Monday, August 11, 2014

"พัทยา" วัดศรัทธาของผู้มี"ศีลธรรม

เปิดโลกการศึกษามุสลิม ตอน: "พัทยา" วัดศรัทธาของผู้มี"ศีลธรรม"

กลับมาสู่ดินแดนบ้านเกิดขึ้นครั้ง 2014 “ประเทศไทย ดินแดนสวรรค์” ตามที่นักท่องเที่ยวอาหรับชอบพูดกันเมื่อเอ่ยถึง “ไทยแลนด์” และสถานที่ท่องเที่ยวที่เด็ดๆ ดังๆ เช่น แบงค็อก พัทยา ภูเก็ต กระบี่ พังงา เกาะสมุย และอื่นๆ รู้สึกภาคภูมิใจกับการที่ชาวต่างชาติชื่นชมดินแดนไทยเรา จึงไม่แปลกที่วันหนึ่งๆ อาหรับอียิปต์ต่อแถวยาวเหยียดเพื่อขอวีซ่ามาไทยวันละ 90-100 คน โดยประมาณ

เมืองพัทยา เมืองที่มีการปกครองเป็นของตัวเอง และเป็นเมืองที่ได้ชื่อว่า เมืองแห่งสวรรค์ ขาสั้นเสมอหู คู่เบียร์เหล้า เคล้านารี และสตรีหลายเพศ... เมืองนี้จะมีแต่เรื่องพวกนี้จริงหรือ แล้วเมืองนี้พี่น้องมุสลิมเขาอยู่ร่วมกับสังคมแบบนี้ได้อย่างไร วันนี้เปิดโลกการศึกษามุสลิมจึงขอนำแฟนๆ มาเปิดโลกเมืองพัทยาพร้อมกับการศึกษาการเป็นอยู่ของพี่น้องมุสลิมที่ใครๆ ต่างอยากรู้กัน

เท่าที่สืบค้นมามัสยิดในทำเนียบจังหวัดชลบุรีและเมืองพัทยา มีมัสยิดทั้งหมด 29 มัสยิด ทั่วเมือง และปีนี้ได้มาร่วมละหมาดวันศุกร์ ที่มัสยิด “ตออะติ้ลละห์” เมืองพัทยาใต้ ตั้งอยู่ที่ 58 หมู? 10 ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยมี อาจารย์ชาลี ตอฮา ดำรงตำแหน่งโต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิด นายวีระ ตอฮา ดำรงตำแหน่งคอเต็บ และนายบัณฑิต มูลทรัพย์ ดำรงตำแหน่งบิหลั่น ซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางแสงสีเสียง ที่ห้อมล้อมไปด้วยร้านค้ายามค่ำคืน ตามปกติของเมืองที่ได้ชื่อว่าเมืองท่องเที่ยว

อาจารย์ชาลี ตอฮา โต๊ะอิหม่ามมัสยิดตออะติ้ลละห์ อธิบายว่า ที่จริงแล้วมุสลิมมีระบบการป้องกัน การใช้ชีวิตในแต่ละวันโดยมีตัวบทอันสูงส่งในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานและมีแบบอย่างให้เดินตามคือแนวทางของท่านรอซูลุลลอฮ์ ทำให้การอยู่รวมกับสังคมใดก็ได้อย่างสงบและสันติ จริงอยู่ว่าเมืองพัทยาเป็นที่กล่าวขวัญ เป็นที่รู้จักในด้านการท่องเที่ยวในหลายรูปแบบที่เกิดขึ้นในสถานที่แห่งนี้ จริงๆ แล้วในเมืองพัทยาก็ยังมีมัสยิด มีบ้านของอัลลอฮ์อยู่ จึงไม่แปลกที่อาหรับในหลายๆ ประเทศ หรือมุสลิมทั่วโลกที่เดินทางมายังพัทยา เมื่อได้ยินเสียงอาซานจากมัสยิด ความเป็นมุสลิมที่ติดอยู่ในเส้นเลือดของพวกเขา จึงต้องมาตามคำเชิญชวนให้มาละหมาด บางคนถึงกับมาร้องไห้กับความตื้นตันใจที่เมืองไทย

