ลากตั้งคณบดี"เกษตรเจ้าคุณฯ"เผือกร้อนๆ"รก.อธิการบดีสจล."ป้ายแดง : กมลทิพย์ ใบเงิน รายงาน
กรณีเงินคงคลังหายไปกว่า 1,600 ล้านบาท ยังไม่จางหายไปจากรั้วสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ก็เกิดคุกรุ่นขึ้นมาอีก กรณีการสรรหาคณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร สจล. “เกษตรเจ้าคุณฯ” แทนคณบดีคนเก่าที่หมดวาระไป (เป็นครบ 2 สมัย) โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน 2558 มีการให้แสดงนโยบายและวิสัยทัศน์แก่บุคลากรในคณะ และหยั่งเสียงลงคะแนนของผู้สมัคร 3 ท่าน ผลปรากฏว่า เอ : 77 คะแนน บี : 27 คะแนน ซี : 11 คะแนน ไม่ประสงค์ลงคะแนน : 10 คะแนน บัตรเสีย : 4 คะแนน มีผู้มาใช้สิทธิ 129 คน คิดเป็น 60% ของผู้มีสิทธิลงคะแนน
ผลปรากฏว่าเสียงจากคนในคณะให้ผู้สมัคร เอ จะชนะขาดลอย ห่างกัน 50 คะแนน หรือเกือบ 3 เท่า กรรมการสรรหาได้ทำเรื่องเสนอ 2 คนแรกไปสู่สภา สจล. เพื่อให้กรรมการสภาลงคะแนนคัดเลือกในขั้นตอนต่อไป ซึ่งผลการประชุมกรรมการสภา สจล.เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2558 ปรากฏว่าผู้สมัคร บี ได้รับเลือกจากกรรมการสภาด้วย 10 ต่อ 3 เสียง
“การที่กรรมการสภา สจล.ไม่รับเสียงเลือกจากประชาคมคณะเทคโนโลยีการเกษตร แสดงให้เห็นถึงการไม่สนใจประเด็นที่คนในคณะได้เลือกผู้นำของเขาแล้วด้วยคะแนนถึง 77 ต่อ 27 และไม่ให้เกียรติผู้ร่วมงานจากคณะเทคโนโลยีการเกษตรที่มาหยั่งเสียง (เสียทั้งเวลาและงบประมาณ) เปรียบแล้วเหมือนกับการแต่งตั้ง ซึ่งเสี่ยงต่อการล็อกผลล่วงหน้า หรือการสืบทอดอำนาจที่อาจมีผลประโยชน์ร่วมกัน” นายหอมจันทร์ อินทรบุตร แกนนำศิษย์เก่าเกษตรเจ้าคุณฯ ทั้ง 40 รุ่น (ศิษย์เก่าเกษตรเจ้าคุณฯ รุ่นที่ 11) กล่าว
นายหอมจันทร์ เล่าต่อว่า ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา เป็นที่ชัดว่าคุณภาพการศึกษาตกต่ำลง ต้นไม้ใหญ่ในคณะถูกตัดหมด นี่หรือคณะเกษตร ตึกเก่าๆ ปล่อยให้ทรุดโทรม พื้นที่ของแปลงพืชสวน คอกสัตว์ และฟาร์มต่างๆ โดนรื้อไปเป็นพื้นที่ต่างๆ ทำให้นักศึกษาคณะเกษตร ไม่มีแหล่งภาคปฏิบัติในคณะ ต้องปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ในการทำงานในคอมพิวเตอร์แทน ขณะเดียวกันเนื้อที่หลายส่วนของคณะถูกแปรเป็นหอสมุด หอประชุม และลานจอดรถโล่งๆ ส่อทุจริต น่าจะมีผลประโยชน์ทับซ้อน
ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งที่สำคัญที่ละลายจุดเดือดของบรรดาศิษย์เก่าเกษตรเจ้าคุณหลายพันคนนั้น นายหอมจันทร์ ระบุว่า การปล่อยปละละเลยอนุสาวรีย์ท่านเจ้าคุณทหาร (เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์) บุตรชายคนโตของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ หรือคุณชายช่วง ที่คนไทยรู้จักในละครประวัติศาสตร์ข้าบดินทร์ (ช่อง 3) ผู้ที่มีบทบาททางการทูตอย่างมากในช่วงการล่าอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศส มีบุญคุณที่ทำให้ประเทศไทยรอดจากการเป็นเมืองขึ้น และเป็นผู้เสียสละที่ดินส่วนตัว (1,500 ไร่) ในการจัดตั้ง สจล. แต่ถูกย้ายที่ อีกทั้งช่วงระหว่างการรอย้ายก็ไม่ดูแลให้สมเกียรติ อนุสาวรีย์ใหม่สร้างไม่ถูกหลักและไม่น่าเชื่อว่าใช้งบก่อสร้างสูงถึง 4.6 ล้านบาท
