Wednesday, February 11, 2015

เปิดแนวรุก

ในระหว่างทางจัดกระบวนทัพทุกภาคส่วนเข้าสู่การปฏิรูปประเทศ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ในฐานะประธานกรรมาธิการปฏิรูปค่านิยม ศิลปะ วัฒนธรรม จริยธรรมและการศาสนา และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้เข้าพบหารือกับ วีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ถึงแนวทางปฏิรูปประเทศ เมื่อเร็วๆ นี้

เนาวรัตน์ ได้เสนอจัดทำแผนแม่บทระดับชาติว่าด้วยศิลปะ วัฒนธรรม พร้อมตั้งกองทุนภาคประชาสังคมเสริมสร้างศิลปะ วัฒนธรรมและดุลยภาพการจัดการด้านศิลปะและวัฒนธรรมในที่ประชุม สปช. เพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามและให้ข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำสรุปความหรือข้อเสนอแนะในการยกร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ประจำสภา 18 คณะ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2557 จำนวน 12 ข้อ ได้แก่ 1.ภาครัฐต้องใช้ศาสนาสร้างการปกครองที่เป็นธรรม ขจัดความทุจริต สนับสนุนส่งเสริมประชาชนในชาติมีค่านิยมที่พึงประสงค์ 2.จัดตั้งองค์การสมัชชาศิลปะและวัฒนธรรมแห่งชาติ ภายใต้การมีส่วนร่วมและการจัดการของภาคประชาชน 3.รัฐต้องจัดให้มีแผนแม่บทระดับชาติว่าด้วยศิลปะและวัฒนธรรม

4.จัดตั้งกองทุนเสริมสร้างศิลปะ วัฒนธรรม เป็นกองทุนภาคประชาสังคม 5.ขอให้รัฐสนับสนุนการเปิดพื้นที่สำหรับกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมให้ประชาชนได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน 6.สร้างดุลยภาพ ด้านความรู้ ความคิด ความเข้าใจด้านศิลปวัฒนธรรมและศาสนา 7.รัฐต้องสร้างองค์กรศิลปะ วัฒนธรรมและสร้างดุลยภาพอำนาจแห่งการจัดการด้านวัฒนธรรมและศาสนา 8.จัดทำแผนแม่บทเรื่องพหุวัฒนธรรม 9.สร้างพื้นที่สำหรับงานศิลปวัฒนธรรมและศาสนาให้เพิ่มขึ้น 10.รัฐต้องให้การสนับสนุนด้านการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางต่างๆ 11.ส่งเสริมความเป็นพหุวัฒนธรรมในประเทศไทยทุกชาติ และศาสนา 12.การรักษาศิลปวัฒนธรรมของชาติ

ในส่วนของ “หน่วยงานภาครัฐ” นายวีระ กล่าวว่า วธ.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำข้อเสนอการปฏิรูปประเทศด้านสังคมและวัฒนธรรม จัดทำข้อมูลเสนอการปฏิรูปประเทศด้านสังคมและวัฒนธรรม เสนอไปบรรจุในรัฐธรรมนูญจำนวน 6 ข้อ ดังนี้ 1.นโยบายว่าด้วยการฟื้นฟูบูรณะและสร้างลักษณะที่พึงประสงค์ร่วมกันของคนไทย (ปฏิรูปคนไทย) 2.การเสริมสร้างโอกาสให้แก่เจ้าของวัฒนธรรมในการนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าบริการทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม 3.การบริหารจัดการให้วัฒนธรรมเกิดประโยชน์ต่อคนไทยในภาพรวม 4.การจัดตั้งกองทุนวัฒนธรรมภาคประชาชน 5.การเพิ่มกฎหมายอนุรักษ์ย่านเก่าภูมิทัศน์วัฒนธรรมให้ครอบคลุมด้านวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ 6.การส่งเสริมความเข้มแข็งขององค์กรเครือข่ายประชาชน

อย่างไรก็ตาม “ภาคประชาชน” ที่ขับเคลื่อนโดยสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ และเครือข่ายอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ได้ร่วมกันจัดทำข้อเสนอแนวคิดให้ คสช.และรัฐบาล พิจารณาบรรจุให้วิสัยทัศน์ทางด้านการบริหารจัดการมรดกวัฒนธรรมเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การปฏิรูปประเทศ เช่นเดียวกัน พิไลพรรณ สมบัติศิริ นายกสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ขอให้แก้ไขกฎหมายให้เอื้ออำนวยต่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม

อาทิ ให้ปรับปรุงงานด้านผังเมือง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือช่วยในการรักษามรดกวัฒนธรรม และให้ปรับปรุง พ.ร.บ.มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ก่อนที่จะเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาใหม่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการตั้งกองทุนดูแลมรดกวัฒนธรรมแห่งชาติ การพัฒนาศักยภาพขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นให้มีความสามารถที่จะบริหารจัดการมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นเอง การออกมาตรการที่สร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เพื่อรักษาคุณค่าและมูลค่าของทรัพยากรทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน รวมไปถึงพัฒนาระบบการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์และสังคมศาสตร์ในทุกระดับให้มีความน่าสนใจมากขึ้น

ที่ผ่านมาในรัฐธรรมนูญของประเทศไทยมีการกำหนดเพียงสิทธิ์และหน้าที่ของประชาชนเกี่ยวกับการรักษาศิลปวัฒนธรรมเอาไว้กว้างๆ แต่ยังไม่เคยมีกฎหมายลูกรองรับอย่างเป็นรูปธรรม แต่จากนี้ไปข้อเสนอด้านการปฏิรูปสังคมวัฒนธรรมของทั้ง 3 ภาคส่วน ซึ่งส่วนหนึ่งมีการเสนอเข้าไปในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญแล้ว จะมีการผลักดันมีการออกกฎหมายลูกหรือไม่ หากทำได้สำเร็จก็จะถือเป็นครั้งแรก ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความแตกต่างจากที่ผ่านมา รัฐบาลใหม่เข้ามาก็ทำงานตามที่กฎหมายลูกกำหนดได้ทันที

วันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558

ขอบคุณแหล่งข้อมูล: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

คำสำคัญ: , คมชัดลึก

No comments:

Post a Comment