ภารกิจการแพทย์ฉุกเฉินบนดอยสูง : โดย...ปฏิญญา เอี่ยมตาล ทีมข่าวรายงานพิเศษ
ปัจจุบัน ภาวะ "กล้ามเนื้อหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน" เป็นสาเหตุเสียชีวิตของคนไทยอันดับ 3 รองจาก มะเร็งและอุบัติเหตุ โดยเฉลี่ยทุกๆ 1 ชั่วโมงต่อประชากรไทย 54,000 คนมีผู้ป่วยฉุกเฉินเสียชีวิต 6 คน และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในคนที่อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป จากสถิติผู้ป่วยคนไทย 160 คนมีผู้รอดชีวิตเพียง 1 คนเท่านั้น
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือ ช่วยชีวิตผู้ป่วย วิกฤติภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ด้วยการกระตุ้นให้หัวใจกลับมาเต้นใหม่ให้ได้ภายใน 5 นาทีมีโอกาสการรอดชีวิต หากช้าเพียงนาทีโอกาสรอดมีน้อยนิด 1-2 เปอร์เซ็นต์หรือหากรอดแล้วอาจไม่สามารถกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม
ด้วยเหตุนี้ “สพฉ.” นำร่องติดตั้งเครื่องช็อตหัวใจอัตโนมัติ(เออีดี) ตั้งแต่ปี 2557-2558 ในท่าอากาศยาน สถานีขนส่ง สถานที่ราชการสำคัญ ที่สาธารณะกว่า 30 แห่งใน กทม.และเมืองท่องเที่ยวทั้ง 4 ภาค นำร่องภาคเหนือ “เชียงใหม่โมเดล” และภาคใต้ “สนามบินหาดใหญ่” สงขลา
“นพ.บวร วิทยชำนาญกุล” อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สาธิตการใช้เครื่องช็อตหัวใจอัตโนมัติ(เออีดี)ในสนามบินเชียงใหม่ บริเวณช่องทางออกผู้โดยสารขาเข้า จำลองเหตุการณ์มีผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ผู้ช่วยเหลือต้องตั้งสติอย่าไปกลัวกับเหตุที่เกิดขึ้น
“เปิดตู้หยิบเครื่อง โทรแจ้ง 1669 บอกจุดเกิดเหตุ จับผู้ป่วยนอนราบกับพื้น ติดแผ่นอิเล็กโทรดที่หน้าอก เครื่องวิเคราะห์อัตโนมัติ ห้ามแตะต้องผู้ป่วย กดปุ่มฟังคำแนะนำภาษาไทย เข้าใจง่าย ทำซีพีอาร์ ปั๊มหัวใจตามคำสั่ง ไม่มีข้อควรระวังมากนัก ออกแบบเพื่อการช็อตโดยเฉพาะ” นพ.บวร กล่าว
ในญี่ปุ่น สหรัฐ มีเครื่องเออีดีใช้แทบทุกจุด เรียกว่า ทุกๆ 3 นาทีที่เดินผ่านจะเห็นเครื่องนี้ 1 ตัว ได้แต่หวังว่าอนาคตเมืองไทยจะเป็นแบบนั้น เป็นการช่วยชีวิตก่อนที่รถฉุกเฉินจะมาถึง แม้เวลาเพียงนาทีเดียวก็สามารถช่วยคนให้รอดชีวิตได้
ขณะที่ประเทศไทยได้เปิดต้นแบบ เชียงใหม่โมเดล ติดตั้งแล้ว 5 จุด สนามบิน วัดพระธาตุดอยสุเทพ โรงพยาบาลมหาราช มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมเล็งติดเพิ่มสถานีรถไฟ สถานีขนส่ง สวนสาธารณะ ฯลฯ สพฉ.ตั้งเป้าครอบคลุมทั่วประเทศ 3,000 เครื่องภายในปี 2560
“สพฉ.” อบรมความรู้เจ้าหน้าที่และประชาชนทุกสถานที่ที่ติดตั้ง “เออีดี” อย่างต่อเนื่อง ให้รู้หลักวิธีใช้งานเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าอัตโนมัติ เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน ล่าสุดอบรม “พระภิกษุ-เจ้าหน้าที่กู้ชีพ" วัดพระธาตุดอยสุเทพ ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวกรณีหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ก่อนทีมแพทย์จะมาถึง
“สามีภรรยาชาวแคนาดา" วัย 65 ปี นักท่องเที่ยวบนดอยสุเทพ บอกว่า รู้สึกดีและมั่นใจในความปลอดภัยในชีวิตมากขึ้น เมื่อรู้ว่าที่นี่ติดตั้งเครื่องเออีดี เพราะที่แคนาดามีเครื่องนี้เยอะมาก ทุกที่ทุกแห่ง แม้แต่ในโรงเรียนก็ใช้เป็นหลักสูตรสอนตั้งแต่เด็ก ทุกคนคุ้นเคยรู้จักเครื่องนี้เป็นอย่างดี
ขณะที่ นักท่องเที่ยวไทย วัย 45 ปี มองว่า ถ้าคนไทยมีเครื่องนี้แล้วต้องใช้ให้เป็นด้วย ไม่ใช่แค่เอามาติดตั้งไว้เฉยๆ ต้องมีป้ายสัญลักษณ์บอกจุดว่าอยู่ตรงไหน มีคู่มือการใช้ที่ชัดเจน อย่างบนดอยสุเทพแห่งนี้ ยังไม่รู้เลยว่าติดตรงไหน ถ้าติดแล้วไม่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้ คงไม่เกิดประโยชน์
“เชียงใหม่" ไม่เพียงแต่เป็นโมเดลต้นแบบการใช้เครื่องเออีดีเท่านั้น ยังเป็น "ศูนย์ปฏิบัติการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศยาน" เขตบริการสุขภาพพื้นที่ 1 (ภาคเหนือ) ศูนย์รวมทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญส่งต่อผู้ป่วยภาวะวิกฤติ “Northern Sky Doctor" เน้นช่วยเหลือบนที่สูง ยอดดอย แหล่งทุรกันดาร ที่รถพยาบาลเข้าไม่ถึง
