รักชีวิต รักษ์สิ่งแวดล้อม : สภาพแวดล้อมน่าอยู่ - ชุมชนเข้มแข็ง เมื่อคนสุรินทร์ลุกขึ้นมาสร้างบ้านมั่นคง : โดย...รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน
ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ 32 ชุมชน หลายแห่งมีสภาพความเป็นอยู่ไม่ต่างจากชุมชนแออัด หรือสลัมตามเมืองใหญ่ทั่วไป โดยชาวบ้านสร้างบ้านตามกำลังเพื่ออาศัยตามที่ดินรกร้างและกำแพงเมืองเก่า แต่จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของคนชุมชนหนองบัวจำนวน 200 ครอบครัว ที่ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม มีบ้านที่มั่นคง สาธารณูปโภค สิ่งแวดล้อม และการรวมกลุ่มในรูปแบบต่างๆ เพื่อดูแลซึ่งกันและกัน รูปธรรมนี้ได้นำไปสู่การเรียนรู้เพื่อขยายผลไปอีก 9 ชุมชน และกำลังพัฒนาไปสู่การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย ยกระดับคุณภาพชีวิตคนจนเมืองทุกชุมชนในเขตเมือง
นางสุดใจ มิ่งพฤกษ์ ประธานกลุ่มออมทรัพย์ชุมชนหนองบัว เล่าให้ฟังว่า การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ เริ่มต้นที่ชุมชนหนองบัวเมื่อปี 2548 ที่มีปัญหาความไม่มั่นคงในที่ดินเนื่องจากอาศัยอยู่ในที่สาธารณะ เดิมไม่กล้าลุกขึ้นมาปรับปรุง เนื่องจากการอยู่อาศัยบนที่ดินไม่มีความชัดเจน แต่เมื่อมีหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น เข้ามาหนุนเสริม ทำให้ชาวบ้านพร้อมที่จะลุกขึ้น จนสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว และเมื่อชุมชนหนองบัวเริ่มตั้งหลัก เราเองก็สามารถขยับไปสู่การขยายผลอีก 9 ชุมชน ที่มีความเดือดร้อนในความไม่มั่นคงในที่ดินที่อยู่อาศัยเหมือนกัน
การแก้ปัญหาด้านที่อยู่อาศัยของชุมชนในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์นั้น มีหลายลักษณะแตกต่างกันไปตามบริบทเงื่อนไขของชุมชน บางชุมชนมีบ้านเรือนที่ดีแล้ว บางชุมชนบ้านก็ไม่สามารถปรับปรุงได้อย่างที่ชุมชนศรีบัวราย ชุมชนเทศบาลอนุสรณ์ที่อยู่ตามอัตภาพ แต่ว่าทุกคนอยากมีความมั่นคงในที่ดินเหมือนกัน ก็เริ่มขยับจากเรื่องบ้านไปสู่เรื่องงานสวัสดิการชุมชน ปัจจุบันมีสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนใน 23 ชุมชน จำนวน 2,011 คน มีเงินหมุนเวียนมากกว่า 2 ล้านบาท นอกจากนั้นก็มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนขึ้นตามมาเพื่อให้เป็นกลไกกลางในการเชื่อมโยงทุกชุมชนแก้ปัญหาร่วมกัน
