"วิษณุ" ขอเวลาพิจารณาเรื่องตรวจสอบ สธ. ยอมรับว่าลำบาก เพราะมีแต่คนดี สวน "วิรัตน์" เสนอใช้ ม.44 ออก ก.ม.นิรโทษ ไม่จำเป็นต้องแก้ "รธน.ชั่วคราว" อีก
6 ก.ค. 58 เมื่อเวลา 11.40 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัญหาภายในกระทรวงสาธารณสุข ทั้งกรณีการตรวจสอบสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และมีคำสั่งโยกย้ายเลขาธิการ สปสช. ว่า เรื่องนี้มีกรรมการที่ตรวจสอบหลายชุด และความเห็นยังไม่ตรงกัน จึงให้ตนช่วยดูว่าความเห็นแต่ละอย่างขัดแย้งกันอย่างไร และเพิ่งเห็นเอกสารเมื่อช่วงเช้าวันนี้ (6 ก.ค.) จึงต้องใช้เวลาตรวจสอบสักระยะ
เมื่อถามว่า ปัญหาต่างๆ จะจบลงด้วยดีหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ดีกับอีกฝ่าย แต่อาจจะไม่ดีกับอีกฝ่ายก็ได้ แต่จะให้ดีทั้งสองฝ่ายนั้นคงยาก ขอเวลาดูก่อน เพราะเป็นคนดีๆ ทั้งนั้น ยอมรับว่าลำบาก และกระทรวงนี้เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว
สวน 'วิรัตน์' เสนอใช้ ม.44 ออก ก.ม.นิรโทษ
นายวิษณุ กล่างถึงกรณี นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 44 ตั้งคณะกรรมาธิการในส่วนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อศึกษากฎหมายในการนิรโทษกรรมหาแนวทางและผลสรุป แล้วเสนอ คสช.และหาก คสช.เห็นด้วย ก็สามารถออกประกาศเป็นกฎหมายใช้อำนาจตามมาตรา 44 ได้ เพื่อความรวดเร็ว ว่า การจะใช้มาตรา 44 หรือพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) หรือพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ออกกฎหมายนิรโทษกรรม เป็นเพียงวิธีการเท่านั้น แต่ก่อนจะถึงวิธีการเราต้องคำนึงถึง 1. ความจำเป็นว่าทำไมเราต้องทำ จำเป็นมากน้อยแค่ไหน 2. ในขั้นนโยบายว่าอยากจะทำหรือไม่ และ 3. ผลกระทบที่จะตามมา หากทำ เหตุผลที่เราต้องคำนึงเบื้องต้น 3 ข้อนี้ ต้องมาก่อนวิธีการทั้งหมด
"หาก 3 ข้อนี้ยังไม่ตกผลึก อย่าเพิ่งมาพูดกับรัฐบาล จะดีกว่า อย่าเพิ่งมาเถียงกันว่าใช้มาตรา 44 เร็วกว่าออก พ.ร.บ.นั่นเป็นความจริง ผมไม่ได้ว่าอะไร แต่พวกคุณพูดกันหรือยังว่า ผลกระทบจะไม่ทำให้คนออกมาชุลมุนวุ่นวายกัน พูดกันหรือยังว่า มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน หรือพูดกันหรือยังว่า มีนโยบายจะเอาแน่ๆ ถ้าคุณยังไม่ตกผลึกสามอย่างนี้ อย่าเพิ่งมาพูดว่าให้รัฐบาลทำ ซึ่งเท่าที่ทราบ รัฐบาลยังไม่เคยพูดถึงข้อคำนึง 3 ข้อนี้เลย เพียงแต่รู้จากสื่อแล้วพูดคุยกันเท่านั้น"
เผยไม่จำเป็นต้องแก้ 'รธน.ชั่วคราว' อีก
นายวิษณุ กล่าวถึงกรณีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ระบุว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่มีอยู่ หากจะทำให้การปฏิรูปสำเร็จนั้น ต้องมีการปรับแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว อีกครั้ง ว่า ตนเคยหารือเกี่ยวกับความคิดนี้กับนายเทียนฉาย มานาน 1 ปีแล้ว ตั้งแต่ตั้ง สปช.