“นพ.บุญฤทธิ์ คำทิพย์" แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลนครพิงค์ หัวหน้าทีมสกายดอกเตอร์ เล่าถึงการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศยานว่า เป็นความร่วมมือระหว่าง สพฉ.กับหน่วยงานรัฐและเอกชนเจ้าของอากาศยาน เริ่มต้นเมื่อเดือนกันยายน 2553 ถึงปัจจุบันลำเลียงส่งผู้ป่วยทั่วประเทศ 182 คน 165 เที่ยวบิน เป็นเขตบริการ 8 จังหวัดภาคเหนือ 88 เที่ยวบิน ผู้ป่วย 96 คน คิดเป็นร้อยละ 53 ทั้งประเทศ มากที่สุดพื้นที่สูง จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.น่าน
นับเป็นจุดเริ่มต้นลำเลียงผู้ป่วย 8 จังหวัดภาคเหนือตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบันกว่า 5 ปีแล้ว ทีมแพทย์สกายดอกเตอร์ฝึกซ้อม อบรมทักษะ พัฒนาศักยภาพ ประชุมร่วมกับนานาชาติเกาหลี ญี่ปุ่น อิตาลี แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ เพิ่มวิสัยทัศน์ระบบทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยวิกฤติลำเลียงทางอากาศยาน 1.โรคหลอดเลือดสมอง 2.โรคหัวใจเฉียบพลัน 3.หลอดเลือดเฉียบพลัน 4.ผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัด-ปลูกถ่ายอวัยวะเร่งด่วน 5.ติดเชื้อในกระแสเลือด 6.อุบัติเหตุรุนแรง โดยใช้เวลานำส่งเร็วสุด 40 นาที
“พญ.กรองกาญจน์ สุธรรม" หนึ่งในทีมแพทย์สกายดอกเตอร์ บอกว่า ในความเป็นผู้หญิงต้องเข้มแข็งและแกร่งเสมอ อะไรทำได้ทำหมด ทำมา 4 ปีแล้วมีเคสประทับใจมากมาย แต่ที่ประทับใจที่สุดคือช่วยหญิงชาวเขาเส้นเลือดหัวใจตีบต้องผ่าตัดเปิดหลอดเลือดหัวใจให้เร็วที่สุด ญาติผู้ป่วยกลัวมากไม่กล้าขึ้นเครื่อง กลัวไม่มีเงินจ่าย เราอธิบายจนเขาเข้าใจซาบซึ้งร้องไห้
“เราให้บริการฟรี ไม่เสียตังค์ เป็นเงินภาษีประชาชน ไม่เลือกปฏิบัติ ช่วยเหลือทุกชนชั้น เท่าเทียมกัน บอกเลยว่า ถ้าคุณเป็นวีไอพี อาจจะไม่ได้ขึ้น ถ้าไม่อยู่ในภาวะวิกฤติจริงๆ" พญ.กรองกาญจน์กล่าวอย่างภูมิใจ
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาฯ สพฉ. บอกว่า การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศยาน เพิ่มโอกาสการรอดชีวิต ทุกวันนี้มีเครื่องบินปฏิบัติการฉุกเฉินทั่วประเทศ 100 ลำจาก 3 เหล่าทัพ สตช. กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงทรัพยากรฯ รพ.กรุงเทพ และสายการบินกานต์แอร์ มีจุดศูนย์กลางลำเลียงอากาศยาน 6 จุด 5 ภูมิภาค เน้นที่ห่างไกลทุรกันดาร พื้นที่ประสบภัย เสี่ยงอันตราย ทุกกรณี
แม้ว่า การนำส่งผู้ป่วยทางอากาศยานเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่รวดเร็วในการช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินให้รอดพ้นจากความตายก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติแล้วยังติดขัดปัญหาเครื่องบินหน่วยงานรัฐที่มีน้อยไม่เพียงพอ บางครั้งเครื่องไม่ว่างติดงานราชการอื่น ต้องใช้บริการภาคเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายสูงถึงชั่วโมงละ 4 หมื่นบาททีเดียว ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขเจียดเงินงบประมาณในส่วนนี้เพียงน้อยนิดแค่ปีละ 16 ล้านบาทเท่านั้น
------------------------
"เครื่องกระตุกหัวใจแบบอัตโนมัติ AUTOMATED EXTERNAL DEFIBRILLATOR (AED) เครื่องมือช่วยยืดการรอดชีวิต ผู้ป่วยฉุกเฉิน ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน"
------------------------
ทีม SKY DOCTOR ทำงานด้วยใจ ไม่มีค่าใช้จ่าย ปฏิบัติการครั้งแรก 1 ก.ย. 53 ช่วยชาวเขาแม่ฮ่องสอน หลอดเลือดสมองตีบ ผ่าตัดเชียงใหม่ปลอดภัย
------------------------
(ภารกิจการแพทย์ฉุกเฉินบนดอยสูง : โดย...ปฏิญญา เอี่ยมตาล ทีมข่าวรายงานพิเศษ)
วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม 2558
ขอบคุณแหล่งข้อมูล: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
คำสำคัญ: , คมชัดลึก
No comments:
Post a Comment