แนะสกอ.หารือมหาวิทยาลัยกำหนดสัดส่วนรับนิสิตนักศึกษาระหว่างแอดมิชชั่นส์และรับตรง ชี้รับตรงไม่ควรรวมโครงการขยายโอกาส โครงการพิเศษต่างๆ
13พ.ย.2557 ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) กล่าวถึงกรณีที่รมว.ศึกษาธิการ ต้องการให้มีการกำหนดสัดส่วนการคัดเลือกระหว่างการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลางการรับนิสิต นักศึกษา หรือ แอดมิชชั่นส์ และรับตรงให้ ชัดเจน ว่าที่ผ่านมา ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้มีมติชัดเจนที่จะกำหนดสัดส่วนการรับนิสิตนักศึกษาและระบบรับตรง สัดส่วน 50:50 ซึ่งมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกของทปอ.ทั้ง 27 แห่งพยายามรักษาสัดส่วนการรับนักศึกษาให้ใกล้เคียงมากที่สุด รวมถึงหาแนวทางในการแก้ปัญหาการสอบรับตรงมาโดยตลอด เช่น พยายามกำหนดระยะเวลาการสอบรับตรงให้ตรงกัน โดยขณะนี้ทปอ.ได้มีมติชัดเจนแล้วว่าในแต่ละปี จะสอบรับตรงร่วมกันในเดือนมกราคม และกำหนดให้มีการสอบวิชาสามัญ 7 วิชา และเพิ่มอีก 2 วิชา พยายามขอความร่วมมือให้มหาวิทยาลัยมาใช้ 9 วิชาดังกล่าว รวมถึงมีการจำกัดจำนวนรับนิสิตนักศึกษาในการสอบรับตรง เป็นต้น แต่เรื่องการกำหนดสัดส่วนการรับนิสิตนักศึกษา ต้องยอมรับว่าเป็นอำนาจของมหาวิทยาลัย ซึ่งขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งกำหนด และระบบการรับตรงทำให้มหาวิทยาลัยได้นิสิตนักศึกษาตรงกับความต้องการอย่างมาก
“ผมเห็นด้วยที่ต้องไม่มีการสอบรับตรงมากเกินไป ต้องมีสัดส่วนที่เหมาะสม ซึ่งสัดส่วนการรับนักศึกษาระหว่างแอดมิชชั่นส์และรับตรง มธ.พยายามรักษาสัดส่วนในการรับนักศึกษาให้ใกล้เคียง 50:50 มากที่สุด อย่าง ศูนย์ลำปาง คณะนิติศาสตร์ จากเดิมรับตรง120 คน รับแอดมิชชั่นส์ 80 คน ปัจจุบันนี้ก็สลับข้างกัน รับตรงเพียง 80 คน รับแอดมิชชั่นส์ 120 คน เพราะระบบสอบตรงไม่ได้ผล คนภาคเหนือสอบตรงมีจำนวนน้อย ขณะที่ในส่วนกลาง สอบรับตรงได้ผลดีมาก แต่มหาวิทยาลัยก็พยายามรักษาสัดส่วนไว้ ไม่ให้มากเกินไป อย่างไรก็ตาม หากจะมีการกำหนดสัดส่วนการรับนิสิตนักศึกษาระดับแอดมิชชั่นส์และรับตรงอย่างชัดเจน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ. )และมหาวิทยาลัยต้องมาหารือร่วมกัน เพราะขณะนี้บางมหาวิทยาลัยอาจรับตรง 60% จะให้มาลดก็ต้องหาสัดส่วนที่เหมาะสม ซึ่งโดยส่วนตัวรับตรงไม่ควรเกิน 70% และไม่ควรนับรวมโครงการขยายโอกาสทางการศึกษา เช่น โครงการพิเศษ โครงการที่รับนักศึกษาภาคเหนือ ภาคใต้ โครงการช้างเผือก และโครงการอินเตอร์ ควรกำหนดเฉพาะโครงการรับตรงทั่วไปเท่านั้น” ศ.ดร.สมคิดกล่าว
ด้าน ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าในการกำหนดสัดส่วนรับนิสิตระหว่างแอดมิชชั่นส์และรับตรงนั้น จุฬาฯ เห็นด้วยที่การรับตรงต้องมีการกำหนดสัดส่วนที่เหมาะสม ไม่มากเกินไป เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ผู้ปกครอง เด็กจะได้ไม่ต้องวิ่งสอบ แต่ทั้งนี้ในการกำหนดสัดส่วนที่ชัดเจนนั้น ต้องมาหารือร่วมกัน ซึ่งในส่วนของจุฬาฯ ที่ผ่านมาก็พยายามรักษาสัดส่วนระหว่างแอดมิชชั่นส์กับรับตรง ให้ใกล้เคียง 50:50 มากที่สุด ดังนั้น ถ้ามีกำหนดสัดส่วนที่ชัดเจน จุฬาฯ ก็พร้อมจะดำเนินการตามที่ตกลงร่วมกัน แต่การกำหนดสัดส่วนดังกล่าวต้องไม่รวมโครงการขยายโอกาส โครงการพิเศษต่างๆ เพราะต้องยอมรับว่าระบบรับตรง เป็นการเปิดโอกาสให้แก่เด็กชนบท เด็กต่างจังหวัด ซึ่งอาจมีโอกาสน้อยกว่าเด็กในเมืองได้เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยต่างๆ มากขึ้น
วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤศจิกายน 2557
ขอบคุณแหล่งข้อมูล: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
คำสำคัญ: , คมชัดลึก
No comments:
Post a Comment