(๑๓ ส.ค.๕๘) พลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ลงพื้นที่ติดตามการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ณ จังหวัดสุโขทัย พร้อมทั้งเข้าสักการะอนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช จากนั้นเข้าชมนิทรรศการและตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ตามแนวพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ของโรงเรียนบ้านเมืองเก่า "ศรีอินทราทิตย์" สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุโขทัย เขต 1
ปัจจุบัน นายสุทธิชัย เข็มคง ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเมืองเก่า "ศรีอินทราทิตย์" มีเนื้อที่ 37 ไร่ 6 ตารางวา ตั้งอยู่ หมู่ 3 ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย จัดรูปแบบการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นปฐมวัยถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และห้องเรียนคู่ขนานสำหรับบุคคลออทิสติก มีนักเรียนจำนวน ๖๓๒ คน ครูจำนวน ๓๕ คน และบุคลากรอื่นจำนวน ๑๓ คน มีเขตพื้นที่ให้บริการรับนักเรียนในตำบลเมืองเก่า หมู่ 3 และหมู่ 10 อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย โรงเรียนบ้านเมืองเก่า "ศรีอินทราทิตย์" มุ่งสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็น "โรงเรียนดีใกล้บ้าน" ภายใต้วิสัยทัศน์การจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ สร้างผู้นำสังคม คุณธรรม นำความรู้ ก้าวนำวิชาการ และเทคโนโลยี มีความสุขบนพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียง และนิยมความเป็นไทย และดำเนินงานจัดการศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้ประชากรวัยเรียนทุกคน ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ มีความรู้ความสามารถ เป็นคนดีของสังคม ดังนั้นผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา จึงร่วมมือกันประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี และจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ความสำนึกเป็นไทย ศึกษาประวัติศาสตร์ ชาติไทย และวิถีชีวิตตามหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
สืบเนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำหนดให้เดือนสิงหาคม เป็นเดือนแห่งการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ตามแนวพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ และมีนโยบายในการขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ฯ ด้วยการจัดกิจกรรมผ่านแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น ซึ่งโรงเรียนบ้านเมืองเก่า "ศรีอินทราทิตย์" ได้มีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาการเรียนรู้ประวัติศาสตร์สุโขทัย เพื่อให้ผู้เรียนเข้ามาศึกษาหลักสูตรการเรียนรู้ 5 หลักสูตร ได้แก่ ๑) การเรียนรู้การเขียนลายสังคโลก ๒) การพิมพ์พระเครื่อง ๓) การอ่าน การเขียนลายสือไทย ๔) การวาดภาพระบายสีโบราณสถานโบราณวัตถุสุโขทัย และ ๕) ผู้เฒ่าเล่า ผู้เยาว์เขียน โดยศูนย์พัฒนาการเรียนรู้ประวัติศาสตร์สุโขทัย เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ศึกษาเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมและลงมือทำ เพื่อให้เกิดกระบวนการการเรียนรู้อย่างแท้จริง
นอกจากนั้น ยังจัดให้มีโครงการฝึกอบรมวิทยากรท้องถิ่นรุ่นเยาว์ (มัคคุเทศก์น้อย) "ศรีอินทราทิตย์" โดยได้จัดกิจกรรมไปเมื่อวันที่ 8 – 9 กรกฎาคม 2558 เพื่อปลูกฝังให้นักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา มีความรู้ในด้านประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น สิ่งแวดล้อม แหล่งท่องเที่ยว และมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของอาณาจักรสุโขทัย เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปสื่อสาร แนะนำ และอธิบายให้นักท่องเที่ยวทราบถึงคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่น ซึ่งเป็นผลิตผลทางประวัติศาสตร์ของชาวสุโขทัยในอดีต และที่สำคัญคือ เป็นการร่วมมือกันระหว่างโรงเรียนกับชุมชน ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในการประกอบอาชีพที่ยั่งยืนและมั่นคง โดยการฝึกอบรมดังกล่าวได้รับความอนุเคราะห์จากคณะวิทยากรที่มีความรู้ ความสามารถในแต่ละสาขาวิชาชีพ อาทิ คุณประโชติ สังขนุกิจ อดีตผู้อำนวยการสำนักโบราณคดี และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร คุณนงคราญ สุขสม ผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย คุณชัยวัฒน์ ทองศักดิ์ เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง และสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสุโขทัย ทั้งยังจัดการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนศึกษาจากแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน ศึกษาประวัติความเป็นมา รากเหง้าของตนเองผ่านชุมชน วัด ตลาด วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี และอาชีพ เพื่อปลูกฝังในนักเรียนเห็นความสำคัญของศิลปวัฒนธรรมที่มีในท้องถิ่น มีความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ และมีความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนเอง
การดำเนินการของโรงเรียนบ้านเมืองเก่า "ศรีอินทราทิตย์" รวมถึงการสนับสนุนจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุโขทัย เขต 1 และชุมชน อย่างเข้มแข็ง เป็นต้นแบบที่ดีในการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ และการปลูกฝังสำนึกความเป็นไทยให้แก่ทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของประเทศ คือ เด็กและเยาวชน ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญที่จะนำสู่ความเข้มแข็งของประเทศชาติ ตอบสนองเจตนารมณ์ของรัฐบาล คือ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ต่อไป รมช.ศธ.กล่าว
13 สิงหาคม 2558
ขอบคุณแหล่งข้อมูล: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
คำสำคัญ: , สพฐ., ประเพณี, ความรู้, สุโขทัย, รัฐมนตรี, ท้องถิ่น, มัธยมศึกษา, ประถมศึกษา, ประสิทธิภาพ, เศรษฐกิจพอเพียง
No comments:
Post a Comment