"คร." เผยครั้งแรกของโลกเจอ "อหิวาต์เทียม" ในเลือดไก่ ปกติพบเชื้อในอาหารทะเล สอบสวนโรคเจอปนเปื้อนทั้งขั้นขนส่งเลือดต้ม-ในโรงงานที่เป็นเลือดดิบ
14 ม.ค. 58 ที่กรมควบคุมโรค นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงกรณีที่มีการตรวจเจอเชื้ออหิวาต์เทียม หรือเชื้อวิบริโอ พาราฮิโมไลติคัส (Vibrio parahaemolyticus) ในเลือดไก่ ที่นำมาทำข้าวมันไก่ ว่า ขอย้ำว่า มีการพบเชื้ออหิวาต์เทียม เฉพาะในเลือดไก่เท่านั้น ส่วนเนื้อไก่ และข้าวมันไก่ สามารถรับประทานได้ตามปกติ สำหรับเลือดไก่ ประชาชนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า เลือดไก่ที่วางขายตามท้องตลาด ถูกทำให้สุกมาแล้ว และที่สำคัญผู้บริโภคต้องการรับประทานเลือดที่มีลักษณะนิ่ม จึงไม่นิยมนำไปต้มซ้ำอีกครั้งก่อนบริโภค แนะนำให้ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการรับประทานเลือดไก่ที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อโรคที่ถูกวิธี ต้มด้วยอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 75 องศาเซลเซียส นาน 15 นาที ที่สำคัญ ผู้ที่สับไก่ ต้องปฏิบัติตามหลักสุขาภิบาลอาหาร เช่น มือเป็นแผลไม่ควรสับไก่ขาย ไม่ทิ้งวัตถุดิบให้ค้างมื้อ และแยกเขียงกับมีดสำหรับหั่นเลือดไก่ต่างหาก ในกรณีเป็นการสับไก่ต้มเพื่อเสิร์ฟสำหรับการรับประทานต้องใส่ถุงมือพลาสติก เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอาหารเป็นพิษ
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้มีการประสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมปศุสัตว์ที่ได้ดำเนินการสั่งปิดโรงงานที่ตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้อในเลือดไก่แล้ว 1 แห่ง และมีการสุ่มตรวจอีก 27 แห่ง ส่วนร้านค้าข้าวมันไก่ ประสานกรมอนามัยเข้าไปแนะนำเกี่ยวกับการดูแลสุขลักษณะ แนะนำการปรุงที่ถูกวิธี สำหรับประชาชนทั่วไป ยังสามารถรับประทานข้าวมันไก่ เนื้อไก่ หรือเลือดไก่ที่ต้มสุกได้ ซึ่งเลือดไก่ที่ต้มสุกดี จะมีสีที่เข้ม และเนื้อแข็งกว่าเลือดไก่ที่สุกไม่ดี ที่มีสีแดงๆ กลิ่นคาว และเนื้อนิ่มหยุ่น
"ปกติเชื้ออหิวาต์เทียม หรือเชื้อวิบริโอ พาราฮิโมไลติคัส (Vibrio parahaemolyticus) จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมโดยชอบน้ำเค็ม หรือน้ำกร่อย ส่วนใหญ่จึงพบการปนเปื้อนในหอย กุ้ง เช่น หอยแครง หรือหอยแมลงภู่ ที่ลวกไม่สุก การที่เชื้อนี้จะมาปนเปื้อนในไก่ไม่ใช่เรื่องง่าย นับเป็นครั้งแรกของโลกที่สอบสวน และตรวจสอบแล้วพบว่า มีการปนเปื้อนเชื้อนี้ในเลือดไก่ ซึ่งต้องมีการตรวจสอบต่อไปว่า เชื้อนี้มาปนเปื้อนในเลือดไก่ได้อย่างไร"
พญ.ดารินทร์ อารีย์โชคชัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านเวชกรรมป้องกันสาขาระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า เรื่องนี้ตรวจพบจากการที่ทีมระบาดวิทยาสอบสวนโรคกรณีนักเรียนท้องเสียเข้าโรงพยาบาลในพื้นที่ภาคเหนือ โดยพบว่า เกิดจากสาเหตุซ้ำๆ คือ การรับประทานข้าวมันไก่ จึงเข้าไปที่ร้านข้าวมันไก่ จนพบเชื้ออหิวาต์เทียม ปนเปื้อนในเลือดไก่ที่นำมาทำข้าวมันไก่ สอบสวนต่อไปยังร้านค้าในตลาดที่ขายเลือดไก่ รถที่ขนส่ง และโรงงานผลิต ก็ล้วนพบเชื้อนี้ทั้งสิ้น โดยที่โรงงานพบทั้งในเลือดที่ต้มสุกแล้ว และเลือดสดๆ ดิบๆ ที่ใช้รางรอรับจากคอไก่ เท่ากับว่าเลือดไก่มีการปนเปื้อนเชื้อนี้ตั้งแต่เป็นเลือดดิบ ซึ่งขณะนี้กรมควบคุมโรคร่วมกับกรมปศุสัตว์อยู่ระหว่างการสอบสวนว่าเกิดการปนเปื้อนของเชื้ออหิวาต์เทียมในเลือดไก่ในโรงงานผลิตได้อย่างไร เนื่องจากปกติเชื้อชนิดนี้จะพบในอาหารทะเลเป็นส่วนใหญ่
"จากการตรวจสอบที่โรงงาน พบว่าในการต้มเลือดไก่ใช้อุณหภูมิ 70 - 80 องศาเซลเซียส ใช้เวลาสั้นๆ ทำให้สุกไม่ถึงใจกลางก้อนเลือดไก่ เชื้อที่ปนเปื้อนมาจึงยังคงอยู่ในเลือดไก่ ประกอบกับในขั้นตอนของการขนส่ง จะเก็บเลือดในน้ำเกลือ ซึ่งเป็นลักษณะสภาพแวดล้อมที่เชื้อชนิดนี้ชอบ คือ มีความเค็ม ทำให้เชื้อที่หลงเหลืออยู่เติบโตเพิ่มจำนวนมากขึ้นอีกได้ เมื่อประชาชนซื้อไปรับประทานแล้วไม่ต้มซ้ำให้สุกจริงๆ จึงมีโอกาสได้รับเชื้อ"
นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า อหิวาต์เทียม เกิดจากเชื้อวิบริโอ พาราฮิโมไลติคัส (Vibrio parahaemolyticus) จะมีอาการป่วย อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว อาจมีไข้ หรืออาการอื่นๆ ร่วมด้วย ซึ่งเป็นอาการที่น้อยกว่าเชื้ออหิวาต์แท้ที่เกิดจากเชื้อ วิบริโอ คลอเรลลา (Vibrio Cholera) ที่ปัจจุบันพบผู้ป่วยน้อยมากในประเทศไทย ส่วนอหิวาต์เทียม อาการจะดีขึ้นภายใน 3 วัน มีอัตราเสียชีวิตน้อยกว่า 1 ต่อ 1,000
----------------------------------
(หมายเหตุ : ภาพประกอบข่าว)
วันพุธที่ 14 มกราคม 2558
ขอบคุณแหล่งข้อมูล: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
คำสำคัญ: , คมชัดลึก
No comments:
Post a Comment