“ระบบการสรรหาคณบดีเกษตรเจ้าคุณฯ มีจุดโหว่นี้ี่ ทำให้ไม่เกิดธรรมาภิบาลในระบบการสรรหาผู้บริหารในระดับต่างๆ ของ สจล. โดยเฉพาะเมื่อ สจล.ออกนอกระบบ หากการคัดเลือกผู้บริหารทำกันเป็นระบบปิด การตรวจสอบจากภายนอกและเมื่อเกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นก็จะทำให้คุณภาพการศึกษาตกต่ำ เคยมีผู้เปรียบเทียบที่มาของระบบการคัดเลือกผู้บริหารในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในไทย พบข้อมูลที่ชี้ให้เห็นถึง พ.ร.บ.ของ สจล. ที่ทำระบบไว้เอื้อต่อการสืบทอดอำนาจให้พรรคพวก” นายหอมจันทร์ กล่าว
นายหอมจันทร์ กล่าวต่อว่า ศิษย์เก่าเห็นว่าระบบการลากตั้งแบบนี้ทำให้คณะเสียหาย และมีการแสดงถึงการสืบทอดอำนาจเก่าอย่างชัดเจน จึงมีการรวมตัวกันและใช้สื่อออนไลน์ในการเผยแพร่ข้อมูลความแหลกเหลวของการสรรหา ซึ่งทำให้เกิดปรากฏการณ์ตื่นตัวในสังคมออนไลน์หลายๆ ด้านคือสมาชิกในเพจเฟซบุ๊ก “เกษตรเจ้าคุณ” (https://www.facebook.com/groups/kasetchaokhun/) เพิ่มจาก 400 เป็น > 2,500 ยูสเซอร์ ภายในเวลาไม่กี่วัน และการมียอดแชร์ “ลากตั้ง!! คณบดีคณะเทคโนฯ เกษตร ส.เทคโนฯ เจ้าคุณทหารลาดกระบัง!!” (http://pantip.com/topic/33835781) ในเว็บพันทิปมากกว่า 1,500 แชร์ รวมไปถึงเพจกลางอย่างเฟซบุ๊ก “กู้พระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง” (https://www.facebook.com/saveKMITL?fref=ts) ยังให้ความสนใจนำเนื้อหาไปลง นอกจากนี้ตัวแทนศิษย์เก่าได้ยื่นหนังสือต่อสภา สจล.ขอคำชี้แจงและให้ทบทวนพร้อมแนบรายชื่อสมาชิกศิษย์เก่าจำนวน 626 ชื่อ จากการรวบรวมในเวลาเพียงแค่ 4 วัน เกิดเป็นวิกฤติในคณะเทคโนโลยีการเกษตร และใน สจล.
“วันที่ 29 กรกฎาคม 2558 นี้ ศิษย์เก่าทั้ง 40 รุ่น พร้อมศิษย์ปัจจุบัน อาจารย์และเจ้าหน้าที่ จะไปรอฟังคำตอบจากการประชุมสภา สจล.ว่าจะยกเลิกลากตั้งและคืนอำนาจให้แก่ประชาชน ให้บุคลากรในคณะได้มีผู้นำที่เขาเลือก และยืนยันว่า ศิษย์เก่าไม่ได้มีผลประโยชน์แอบแฝงแต่อย่างใด เพียงอยากเห็นน้องๆ ได้รับโอกาสในวิชาชีพเหมือนรุ่นพี่ และอยากเห็นการนำหลักธรรมาภิบาล ที่เน้นความโปร่งใส ซื่อสัตย์ บริสุทธิ์ยุติธรรมและความรุ่งเรืองของคณะอย่างเช่นในอดีต” นายหอมจันทร์ แสดงจุดยืน
ขณะที่ "ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์" รักษาการแทนอธิการบดี สจล. ชี้แจงว่า ไม่เคยได้รับหนังสือจากกลุ่มศิษย์เก่าคณะเทคโนโลยีการเกษตร เกี่ยวกับข้อร้องเรียนการสรรหาคณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร ซึ่งหากกลุ่มศิษย์เก่าส่งหนังสือมาก็พร้อมจะชี้แจงถึงกระบวนการสรรหาคณบดี หรือเรื่องอื่นๆ ทุกเรื่อง และขอยืนยันว่าขณะนี้ สจล.เป็นสถาบันการศึกษาที่มีจุดยืนชัดเจนในเรื่องการมีหลักธรรมาภิบาล ความโปร่งใส ทุกอย่างสามารถตรวจสอบได้ ดังนั้นในส่วนของกระบวนการสรรหาคณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร การบริหารงานของ สจล.เป็นไปด้วยความโปร่งใส ไม่มีคำว่าพวกพ้อง หรือเป็นการจัดตั้ง การบริหารงานล้วนเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และนักศึกษา คณาจารย์ และประเทศชาติ
ดูเหมือนว่า "เอ้“ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้บริหาร สจล.ป้ายแดง เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2558 ก็มาเจอเผือกร้อนที่ต้องสะสาง เชื่อว่ามีีสถาบันอุดมศึกษาของไทยหลายแห่งที่เคยเกิดเหตุการณ์ในลักษณะแบบนี้ บางที่จบลงอย่างสันติ หาก “ผู้นำ” ใช้หลัก “ธรรมาภิบาล” คืนอำนาจให้แก่ประชาคม นะขอบอก!!
วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม 2558
ขอบคุณแหล่งข้อมูล: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
คำสำคัญ: , คมชัดลึก
No comments:
Post a Comment