Monday, July 20, 2015

“บุญห่วง ภัทรเชาว์ ผอ.วิทยฐานะเชี่ยวชาญ” ก่อนถึงเส้นชัยในวันเกษียณ ตุลาคม ๒๕๕๘

"บุญห่วง ภัทรเชาว์ ผอ.วิทยฐานะเชี่ยวชาญ" ก่อนถึงเส้นชัยในวันเกษียณ ตุลาคม 2558 ขนิษฐา เครือจักร์

^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^

ในวันที่อากาศสบายๆ อย่างบ่ายแก่ๆ ของวันเสาร์ หลังจากไม่เจอกันมานาน เกือบสามปี แต่ก็ได้รับข่าวคราวความเคลื่อนไหวของท่านรวมถึงได้ชื่นชมผลงานของท่านมาตลอดระยะเวลาที่ไม่ได้เจอกันและที่สำคัญสุด คืออดที่ตื่นเต้นและยินดีกับท่านไม่ได้ เมื่อ มติในที่ประชุม ก.ค.ศ.ในการประชุม อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเกี่ยวกับวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2558 ได้มีมติอนุมัติให้ "นายบุญห่วง ภัทรเชาว์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านดู่ (สหราษฎร์พัฒนาคาร) ผ่านการประเมินให้เลื่อนวิทยฐานะเป็นผู้อำนวยการเชี่ยวชาญ คนแรกของ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 1 (http://www.moe.go.th) และในฐานะที่ปรึกษากองบรรณาธิการวารสารครูเชียงราย อดีตหัวหน้ากองบรรณาธิการวารสารครูเชียงราย เมื่อมีโอกาสได้นั่งคุยกับท่านพร้อมจิบโกโก้ปั่นเย็นๆ จึงอดไม่ได้ที่จะนำบทสนทนานั้นมาบอกเล่าต่อ

บุญห่วง ภัทรเชาว์ เล่าว่า "ผมเกิดเมื่อ วันที่ 1 มิถุนายน 2598 ณ บ้านก๋ง ตำบลยม อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน บรรจุเข้ารับราชการตำแหน่งครูตรี วุฒิ ป.กศ.สูง ขั้น 1,375 บาท เมื่อ วันที่ 11 กรกฎาคม 2518 ที่โรงเรียนบ้านงิ้วป่าไผ่ อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ปี 2537 การศึกษาสูงสุด คือ ปริญญาโท บริหารการศึกษา (คม.)จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เข้าสู่สายผู้บริหารสถานศึกษา ตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ จนถึงปัจจุบัน คือ ผู้อำนวยการวิทยฐานะเชี่ยวชาญโรงเรียนบ้านดู่ (สหราษฎร์พัฒนาคาร) สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 รวมเวลาราชการ 41 ปี โดยมี ครูภิรมย์ ภัทรเชาว์ ข้าราชการการครู วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ โรงเรียนอนุบาลนางแล เป็นคู่คิดคู่สร้าง และมีลูกสาวคนเก่ง คือ นางสาวบุษราภรณ์ ภัทรเชาว์ ข้าราชการสำนักงานวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติแคนาดา และลูกชายคนเล็กนายภานุพงศ์ ภัทรเชาว์ ขณะนี้ทำงานบริษัทเอกชน กทม. ทั้งสองคนเรียนจบปริญญาโทจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นพลังกาย พลังใจ"

