คลี่22นโยบายศธ. ปฏิรูปการศึกษาเห็นผลใน1ปี : สุพินดา ณ มหาไชยรายงาน
12 กันยายน ที่ผ่านมา พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คนใหม่ พร้อมด้วย 2 รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงศึกษาธิการ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร และ พล.ท.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ เสนาธิการกองทัพบก (ทบ.) เข้าปฏิบัติหน้าที่เป็นวันแรก และได้มอบ การบ้าน หรือ นโยบาย 22 ข้อ ให้ผู้บริหารของ ศธ.รับไปดำเนินการ ทั้ง 22 นโยบายแยกเป็น ภารกิจเฉพาะหน้า ภารกิจระยะสั้น และภารกิจระยะยาว
นโยบายกลุ่มแรก รวบรวมเรื่องที่เป็นหัวใจสำคัญ 5 เรื่อง มาจัดเป็นนโยบายที่ต้องเร่งดำเนินการ พล.ร.อ.ณรงค์ ยอมรับว่า การขับเคลื่อนนโยบายกลุ่มนี้ให้เห็นผลต้องใช้เวลา เริ่มจากนโยบายอมตะของทุกรัฐบาล ปฏิรูปการศึกษา พล.ร.อ.ณรงค์ บอกว่า ต้องการปฏิรูปการศึกษาให้เห็นผลภายใน 1 ปี อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ ต้องยึดหลักการมีส่วนร่วม การกระจายอำนาจ และความต้องการของทุกภาคส่วนในสังคม และต้องสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล แนวทางของสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวมถึงสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ
นโยบายที่ 2 สร้างโอกาสทางการศึกษาในสังคมไทย ยึดหลักการสร้างความเท่าเทียมและเป็นธรรม พร้อมน้อมนำแนวทางการพัฒนาระบบการจัดการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และนำเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาและส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงองค์ความรู้
ส่วนนโยบายที่ 3 เป็นการพัฒนาระบบการจัดการศึกษาและหลักสูตรให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล ควบคู่ไปกับการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น และปลูกฝังคุณธรรม วินัย อุดมการณ์ ยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ให้ผู้เรียน รวมถึงการสอนให้ตระหนักถึงผลประโยชน์ของส่วนร่วมมากกว่าส่วนตน การสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในหลักการประชาธิปไตย
นโยบายที่ 4 การส่งเสริมและยกสถานะของครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะการส่งเสริมให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูงในสังคม และนโยบายที่ 5 การบริหารและการปฏิบัติราชการกระทรวงในทุกระดับ จะต้องมีการบูรณาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และอยู่ภายใต้หลักธรรมาภิบาล ปราศจากการทุจริตและคอร์รัปชั่น
ส่วนนโยบายในกลุ่มต่อมา พล.ร.อ.ณรงค์ บอกว่า จะต้องดำเนินการให้เห็นผลภายใน 1 ปี เป็นนโยบายเฉพาะด้าน 7 เรื่อง เริ่มจาก 1.การพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และสนับสนุนการแก้ไขปัญหา และพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2.การเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน ในปี 2558 และการดำรงความต่อเนื่องภายหลังการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน การพัฒนาศักยภาพการแข่งขันและสนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน 4.การมุ่งเน้นการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพ 5.การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาให้ทันสมัย 6.การเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ 2558 ของ ศธ. และ 7.การดำเนินการตามแผนการศึกษาแห่งชาติและการปฏิรูปการศึกษา
สุดท้ายเป็นนโยบายเฉพาะหน้าที่รวบรวมปัญหาเร่งด่วนทั้งหมด 10 เรื่องมาให้แต่ละหน่วยงานรับดำเนินการเพิ่มหาทางทุเลาปัญหา เริ่มจาก 1.ปัญหาโลกแตก การแก้ปัญหาความรุนแรงและเหตุทะเลาะวิวาทของเด็กอาชีวศึกษา 2.สำรวจให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟู โรงเรียน สถานศึกษา ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย 3.เร่งสร้างค่านิยม และปรับภาพลักษณ์อาชีวศึกษาเพื่อจูงใจให้มีผู้เรียนต่อสายอาชีพเพิ่มขึ้น 4.ทบทวนหลักสูตรการเรียนการสอน เน้นให้ผู้เรียนคิด วิเคราะห์เป็น
5.ทบทวนเงินอุดหนุนรายหัวให้แก่นักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งรัฐและเอกชน ช่วยเหลือค่าอุปกรณ์การเรียนของนักเรียนสายอาชีพ และช่วยเหลือเด็กยากจน พิการและด้อยโอกาส 6.เร่งขยายบทบาทของภาคเอกชนในการมีส่วนร่วมในระบบการศึกษา โดยเฉพาะการจัดทำข้อตกลงระหว่างผู้ประกอบการให้สนับสนุนและรับนักเรียนนักศึกษาเข้าทำงานหลังสำเร็จการศึกษา 7.ปรับระบบการบรรจุ และทบทวนมาตรฐานวิชาชีพครูให้เอื้อต่อการเพิ่มโอกาสให้มีบุคลากรที่เหมาะสมเข้าสู่ระบบการศึกษามากขึ้น
8.เร่งทบทวนมาตรการจัดกิจกรรมรับน้องของสถาบันการศึกษาต่างๆ มีมาตรการติดตาม ควบคุม การลักลอบจัดกิจกรรมรับน้องทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษาให้เป็นในแนวทางสร้างสรรค์ ปลอดภัย ปราศจากการใช้ความรุนแรงและละเมิดทางเพศ 9.ทบทวนมาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับกิจกรรมทัศนศึกษา และมาตรการความปลอดภัยในการเดินทางเป็นหมู่คณะของนักเรียน นักศึกษา และ 10.ดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนของคณะรัฐมนตรี (ครม.)
พล.ร.อ.ณรงค์ บอกว่า ความหวังที่อยู่ในใจเมื่อมารับตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการนั้น อยากเห็นเรื่องปฏิรูปการศึกษาสัมฤทธิผลภายใน 1 ปี ผลผลิตหรือนักเรียนออกมามีคุณภาพ เพราะทุกวันนี้สังคมตั้งคำถามต่อ ศธ.ในฐานะได้รับงบประมาณเป็นอันดับหนึ่งว่า จัดการศึกษาไม่ได้ตามเป้าหมาย และไม่คุ้มค่ากับงบประมาณมหาศาลที่ได้รับไป จึงจำเป็นต้องเร่งปฏิรูปการศึกษา
"ส่วนอีกเรื่องสำคัญคือ การสร้างค่านิยม อาชีวะสร้างชาติ แทนที่ ปริญญาตรีสร้างชาติ จูงใจให้ผู้เรียนหันมาสนใจเรียนต่อสายอาชีพ เพื่อให้สัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพเพิ่มเป็น 60% จากปัจจุบันแค่กว่า 30% ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เผชิญภาวะขาดแคลนแรงงานทักษะ" พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าว
ต้องติดตามดูว่า การบริหารของกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้ "รัฐมนตรีทหารผสมกับรัฐมนตรีพลเรือน" นั้น จะสามารถทำความเข้าใจประเด็นทางสังคม และนำไปสู่การ ผ่าตัด ระบบการจัดศึกษาให้มีคุณภาพ ในระดับที่การศึกษาเป็น "ธงนำ" พัฒนาประเทศสมดังที่รัฐบาล "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" วาดหวังเอาไว้หรือไม่
วันพุธที่ 17 กันยายน 2557
ขอบคุณแหล่งข้อมูล: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
คำสำคัญ: , คมชัดลึก
No comments:
Post a Comment