นางสุดใจ เล่าให้ฟังต่อว่า ในการแก้ปัญหาเรื่องบ้าน เราไม่ได้ทำเฉพาะเรื่องบ้านเพียงอย่างเดียว เราทำเรื่องการจัดการขยะ ที่เป็นปัญหาสำคญของเมืองสุรินทร์ มีการทำโรงปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งเป็นการนำเงินจากชุมชนต่างๆ มาร่วมกันทำ และร่วมมือกับทางเทศบาลนำขยะเปียกเป็นวัตถุดิบในการทำปุ๋ย ทำให้เกิดรายได้ และกระจายปุ๋ยไปสู่เครือข่ายชุมชนในชนบทที่ทำเกษตรอินทรีย์ และรวมถึงเชื่อมโยงกับหน่วยงานให้มาสนับสนุนการทำงานด้านสุขภาพ การออกกำลังกาย การทำเรื่องเด็กรักการอ่าน กล่องหนังสือเดินทาง มีกลุ่มเยาวชนที่เชื่อมกันทั้งเมืองเพื่อมาทำเรื่องสื่อที่จะขยับกันต่อไป
“10 ปีที่ผ่านมา ถือว่าชุมชนประสบความสำเร็จ ชุมชนแออัดถูกแก้ไข คนมีคุณภาพชีวิตดี จากที่ต่างคนต่างอยู่ ก็มีการออมทรัพย์ มีสวัสดิการ มีการประชุม แลกเปลี่ยนปัญหาของแต่ละชุมชน ปัญหาที่อยู่อาศัยลดน้อยลง มีความกล้าที่จะเจรจาเช่าที่จากหน่วยงาน ทำให้ชาวบ้านไม่ต้องวิตกกังวลกับการถูกไล่รื้อ ซึ่ง ณ ตอนนี้เราก็กำลังมีการผลักดันเรื่องกรรมสิทธิ์ร่วมของชุมชนในรูปแบบโฉนดชุมชน และมีโจทย์ท้าทายที่จะทำต่อไปคือเรื่องภาระหนี้สินของครัวเรือน” นางสุดใจ กล่าว
ชุมชนศรีบัวราย เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่เข้าสู่กระบวนการพัฒนาความมั่นคงในการอยู่อาศัย โดย นายสวาท สมใจ ประธานชุมชน เล่าให้ฟังว่า ชาวชุมชนศรีบัวราย อยู่อาศัยบนพื้นที่กำแพงคูเมืองที่ว่างเปล่า ชาวบ้านเข้ามาช่วง พ.ศ.2507 แรกเริ่ม 2 หลัง ใช้พื้นที่ว่างเปล่าเพื่อปลูกผักขาย เมื่อเมืองมีความเจริญขึ้นจึงได้มีชาวบ้านจากต่างพื้นที่เข้ามาขออาศัยอยู่ ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 157 หลังคาเรือน
“เดิมบ้านเป็นหลังคาสังกะสีผุๆ จะนอนแต่ละทีมันลำบากมาก มันแคบ กินข้าวเสร็จก็ยกกับข้าวออกแล้วก็เอาเสื่อปูนอนตรงนั้นเลย มันสำคัญมากครับบ้าน ถ้ามีบ้านอยู่แล้วมันอบอุ่นมากเลย ชีวิตจิตใจจะสบายขึ้น กล้าสู้กับงานอันไหนที่หนักที่เบาเรากล้าสู้ เพราะเราต้องการที่อยู่อาศัยที่แบบถาวร” นายสวาท เผยความรู้สึกให้ฟัง
บ้านมั่นคงชุมชนหมอกวน เทศบาลเมืองสุรินทร์ ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ย่านชานเมืองสุรินทร์อีกแห่งหนึ่ง ต่อมาเมื่อเมืองได้ขยายมาถึงชุมชนจึงทำให้เกิดภาวะการอพยพของคนจากภายนอกเข้ามาในเมืองและเช่าบ้านของคนในชุมชนอยู่เพื่อทำงาน ไม่มีกรรมสิทธิ์เป็นของตนเอง มีครอบครัวขยายเพิ่มมากขึ้น จึงเห็นว่าควรจะเริ่มจากกลุ่มที่เป็นไปได้ก่อน จึงเริ่มตั้งกลุ่มออมทรัพย์เมื่อเดือนมีนาคม 2548 ปัจจุบันมีสมาชิก 194 ราย แบ่งเป็นผู้ที่ได้รับโครงการบ้านมั่นคงครั้งนี้ 51 ราย ส่วนที่เหลือต้องการออมทรัพย์เพื่อช่วยเหลือเพื่อนให้มีเงินออมทรัพย์มากขึ้น และในอนาคตอาจต้องการเงินจากกลุ่มไปซ่อมแซมบ้าน ให้มีความมั่นคงต่อไป