บุญห่วง ภัทรเชาว์ มีผลแห่งความภาคภูมิใจในงานที่รัก คือ

- รางวัลผู้บริหารโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา ขนาดเล็ก จากสำนักงานการประถมศึกษากิ่งอำเภอดอยหลวงขณะดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนบ้านห้วยไร่ ปี 2542, โล่รางวัลหนึ่งโรงเรียนหนึ่งนวัตกรรม(OSOI) ระดับเหรียญทอง จากคุรุสภา ด้านกระบวนการเรียนการสอน โครงงานแก๊สชีวภาพจากมูลช้าง โรงเรียนบ้านรวมมิตรปี 2548, โล่รางวัลหนึ่งโรงเรียนหนึ่งนวัตกรรม(OSOI) ระดับเหรียญทอง จากคุรุสภา ด้านสื่อและเทคโนโลยีทางการศึกษา โครงงานประดิษฐ์สื่อการเรียนการสอนจากเศษวัสดุ โรงเรียนบ้านสันโค้ง (เชียงรายจรูญราษฎร์) ปี 2551, เกียรติบัตรรางวัลสถานศึกษาแบบอย่างการจัดกระบวนการเรียนการสอนและการบริหารจัดการ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปี 2552 "สถานศึกษาพอเพียง 42" โรงเรียนบ้านดู่ (สหราษฎร์พัฒนาคาร)จากกระทรวงศึกษาธิการ, โล่รางวัล โรงเรียนต้นแบบการจัดการเรียนรู้การสหกรณ์ ประจำปี 2554 จากกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประจำปี 2554, โล่รางวัล "เสมา ป.ป.ส.ระดับดีเด่น" โครงการสถานศึกษาป้องกันยาเสพติดดีเด่น ประจำปี 2554 โรงเรียนบ้านดู่ (สหราษฎร์พัฒนาคาร) จากศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด กระทรวงศึกษาธิการ, เกียรติบัตรรางวัลผู้บังคับบัญชาลูกเสือดีเด่น ประเภทผู้บริหาร จากสำนักงานลูกเสือแห่งชาติประจำปี2555, โล่รางวัลสถานศึกษาต้นแบบ โครงการโรงเรียนดีศรีตำบล (รุ่นที่ 1) ปี 2555จากกกระทรวงศึกษาธิการ, โล่รางวัลสถานศึกษาสีขาว ปลอดยาเสพติดและอบายมุข ประจำปี 2556 จากกระทรวงศึกษาธิการ, โล่รางวัล สถานศึกษาที่มีผลการดำเนินงาน ด้านการป้องกัน แก้ไขและเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดดีเด่น ปี 2557 จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, โล่รางวัลหนึ่งโรงเรียนหนึ่งนวัตกรรม(OSOI) ระดับเหรียญเงิน จากคุรุสภา ด้านการบริหารและการจัดการศึกษา และ "โครงการตาสับปะรด" เพื่อการดูแลและช่วยเหลือนักเรียนปลอดยาเสพติดอย่างยั่งยืน โรงเรียนบ้านดู่(สหราษฎร์พัฒนาคาร)ปี 2557

นพรัตน์ อู่ทอง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงราย เขต 1 เคยพูด

ถึง บุญห่วง ภัทรเชาว์ ในฐานะผู้บังคับบัญชาไว้ในโอกาสหนึ่งว่า " ท่านบุญห่วง ภัทรเชาว์ เป็นบุคคลที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจในการทำงาน โรงเรียนของท่านได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนเขตพื้นที่ไปประกวด แข่งขันในระดับต่างๆ สร้างความภาคภูมิใจมาให้พวกเราก็มากมายหลายครั้ง โดยเฉพาะครั้งล่าสุดที่ท่านได้รับการประเมินให้ได้เลื่อนวิทยฐานะเป็น ผู้อำนวยการเชี่ยวชาญ ย่อมแสดงให้เห็นแล้วว่า การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียนของท่านเป็นที่ประจักษ์และชัดเจน ว่า ท่านเป็นผู้บริหารการเรียนการสอนอย่างผู้บริหารมืออาชีพ"

