"วิชาอัตลักษณ์ชาวเล"วิถี ตัวตน ชนอูรักลาโว้ย : ผกามาศ ใจฉลาดรายงาน
“ปี 2545-2550 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.),ทีมงานโครงการฟื้นฟูวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ประสบภัยสึนามิในประเทศไทย สนับสนุนโดย UNESCO, UNDP, CUSRI โดยเริ่มพัฒนาโรงเรียนบ้านเกาะอาดังใน 3 ด้าน คือ หลักสูตรพัฒนาคุณภาพชีวิต หลักสูตร 3 ภาษา ไทย อูรักลาโว้ย ภาษาอังกฤษ และหลักสูตรความรู้ท้องถิ่นของชาวเลอูรักลาโว้ยเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน เกิดเป็นวิชาอัตลักษณ์ชาวเลแห่งเดียวในสตูลค่ะ”
ครูแสงโสม หาญทะเล ครูโรงเรียนบ้านเกาะอาดัง อ.เมือง จ.สตูล เล่าถึงที่มาวิชาการเรียนการสอนอันเป็นการเรียนรู้อัตลักษณ์หรือความเป็นตัวตนของชาวเลอูรักลาโว้ยทั้งในอดีตและปัจจุบัน ในโอกาสกระทรวงวัฒนธรรมจัดโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสื่อมวลชน บุคลากร นักวิชาการด้านวัฒนธรรม ในการส่งเสริมโครงการและรายการเกี่ยวกับอาเซียน มรดกทางวัฒนธรรมและศิลปะอาเซียน จ.สงขลา และสตูล เมื่อเร็วๆ นี้
การเปิดวิชาอัตลักษณ์ชาวเล เป็นวิชาเพิ่มเติมเปิดสอนนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 1-6 และมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 โดยชั้น ป.1 ศึกษาที่ตั้งและอาณาเขต ลักษณะทางภูมิศาสตร์ พืชพรรณ สัตว์บกและสัตว์ทะเลในหมู่เกาะอาดัง-ราวี ชั้น ป.2 ศึกษาประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ต้นกำเนิด การตั้งหลักแหล่งของชาวเลอูรักลาโว้ยและเหตุการณ์สำคัญในยุคสมัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชาวเล ชั้น ป.3 ศึกษาวิถีชีวิต ความเป็นอยู่และภาษาของชาวเลอูรักลาโว้ย ชั้น ป.4 ศึกษา วิเคราะห์และฝึกปฏิบัติอาหารพื้นบ้านของชาวเลในอดีตจนถึงปัจจุบันและการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
ชั้น ป.5 ศึกษา วิเคราะห์และฝึกปฏิบัติการประกอบอาชีพของชาวเลในอดีตจนถึงปัจจุบันและการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ชั้น ป.6 ศึกษา วิเคราะห์และฝึกปฏิบัติประเพณีและวัฒนธรรมของชาวเลในอดีตจนถึงปัจจุบันและการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และชั้น ม.1-3 ศึกษา วิเคราะห์และฝึกปฏิบัติศิลปะการแสดงรองเง็งของชาวเลในอดีตจนถึงปัจจุบันและการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
“วิชาอัตลักษณ์ชาวเล ทำให้ชาวเลได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของตนและสามารถเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์สู่สาธารณชนได้ เรียนรู้สภาพปัญหา วิเคราะห์สถานการณ์และหาแนวทางแก้ไขเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันในด้านต่างๆ อาทิ ด้านวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ด้านการประกอบอาชีพ ด้านการรักษาภาษาและวัฒนธรรมให้คงอยู่ต่อไป”
ครูแสงโสม เล่าต่อไปว่า ปัจจุบันชาวเลอูรักลาโว้ยบนเกาะหลีเป๊ะเหลืออยู่เพียง 1,300 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และเด็กๆ 60 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นผู้ชายวัยทำงาน นิสัยชาวเลทั่วไปสนใจในเรื่องของวิถีชีวิตตนเอง คือจะอยู่อย่างไรให้มีความสุข แค่มีทะเล มีเรือออกไปหาปลา กลับมามีข้าวมีปลา มีบ้านได้หลับนอน แค่นี้ชีวิตชาวเลก็มีความสุขแล้ว แต่ด้วยความรักสงบนี้เองกลับกลายเป็นเหตุอย่างหนึ่งที่สร้างปัญหาให้ชาวเล
“จากปัญหาด้านการศึกษาที่โดยพื้นฐานของชาวเลอ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้ ไม่มีความรู้ พอมีใครเข้ามาพูด มาบอกอะไรเขาก็จะเชื่อ ส่งผลให้ปัญหาต่างๆ เข้ามารุมเร้าโดยเฉพาะเรื่องที่ดิน ถูกรุกพื้นที่จากนายทุน นักธุรกิจด้านการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่าชาวเลไม่ได้ต่อต้านกระแสการท่องเที่ยว เพียงแต่จะอยู่อย่างไรให้ผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยว และชาวเลอยู่ร่วมกันได้มากกว่า”
สมศรี รักนุ้ย วัฒนธรรมจังหวัดสตูล กล่าวว่า วิถีชีวิตดั้งเดิมของกลุ่มชาวเลกำลังเปลี่ยน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสตูล ได้เข้าไปมีส่วนอนุรักษ์ประเพณีลอยเรือ การแสดงรองเง็ง และส่งเสริมอาหารชาวเล จัดอบรมสืบสานประเพณี โดยให้บรรพบุรุษสอนและถ่ายทอดให้เด็กในชุมชน ส่วนเรื่องการบุกรุกที่ดิน หรือการท่องเที่ยว ซึ่งต้องใช้กฎหมายต่างๆ มาควบคุม คงจะต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมดูแล
อย่างไรก็ตาม แนวทางการแก้ปัญหาชาวเล ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 มีมติให้ วธ.และกระทรวงที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาและฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล และให้ศึกษาแนวทางการจัดตั้งเขตสังคมวัฒนธรรมพิเศษชาวเล รวมถึงตั้งคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการการแก้ไขปัญหาชาวเล แต่เนื่องจากยุบสภาทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาต่อได้ มาจนถึงขณะนี้เวลาล่วงเลยมากว่า 4 ปีแล้ว ก็ยังไม่มีมาตรการใดๆ ออกมาอย่างเป็นรูปธรรม
วันอังคารที่ 2 ธันวาคม 2557
ขอบคุณแหล่งข้อมูล: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
คำสำคัญ: , คมชัดลึก
No comments:
Post a Comment