Tuesday, April 14, 2015

ปั่นปั่นสูงวัยสดใสลดยา-โรคร้ายทุเลา

"เมื่อประมาณอายุ 40 ปี ตรวจสุขภาพเจอว่ามีปัญหาเรื่องความดัน หมอบอกว่าต้องกินยา ถ้าไม่กินยาต้องออกกำลังกาย ตั้งแต่วันนั้นก็เริ่มออกกำลังกายมาเรื่อยๆ เริ่มจากวิ่ง อายุมากขึ้นเริ่มมีปัญหาหัวเข่า เลยเปลี่ยนมาปั่นจักรยานได้ประมาณ 3 ปีแล้วสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคภัยเพิ่มตามอายุ ลดปริมาณยาที่กิน ได้สังคมได้สันทนาการด้วย" พล.ต.ท.ชลิต กล่าว

"พล.ต.ท.ชลิต วิเศษธาร" อดีตผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ผบช.ตชด.) วัย 78 ปี ส่วนใหญ่จะไปปั่นจักรยานทุก 6 โมงเช้า ที่สนามเวลโลโดรม หัวหมาก วันละประมาณ 30-40 กิโลเมตร และที่สนามเขียว ทุกวันพุธและศุกร์ วันละ 3 รอบ ประมาณ 71 กิโลเมตร และออกทริปปั่นอีกเป็น 100 กิโลเมตร ร่วมกับสมาชิกเวลโลโดรมอีกด้วย ใครที่กำลังมองหากิจกรรมออกกำลังกาย ลองปั่นจักรยานดู ทำให้ได้ออกกำลังกายและได้สันทนาการ ได้เพื่อนต่างวัยหลากหลาย ทุกคนเอื้ออาทรต่อกัน จะรู้ว่ามันตอบโจทย์ได้ดีทีเดียว

เช่นเดียวกับ "บัญชา แดงประดับ" หรือ อาแมว ของทีมหวานเย็นเพชรบุรี วัย 54 ปี ที่กลับมาปั่นจักรยานอีกครั้งหลังจากบาดเจ็บไขสันหลัง Spinal cord imjury เป็นอัมพาต หยุดปั่นไปเป็นเวลา 10 ปี แต่ด้วยความที่เป็นคนแข็งแรงและเล่นกีฬามาตลอดชีวิต ทั้ง ฟุุตบอล ตะกร้อ และวิ่ง ทำให้แข็งแรงฟื้นตัวเร็วกลับมาปั่นได้อีก

"อาแมว" เริ่มปั่นจักรยานเฟสสันครั้งแรกเมื่อ 22 ปีมาแล้ว ทริปแรกขึ้นเขาบันไดอิฐ จากนั้นเปลี่ยนมาปั่นเสือภูเขา ปัจจุบันปั่นเสือหมอบมาไม่ถึง 1 ปี เรียกว่าการปั่นจักรยานอยู่ในสายเลือด ไม่ใช่แค่การออกกำลังกายอย่างเดียว แต่เป็นสันทนาการ เป็นหนทางหาความสุขใจผ่อนคลาย การออกกำลังกายอะไรก็ตาม ต้องมีใจรัก และต้องศึกษาจะได้ประโยชน์สูงสุดทั้งร่างกายและจิตใจ

พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ

"ชุลีพร ด้วงฉิม" กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ตัวแทนผู้สูงอายุเมืองไทยประมาณ 10 ล้าน เปิดเผยว่า เครือข่ายประชาชนเพื่อขับเคลื่อนระบบบำนาญแห่งชาติ ออกมาผลักดันให้มี พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ช่วยคนไม่มีหลักประกันรายได้ ส่วนใหญ่ที่ยากจนไม่มีรายได้ต้องพึ่งพาลูกหลาน เพราะเบี้ยยังชีพที่ได้รับเดือน 600-700 บาท ไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงชีพอยู่ได้ การมี พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ให้รัฐหันมาดูแลประชากรในวัยผู้สูงอายุ ทุกคนพึงได้รับ โดยไม่คำนึงว่าจะมีสวัสดิการอื่นใดหรือไม่ ให้มีหลักประกันรายได้ที่เป็นเงินเดือนประจำและมีกฎหมายรองรับ ที่เพียงพอต่อการยังชีพ อย่างน้อยให้เหนือเส้นความยากจนของประเทศ ปัจจุบันอยุ่ที่ 2,400 กว่าบาทต่อเดือน ส่วนคนรุ่นใหม่ที่ก้าวสู่วัยทำงานควรมีระบบบำนาญแห่งชาติ เพื่อให้ดูแลตนเองในวัยผู้สูงอายุ รัฐต้องเร่งดำเนินการตาม พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมออม โดยให้กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นหน่วยรับออมในระดับพื้นที่

วันพุธที่ 15 เมษายน 2558

ขอบคุณแหล่งข้อมูล: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

คำสำคัญ: , คมชัดลึก

No comments:

Post a Comment