยะเวลาหนึ่งพวกเขาก็จะกลับมาฟังหมอลำ และอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนสมัยใหม่ไม่สนใจหมอลำคือ การเรียนที่ยากและการฝึกฝนที่หนัก การที่คนคนหนึ่งจะเป็นหมอลำได้ต้องมีทั้งพรสวรรค์และพรแสวง เสียงต้องดีต้องมีการเอื้อนเสียงและลูกคอ ต้องขยันอดทนและต้องชอบ ถ้าไม่ชอบจะฝึกได้ไม่นาน หมอลำเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับลูกหลานชาวอีสานมานาน อยากจะให้คนรุ่นหลังสืบสานและสานต่อวัฒนธรรมนี้ให้คงอยู่ต่อไป “ถ้าใครเสียงดีก็มาสืบสานจรรโลงมาเรียนมาฝึกพ่อก็อยากจะให้ลูกมาฝึก พ่อฝึกให้ฟรีสอนให้ฟรี ถ้าลำไม่เป็นจริงๆ พ่ออยากให้ฟังให้ดูมากๆ ให้ศึกษามรดกของบ้านเรา ให้อนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่กับเราต่อไป” ป.ฉลาดน้อย กล่าว ในขณะเดียวกันหมอลำก็ได้รับความสนใจจากคนสมัยใหม่อยู่ไม่น้อย วัดได้จากการเลือกเรียนในคณะที่เกี่ยวกับการแสดงพื้นบ้านและหมอลำตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เปิดสอนทั่วประเทศ “ด.ญ.เสาวลักษณ์ สีแล” ชั้น ม.3 โรงเรียนบรบือวิทยาคาร บอกว่า ที่สนใจหมอลำ เพราะได้ยินยาย ได้ยินผู้เฒ่าผู้แก่ที่หมู่บ้านลำ แล้วรู้สึกว่าเพราะดี ฟังแล้วมีความสุข แล้วก็อยากจะอนุรักษ์ไว้ ููเริ่มหัดลำตั้งแต่ ม.1 โดยเรียนกับแม่บัวผัน ดาวคะนอง การเรียนลำต้องมีใจรักจริงๆ กว่าจะลำเป็นต้องหัด ต้องฝึก ต้องจำกลอนลำ ต้องหาประสบการณ์อยู่เสมอ ก็อยากที่จะให้ช่วยกันอนุรักษ์ไว้ ช่วยกันสืบสานภูมิปัญญาอีสานไว้ให้ได้ ถ้าเยาวชนทุกคนสนใจในสิ่งนี้ คิดว่าหมอลำคงจะอยู่คู่อีสานไปอีกนาน ปัจจุบันเสาวลักษณ์อยู่วงโปงลางคองอีสาน โรงเรียนบรบือวิทยาคาร มีครูคุมวงรับงานให้ ทำให้มีรายได้ ณรงค์ สุปันบุตร หรือ ณรงค์ ดวงสมพงษ์ นักแสดงหมอลำคณะดวงสมพงษ์ และนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ได้กล่าวว่า ถึงจะไม่ได้ศึกษาหรือเรียนคณะที่เกี่ยวกับหมอลำโดยตรง แต่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ก็มีนักศึกษาที่เรียนคณะนี้อยู่เยอะ คนรุ่นใหม่ในภาคอีสานยังให้ความสนใจหมอลำอยู่ ในส่วนของตนจะเป็นหมอลำกลอนประยุกต์และหมอลำเรื่องต่อกลอน ที่สนใจการแสดงหมอลำ เพราะทางครอบครัวเป็นนักแสดงหมอลำมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ประกอบกับตนเองมีความสนใจและชื่นชอบหมอลำอยู่แล้ว และได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กทำให้ตัดสินใจไม่ยากที่จะแสดงหมอลำ “เยาวชนรุ่นผมยังมีความสนใจในหมอลำอยู่ค่อนข้างเยอะครับ ไม่ว่าจะเป็นมัธยมหรือประถม บางคนก็จะมีการปลูกฝังมาตั้งแต่ประถมจนถึงมัธยมศึกษา ทำให้หมอลำยังได้รับความสนใจและยังเป็นที่ชื่นชอบของคนในสมัยนี้อยู่ บางคนชอบดูแต่ไม่สามารถร้องหรือแสดงได้ หรือบางคนที่ชอบและเลือกที่จะฝึกปฏิบัติก็สามารถเป็นนักร้องหรือนักแสดงหมอลำได้เลยในอนาคต ผมเชื่อว่าเราจะสามารถและรักษาศิลปะการแสดงหมอลำได้ต่อไปอีกเรื่อยๆ ครับ” ณรงค์ กล่าว สำหรับใครที่สนใจการแสดงหมอลำและจ้างงานคณะดวงสมพงษ์ สามารถติดต่อได้ที่ 08-9842-9958 หรือ 08-2110-9820
วันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม 2558
ขอบคุณแหล่งข้อมูล: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
คำสำคัญ: , คมชัดลึก
No comments:
Post a Comment