Saturday, September 13, 2014

ผลเลือด"ชาวดัตช์"ไม่พบ"อีโบลา"

ผลเลือดครั้งที่ 1 "ชายชาวดัตช์" เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค "อีโบลา" เป็นลบ รอผลยืนยันรอบ 2 วันที่ 15 ก.ย.

12 ก.ย. 57 พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสาธารณสุข กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวความคืบหน้า อาการผู้ป่วยชาวเนเธอร์แลนด์ เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา รายที่ 2 ของไทย ว่า ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรครายนี้ เป็นชาย อายุ 52 ปี หลังจากเดินทางกลับจากทำธุรกิจที่ประเทศไนจีเรีย พบว่า มีไข้สูง 38 องศาเซลเซียส แต่ล่าสุด ได้เข้าพักรักษาตัว และอยู่ห้องแยกโรคที่โรงพยาบาลราชวิถี อาการ ณ วันที่ 12 กันยายน ดีขึ้นมาก โดยไข้ลดเหลือ 37 องศาเซลเซียส คล้ายอาการไข้หวัดทั่วไป ซึ่งแพทย์ก็ยังเฝ้าติดตามอาการอยู่ และได้เจาะเลือดส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และห้องปฏิบัติการของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลการตรวจเชื้อ ครั้งที่ 1 พบว่า เป็นลบ

"ตามขั้นตอนตรวจยืนยันโรค จะต้องมีการตรวจซ้ำ ครั้งที่ 2 โดยนับไปอีก 5 วัน หลังจากพบอาการป่วย คือ วันที่ 15 กันยายนนี้ หากผลการตรวจเลือด ครั้งที่ 2 เป็นลบ แพทย์จะพิจารณาอนุญาตให้กลับบ้านได้"

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า หากผลการตรวจเลือด ครั้งที่ 2 เป็นลบ และแพทย์พิจารณาอาการผู้ป่วยปกติดี ก็จะอนุญาตกลับบ้านได้ ซึ่งในผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยอีก 21 ราย ก็จะไม่ต้องเฝ้าระวังตามเกณฑ์องค์การอนามัยโลกอีก อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่า ขณะนี้ไทยยังไม่พบผู้ป่วยโรคอีโบลา มีเพียงผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคอีโบลา เท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมา มีเพียง 2 ราย คือ รายแรกเป็นหญิงชาวกินี แต่สุดท้ายพบว่าเป็นโรคมาลาเรีย และรายที่ 2 คือ ชายชาวเนเธอร์แลนด์ ซึ่งอยู่ระหว่างรอผลตรวจเลือดครั้งที่ 2 สำหรับผู้เดินทางจากประเทศที่ระบาดเข้ามายังสนามบินสุวรรณภูมิ มี 1,100 คน ยังไม่พบอาการผิดปกติใดๆ

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า องค์การอนามัยโลก รายงานสถานการณ์ผู้ป่วยโรคอีโบลา ในกินี ไลบีเรีย เซียร์รา ลีโอน และลากอสของไนจีเรีย ถึงวันที่ 6 กันยายน 2557 มีผู้ป่วยสะสม 4,269 ราย เสียชีวิต 2,288 ราย โดยไลบีเรีย พบปัญหามากที่สุด และขณะนี้ก็มีปัญหาขาดแคลนอาหาร เนื่องจากปิดประเทศ และประเทศรอบๆ ก็ไม่เข้ามา ซึ่งองค์การอนามัยโลก และศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐ (ซีดีซี) กำลังช่วยเหลือ และเร่งระดมเงินบริจาค 600 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อช่วยเหลือด้วย โดยคาดว่า 6-9 เดือน น่าจะควบคุมสถานการณ์ดีขึ้น

นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจวิชาการ และรักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า เมื่อรับผู้ป่วยรายนี้เข้ามารักษา มีข่าวว่าผู้ป่วยใน รพ.วิตกกังวลบ้าง แต่ รพ.ได้อธิบายว่า ไม่ใช่ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสอีโบลา เป็นเพียงผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค และโรคนี้ไม่ได้ติดต่อทางเดินหายใจ แต่ติดจากการสัมผัส ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย โดยทุกคนก็เข้าใจดี

--------------------------------- (หมายเหตุ : ภาพประกอบข่าว)

---------------------------------

(หมายเหตุ : ภาพประกอบข่าว)

วันศุกร์ที่ 12 กันยายน 2557

ขอบคุณแหล่งข้อมูล: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

คำสำคัญ: , คมชัดลึก

No comments:

Post a Comment