นางปทิตตา พละสาร สมาชิกบ้านมั่นคงหมอกวน เล่าให้ฟังว่า ตนเองเป็นคนชัยภูมิที่เดินทางมาลงหลักปักฐานที่จังหวัดสุรินทร์ เมื่อปี 2544 มาเช่าห้องแถวเปิดร้านเสริมสวยหาเลี้ยงครอบครัว และเมื่อเข้าโครงการบ้านมั่นคง รวมกลุ่มกันทำออมทรัพย์ จนทุกวันนี้มีบ้าน 2 ชั้น ขนาด 15 ตารางวา ผ่อนชำระกับโครงการเดือนละ 2,400 บาท เปิดเป็นร้านเสริมสวยอย่างมั่นคง มีชีวิตความเป็นอยู่ที่สุขสบายตามฐานะ ได้นอนอุ่นในบ้านที่ตนเองเป็นเจ้าของ ไม่ต่างจากทุกคนที่ใฝ่ฝันที่อยากจะได้บ้าน คือได้บ้านอยู่แล้วทุกคนก็อุ่นใจ ชีวิตของเขาก็จะดีขึ้นทุกอย่าง ถ้ามีบ้านแบบถาวรแล้วคนในครอบครัวก็มีความสุข
นั่นเป็นตัวอย่างของชุมชนแออัดในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ ที่เข้าสู่การพัฒนาตามแนวทางบ้านมั่นคง จากจุดเริ่มต้นที่ชุมชนหนองบัวเมื่อปี 2548 จนถึงปัจจุบันเครือข่ายองค์กรชุมชนได้ร่วมมือกับท้องถิ่นท้องที่ และภาคีต่างๆ สามารถแก้ไขปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยจำนวน 10 ชุมชน 1,089 ครัวเรือน ประกอบด้วย ชุมชนหนองบัว 200 ครัวเรือน, ชุมชนศรีบัวราย 157 ครัวเรือน, ชุมชนประทุมเมฆ-ชุมชนศรีผไทสมันต์-ชุมชนศรีจุมพล 160 ครัวเรือน, ชุมชนบ้านถนน 87 ครัวเรือน, ชุมชนโดนไข 87 ครัวเรือน, ชุมชนเทศบาลอนุสรณ์ 259 ครัวเรือน, ชุมชนพรหมเทพ 88 ครัวเรือน และชุมชนหมอกวน 51 ครัวเรือน โดยการสนับสนุนงบประมาณจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เพียง 75 ล้านบาทเท่านั้น
นอกจากนี้หลังจากที่บ้านมั่นคงในเฟสแรกส่วนใหญ่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ และยังมีบางส่วนที่อยู่ระหว่างดำเนินการอยู่ แต่ก็ยังมีผู้เดือดร้อนในเรื่องที่อยู่อาศัยอีกจำนวนหนึ่ง โครงการบ้านมั่งคงเมืองสุรินทร์จึงได้ดำเนินการบ้านมั่นคงในเฟส 2 เพิ่มขึ้นอีก โดยได้สำรวจและเปิดประชุมสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการที่เดือดร้อนในด้านที่อยู่อาศัยจำนวน 150 ครัวเรือน และเตรียมพร้อมในการจัดพื้นที่ปลูกสร้างที่อยู่อาศัยบ้านมั่นคงต่อไป
ทั้งนี้ หัวใจสำคัญของการทำงานคือ การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยทั้งเมือง ไม่แก้ปัญหารายครัวเรือน อาศัยความร่วมมือของหลายฝ่าย โดยทำพร้อมไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกด้านของชุมชน
(รักชีวิต รักษ์สิ่งแวดล้อม : สภาพแวดล้อมน่าอยู่ - ชุมชนเข้มแข็ง เมื่อคนสุรินทร์ลุกขึ้นมาสร้างบ้านมั่นคง : โดย...รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน)
วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน 2558
ขอบคุณแหล่งข้อมูล: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
คำสำคัญ: , คมชัดลึก
No comments:
Post a Comment