โดยเฉพาะในสถานที่ท่องเที่ยวแบบนี้ยังมีเสียงอาซานให้ได้ยิน ยังมีบ้านของอัลลอฮ์รอต้อนรับ มัสยิดเป็นที่ร่วมละหมาดของนักท่องเที่ยว นักธุรกิจเป็นประจำ มัสยิดในเดือนรอมาฎอนคณะกรรมการมัสยิดมีการร่วมรับประทานอาหารร่วมกันคืนล่ะประมาณ 200 คน ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติร่วมละศีลอดพร้อมกันตลอดจนสิ้นเดือน และทุกคนจะมีการละหมาดตารอเวียะฮ์ พร้อมกับทำการกียามุลลัย (ละหมาดตอนกลางดึก 02.00 น.) ตลอดทั้งคืน จนเสร็จสิ้นเดือนรอมาฎอน...พัทยา ถ้าคิดแล้วก็คือเมืองที่สามารถวัดถึงความศรัทธาของคนมุสลิมว่าจะหลงทางหรือไม่ และยังวัดถึงความศรัทธาของเราที่มีต่ออัลลอฮ์อีกด้วย

ในขณะที่ผู้ทำหน้าที่อ่านคุตบะห์ อาจารย์บัณฑิต มูลทรัพย์ อดีตนักศึกษาจากมหาลัยศาสนา ประเทศจอร์แดน บอกว่า เมืองพัทยาเป็นเมืองท่องเที่ยว เป็นเมืองธุรกิจ สังคมต่างๆ จึงแตกต่างจากที่อื่น เพราะต้องแข่งกับเวลา โดยเฉพาะในเรื่องครอบครัว จึงเป็นเรื่องที่ต้องระวัง ด้วยเหตุนี้ มัสยิดนี้ได้เปิดสอนศาสนาให้แก่น้องๆ ที่อยู่ในวัยเรียน เพราะเสริมฐานชีวิตในการปลูกฝังเรื่องศาสนาเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กๆ เหล่านี้หลงละเลิงไปกับแสงสีเสียง

แม้จะเป็นการสอนในระยะสั้นๆ แต่ก็พยายามสอนอย่างเต็มที่ นี่คือความภาคภูมิใจของการเป็นครูที่ได้ร่ำเรียนมา เงินเดือนใครๆ ก็อยากได้ แต่บางครั้งเงินเดือนกลับไม่ใช่สิ่งที่ต้องมากกว่าความหวังความตั้งใจให้เด็กๆ เยาวชนเหล่านี้ได้มีฐานศาสนาที่มั่นคงไว้เป็นที่ยึดเหนี่ยวใจให้แก่พวกเขา และมั่นใจว่า แม้เวลาสอนจะน้อยนิด แต่เป็นการสอนด้วยจิตวิทยาแห่งความเป็นครูด้วยความบริสุทธิ์ใจและจะทำต่อไปแม้จะมีอาชีพอื่นเข้ามาก็ตาม

“อิสลาม” ไม่ได้สอนให้หนีสังคม ไม่ได้สอนให้รังเกียจสังคม แต่อิสลามสอนให้เป็นเพื่อน พี่น้อง เป็นเสื้อผ้า เป็นยา ที่คอยรักษาสังคมให้อยู่คู่กับทุกคนทุกสังคมได้อย่างมีความสุข พัทยาไม่ได้มีแค่การสวมใส่กางเกงขาสั้น แต่ยังมีผ้าโสร่งกุฟฟีเยาะห์ และเสื้อโต๊ปให้เห็นอยู่ในพื้นที่อันบริสุทธิ์แห่งนี้ ถ้าเปรียบพัทยาก็ดังคนมีโรคอันหลากหลาย มัสยิดก็คือ ถิ่นบำบัดหัวใจ รักษาโรคภายใน ของทุกคนที่ต้องการเยียวยาเท่านั้นเอง...

วันพฤหัสบดีที่ 7 สิงหาคม 2557

ขอบคุณแหล่งข้อมูล: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

คำสำคัญ: วัด, พัทยา, มุสลิม, ศรัทธา, ศีลธรรม, คมชัดลึก, ข่าวทั่วไป, การศึกษาสาธารณสุขสิ่งแวดล้อม, ข่าวการศึกษาสาธารณสุขสิ่งแวดล้อม

No comments:

Post a Comment