กับคำถามที่ว่า รางวัลหรือกำลังใจที่ได้รับมาทั้งหมดทั้งจากส่วนราชการ ภาคเอกชน

องค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ จากผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงานและน้องๆ ที่ทำงานร่วมกันมาตลอดการรับราชการ ท่านภาคภูมิใจในรางวัลไหนมากที่สุด บุญห่วง ตอบว่า "ทุกรางวัลเป็นที่สุดแห่งความภาคภูมิใจครับ เพราะได้มาด้วยการทุ่มเท ความร่วมมือ ความสามัคคีของคณะครู นักเรียนและได้โอกาสดีๆ จาก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 1 แต่ที่จะเป็นประโยชน์กับผู้บริหารรุ่นต่อไปคือ การขอรับการประเมินให้มีวิทยฐานะเชี่ยวชาญ เมื่อปี 2556 ก.ค.ศ.เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีผลงานระดับประเทศย้อนหลัง 3 ปี สามารถขอรับการประเมินเพื่อเลื่อนวิทยฐานะได้ จากนั้นก็รวบรวมผลงานและจัดทำเอกสารตามเกณฑ์ และขอรับการการประเมิน 6 ขั้นตอนเริ่มตั้งแต่ อ.ก.ค.ศ..เขตพื้นที่ สพฐ., ก.ค.ศ.. คณะกรรมการที่ ก.ค.ศ.แต่งตั้งประเมินสภาพจริงและติดตามตรวจสอบการพัฒนางานตามข้อตกลง จากนั้นจึงก็นำเสนอคณะกรรมการวิทยฐานะ กระบวนการสุดท้าย คือ ก.ค.ศ.พิจารณาอนุมัติ ถามว่าแต่ละขั้นตอนยากง่ายแค่ไหน จะบอกว่ายากก็ยาก จะบอกว่าไม่ยากก็ไม่ยาก ที่สำคัญคนที่จะขอรับการประเมิน ต้องลงมือทำจริงและเก็บร่องรอยการทำงานทุกขั้นตอน ทุกกระบวนการ เมื่อเราขอรับการประเมินทั้งเอกสารและการประเมินส่วนอื่น เราถึงจะตอบคณะกรรมการได้ทุกขั้นตอน ซึ่งขณะนี้ ก.ค.ศ.ยังเปิดโอกาสให้เพื่อนครูที่มีผลงานย้อนหลัง 3 ปี ตามเกณฑ์ ว.13 หรือเชิงประจักษ์ สามารถส่งคำขอเพื่อรับการประเมินครั้งสุดท้ายภายในเดือนธันวาคม 2558 นี้ ขณะเดียวกัน ก.ค.ศ.ก็เปิดโอกาสให้มีการส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรให้คุณครูส่งคำขอเพื่อขอรับการประเมินแบบใหม่ ว.7/2558 คือการประเมินผลงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตามข้อตกลงในการพัฒนางาน(Performance Agreement :PA) ส่วนคุณครูที่จะส่งเกณฑ์เชิงประจักษ์ในเดือนธันวาคมที่จะถึงควรศึกษาเกณฑ์ให้ละเอียด ส่งรายงานตามแบบ ก.ค.ศ.1, ก.ค.ศ.2 และ ก.ค.ศ.3 และต้องนำเสนอข้อตกลงในการพัฒนางาน (MOU) ที่เป็นการพัฒนางานต่อยอดรางวัลที่ตนเองภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยผ่านความเห็นชอบของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ครับ"

ผอ.บุญห่วง ภัทรเชาว์ บอกว่า ตลอดระยะเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เป็นครูสายผู้สอน จนปัจจุบัน คือผู้อำนวยการวิทยฐาะนเชี่ยวชาญ ในฐานะลูกน้องที่ดี ลูกพี่ที่น่ารัก จนถึงเวลานี้ เหลือเวลาไม่ถึง 3 เดือนท่านก็จะเกษียณอายุราชการ ดังนี้ค่ะ " คิดดี ทำดี พูดดี ได้ดี ผมเชื่อและปฏิบัติมาโดยตลอด คิดดีคือการคิดบวกกับทุกคนทุกเรื่อง และคิดเชิงสร้างสรรค์ คิดหาวิธีพัฒนาให้ดีกว่าเดิมทำดีคือมุ่งมั่นทำงานตามบทบาทหน้าที่ให้ดีที่สุด ทำด้วยใจ ทุ่มเทเวลา ทำให้ดีกว่าเมื่อวาน ทำเป็นตัวอย่างให้ผู้ร่วมงานเห็นและทำตามโดยไม่ต้องใช้คำสั่ง พูดดีคือพูดสุภาพ มีเหตุผล พูดติดตลก พูดให้คิด และเชื่อว่าผลดีจะตอบสนองเราไม่เร็วก็ช้า อีกอย่างหนึ่งที่ผมเชื่อและคอยบอกเล่าน้องๆมาโดยตลอดคือ อาชีพครูเป็นอาชีพที่ทำบุญได้ทุกวัน ทุกเวลา ทำบูญได้โดยไม่ต้องใช้เงิน แถมมีรายได้จากการทำบุญอีก เวลาที่ครูสอนนักเรียนครูจะได้บุญกุศล แต่เมื่อใดครูทิ้งห้องเรียน ไม่สอนเด็กครูจะได้บาปทันที ยิ่งใครในสายงานบริหารไม่อยู่โรงเรียนยิ่งบาปหนัก"

บรรยากาศการพูดคุยแบบพี่และน้อง เริ่มต้นที่โกโก้ปั่นเย็นๆ ในบ่ายวันเสาร์แก่ๆ จนแสงไฟเริ่มเป็นสีเขียว สีแดง กระพริบระยิบระยับ บรรยากาศอันชื่นมื่นมากๆ คงไม่แปลกที่ท้ายสุดก่อนจากกันวันนั้น เราจะจบด้วยเครื่องดื่มสีชาจางๆ กับน้ำแข็งเย็นๆ ....

20 กรกฎาคม 2558

ขอบคุณแหล่งข้อมูล: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ

คำสำคัญ: , สพฐ., น่าน, เกษตร, เชียงราย, มัธยมศึกษา, ประถมศึกษา, มหาวิทยาลัย, วิทยาศาสตร์, สื่อการเรียน, เศรษฐกิจพอเพียง, สื่อการเรียนการสอน, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

No comments:

Post a Comment