ใหม่ๆ แต่ยังมองไม่เห็นว่า จะต้องทำอย่างเร่งด่วนอะไร ตนมองว่า เรายังสามารถปฏิรูปประเทศตามช่องทางปกติได้ แต่หากถึงจุดหนึ่งที่จำเป็น ก็คงต้องทำ ยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาบีบให้ต้องปฏิรูป ปล่อยให้เป็นไปตามความสมัครใจของผู้ที่เกี่ยวข้องดีกว่า ส่วนกรณีที่รัฐบาลส่งคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญไปยังกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ นั้น ทาง กมธ.ยกร่างฯ ก็ปรับแก้ให้พอสมควร ส่วนประเด็นที่ไม่แก้ให้รัฐบาลก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะเข้าใจว่า กมธ.ยกร่างฯ ต้องรับฟังความเห็นจากหลายฝ่ายจะฟังแต่รัฐบาลอย่างเดียวก็ไม่ได้ แต่เขาอาจจะฟังมากกว่าฝ่ายอื่นเพราะข้อแก้ไขที่ส่งไปจากรัฐบาลมาจากหลายฝ่าย หลายองค์กรดูเป็นข้อแก้ไขที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ เนื่องจากมีหลายองค์กรคัดกรองมาแล้ว
เล็งคุย สปช.แจงกรอบ-วิธีการ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
นายวิษณุ กล่าวถึงการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ว่า เรื่องนี้มีการพูดคุยสืบเนื่องมาจากการประชุม ครม.เศรษฐกิจ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เรียกตนไปพูดคุยในเรื่องดังกล่าว จากนั้นได้นำไปหารือในการประชุม ครม.สัญจรที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งก่อนหน้านั้นมีการตั้งคณะกรรมการที่มีเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและมีคณะทำงานยกร่าง เพื่อรวบรวมความเห็นจากทั้ง สปช.และที่มีการเสนอจากหน่วยงานต่างๆ เข้ามา จากนี้ตนจะประสานไปยังสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อขอหารือเรื่องดังกล่าวในเบื้องต้น ว่าจะทำอย่างไรกับช่วงเวลาการทำงานที่เหลืออยู่เพื่อให้ทราบจุดประสงค์ของรัฐบาลและนำข้อเสนอที่ สปช.หารือมาพูดคุยเพื่อตั้งหลัก จะพูดถึงวิธีการที่จะปฏิรูปในด้านต่างๆ โดยจะเลือกเรื่องที่สำคัญในเวลาที่จำกัด 2 - 3 เรื่องมาหารือว่าจะทำอย่างไรโดยยังไม่ลงรายละเอียดเนื้อหา และภายในไม่กี่วันนี้จะไปพบกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อหารือในเรื่องนี้ เพื่อตกลงกติกา วิธีการ ส่วนเนื้อหาต้องรอจากกรรมการยุทธศาสตร์ที่จะไปรวบรวมมาก่อน และในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เขียนระบุว่า ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลจะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ก่อนหน้านั้นไม่มีกำหนดว่าต้องปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติ แต่จากนี้ต่อไปต้องมีและต้องทำให้ชัดเจนว่าคืออะไร โดยแผนดังกล่าวจะมีแผนความมั่นคง แผนการศึกษา แผนการพัฒนาเศรษฐกิจ ฯลฯ ซึ่งจะไม่ซ้ำซ้อนกับแผนพัฒนาประเทศซึ่งเป็นแผนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ชาติ
นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจเพราะหากไม่ทำความเข้าใจอาจจะเข้าใจผิดได้ เพราะเข้าใจผิดมาเกือบปี และย้ำว่าไม่เกี่ยวกับการสืบทอดอำนาจ เพราะไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลเมื่อมีกรอบก็ต้องทำ รัฐธรรมนูญหมวด 5 เขียนเรื่องแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐระบุว่ารัฐต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ และทุกรัฐบาลต้องทำตามหากไม่ทำอาจถูกตั้งกระทู้อภิปรายไม่ไว้วางใจ และสิ้นปีต้องอธิบายว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ แต่ก็ไม่รู้สึกว่าเป็นกรอบที่บีบรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่รู้สึกว่าโดดบีบ เช่นเดียวกันกรอบการปฏิรูปอาจจะเป็นรูปแบบเดียวกับนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ตนจึงไม่คิดว่าจะทำให้รู้สึกเกิดความขัดแย้งอะไร แม้บางครั้งแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐเขียนกำหนดไว้จนรู้สึกอึดอัด และตนเคยเป็นรัฐบาลที่เจอกับกรอบดังกล่าวมาแล้วและรู้สึกอึดอัดแต่ก็ปฏิบัติตามไม่มีปัญหาอะไร
เมื่อถามว่า ยุทธศาสตร์ดังกล่าว จะเป็นแนวทางให้รัฐบาลต่อไปที่มาจากการเลือกตั้งดำเนินการตามหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เราตั้งใจจะให้เป็นอย่างนั้นแต่ยังคิดรูปแบบไม่ออกเพราะต้องเคารพรัฐบาลที่มาจากเลือกตั้ง ที่เขาอาจจะกำหนดรูปแบบแนวทางการปฏิรูปของเขาเอง แต่เราต้องคิดกรอบไว้ก่อนว่าจะทำอย่างไร ให้นึกถึงเวลาที่จัดทำแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เป็นแผนในการบริหารงานและรัฐบาลที่เข้ามาก็จะปฏิบัติตามแผนนั้นโดยที่ไม่ได้เป็นคนทำแผน แต่เขาสามารถปรับเปลี่ยนแผนและเคยมีการปรับมาแล้ว เช่นเดียวกันที่ครั้งนี้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กำลังจะทำ อย่าเพิ่งไปถือสาว่าทำไมจะต้องทำตามแผนที่รัฐบาลนี้กำหนดไว้ เพราะแผนของรัฐบาลที่มาจากทั้ง คสช. รัฐบาล สปช.และมาจากการรับฟังความเห็นที่ตกผลึกแล้ว ซึ่งคล้ายกับแผนของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจฯ ที่เมื่อกำหนดออกมาเราก็ไม่เคยนึกว่าเป็นของรัฐบาลใด เพราะเขาต้องมีการรับฟังความคิดเห็นมาแล้ว ทั้งนี้ยืนยันว่ารัฐบาลต่อไปสามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขแผนยุทธศาสตร์ชาติได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า หน่วยงานใดที่จะเข้ามากำกับดูแล จะเป็นสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เวลาพูดถึงยุทธศาสตร์ชาติจะมีแผนความมั่นคงรวมอยู่ด้วยและที่จริงแผนพัฒนาการเศรษฐกิจฯก็เป็นยุทธศาสตร์ชาติชนิดหนึ่งที่มีแผนความมั่นค งซึ่งเรื่องนี้ทางสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นฝ่ายเลขาฯ แต่ละแผนก็จะมีหน่วยงานกลางเป็นเจ้าของเรื่อง เช่น แผนพัฒนาการเศรษฐกิจ จะมีสภาพัฒน์ฯ รับผิดชอบ แผนการศึกษา จะมีสภาการศึกษา แผนพัฒนาระบบราชการจะมี ก.พ.ร. รับผิดชอบ ทั้งนี้เวลานี้ยังคิดไม่ออกว่าจะอยู่ภายใต้กำกับของใคร ซึ่งรัฐบาลยังต้องปฏิบัติตามเท่านั้น และสภาฯ อาจต้องออกกฎหมายให้อยู่ในกรอบดังกล่าว ถ้าอะไรที่อยู่ในกรอบต้องทำตามอะไรที่ไม่ระบุไว้สามารถไปทำเองได้ ฉะนั้นสภาคงเป็นตัวหลักในการดูแล เพราะสภาฯ ควบคุมรัฐบาล คือ ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินในวันนี้
วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม 2558
ขอบคุณแหล่งข้อมูล: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
คำสำคัญ: , คมชัดลึก
No comments:
Post a Comment