Thursday, June 26, 2014

เจาะลึก...รพ.สต.!วันที่เป็น"หมออนามัยหน้าจอ"

เจาะลึก...รพ.สต.!วันที่เป็น"หมออนามัยหน้าจอ" : พวงชมพู ประเสริฐรายงาน

"หมออนามัยหายไปไหน" เป็นคำถามที่เกิดขึ้นตามหมู่บ้านในต่างจังหวัด โดยเฉพาะกลุ่มผู้เฒ่าผู้แก่ที่คุ้นชินกับการที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือหมออนามัย จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือเดิมคือสถานีอนามัย ลงพื้นที่ไปเยี่ยมบ้าน สอบถามเรื่องสุขภาพ และให้ความรู้ในการป้องกันโรคต่างๆ แต่ช่วงเกือบ 10 ปี ที่ผ่านมา ภาพเหล่านี้ดูจะเลือนหายไป "คม ชัด ลึก" มีโอกาสลงพื้นที่ อ.โพทะเล จ.พิจิตร เพื่อเจาะลึกการทำงานของหมออนามัย พบว่าเหตุผลสำคัญเป็นเพราะ 21 แฟ้มจนทำให้กลายเป็น "หมออนามัยหน้าจอ" แทนที่ "หมออนามัยหมู่บ้าน"

บุญสม เขนัว เจ้าพนักงานสาธารณสุขปฏิบัติงาน รพ.สต.ทะนง อ.โพทะเล จ.พิจิตร ยอมรับว่า ปัจจุบันหมออนามัยต้องใช้เวลาส่วนใหญ่กับการนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อบันทึกข้อมูลสุขภาพมาตรฐานของประชาชนในเขตรับผิดชอบ เพื่อใช้แลกกับเงินที่จะจ่ายให้ รพ.สต. แทนที่จะใช้เวลาในการลงเยี่ยมบ้าน เรียกว่า ข้อมูล 21 แฟ้ม ซึ่งข้อมูลจะบันทึกแล้วจัดส่งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ก่อนส่งต่อไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เจ้าของเม็ดเงินหลักที่จะจ่ายลงมา ในแต่ละแฟ้มข้อมูลที่ต้องบันทึก อาทิ ข้อมูลหมู่บ้าน ข้อมูลประชากร และข้อมูลการให้วัคซีน เป็นต้น โดยข้อมูลที่ต้องบันทึกมีจำนวนมากและบางเรื่องต้องบันทึกซ้ำซ้อน ภาระงานของ รพ.สต.ด้านการบันทึกข้อมูลจึงไม่ใช่จะดำเนินการได้ในระยะเวลาเพียง 1 ชั่วโมง หรือ 1 วัน เนื่องจาก รพ.สต. 1 แห่ง รับผิดชอบประชากรใน 6-12 ตำบล ประมาณ 4-5 พันคน

ข้อมูลที่ต้องบันทึกจะเป็นข้อมูลรายบุคคล และประชากร 1 คน จะต้องบันทึกข้อมูลจำนวนมากตามตัวชี้วัดที่หน่วยงานส่วนกลางกำหนดให้ รพ.สต.ต้องทำ แบ่งเป็น 5 ประเภทตามกลุ่มอายุ คือ หญิงตั้งครรภ์ เด็กแรกเกิด กลุ่มเด็ก กลุ่ม 15 ปีขึ้นไปและผู้สูงอายุและผู้พิการ และก่อนที่จะมีการบันทึกข้อมูลจะต้องใช้เวลาในการหาข้อมูลดิบด้วย ยกตัวอย่าง ชาวบ้าน เพศหญิงอายุ 15 ปีขึ้นไป 1 คน หมออนามัยจะต้องทำการบันทึกข้อมูลพื้นฐาน และข้อมูลการคัดกรองซึมเศร้า มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม และการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้ต้องบันทึกลง 21 แฟ้ม และหน้าเว็บไซต์ที่สปสช.กำหนดด้วย เช่น ข้อมูลการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกต้องรายงานหน้าเว็บของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เป็นต้น มิฉะนั้น รพ.สต.ก็จะไม่ได้รับเงิน

"การบันทึกข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงงานประจำที่ต้องนั่งบันทึก และมีการตรวจสอบข้อมูลโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ถ้าพบความผิดพลาดต้องมานั่งแก้ไขข้อมูลใหม่ เพราะหากข้อมูลที่ส่งไม่ครบหรือไม่ถูกต้องตามมาตรฐานที่กำหนด เงินที่จะได้รับก็จะถูกตัด ต้องทำบันทึกงานจร โดยเฉพาะงานที่จะถูกประเมินจากหลายหน่วยงานในแต่ละปี เช่น วัดส่งเสริมสุขภาพ ชมรมผู้สูงอายุ หมู่บ้านจัดการสุขภาพ กองทุน สปสช.ตำบล และมาตรฐานแพทย์แผนไทย จึงไม่แปลกที่การทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ จะไม่เหลือเวลาลงเยี่ยมบ้านชาวบ้านเพื่อแนะนำส่งเสริมเรื่องต่างๆ ตามบทบาทหน้าที่หลักของหมออนามัย" บุญสม กล่าว

อำนาจ รุ่งสว่าง นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) พิจิตร บอกว่า รพ.สต.ไม่ได้ปฏิเสธภาระงานที่ต้องบันทึกข้อมูลสุขภาพของประชาชนลงในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แต่ที่เป็นปัญหา เป็นเพราะการจำกัดเวลาในการบันทึกข้อมูล โดยจะต้องบันทึกข้อมูลแต่ละเรื่องให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลาที่ สปสช.กำหนด หากเรื่องใดส่งไม่ทันตามกำหนดเวลาก็จะไม่ได้รับการจัดสรรเงิน ซึ่งทุกเดือนตลอดปีจะมีการกำหนดให้ส่งบันทึกในแต่ละเรื่อง อาทิ การคัดกรองต่างๆ ต้องเสร็จเดือนธันวาคม และน้ำหนักเด็กต้องเสร็จภายในเดือนมีนาคม เป็นต้น

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ หมออนามัยไม่มีเวลาเหลือที่จะทำงานด้านการส่งเสริมป้องกันโรค จากเดิมที่มีเวลาเยี่ยมบ้านเดือนละ 15 วัน เหลือเพียง 4 วันต่อเดือนเท่านั้น และรพ.สต.ที่มีเจ้าหน้าที่เพียง 2 คน ต้องสำรอง 1 คน สำหรับการให้บริการรักษาอยู่ที่รพ.สต. จึงเหลือเพียง 1 คน ที่จะทำหน้าที่หาข้อมูลและบันทึกข้อมูลต่างๆ ขณะที่บางพื้นที่ต้องจ้างลูกจ้างเพิ่มเพื่อมาทำหน้าที่บันทึกข้อมูลโดยเฉพาะ ใช้งบประมณจากเงินบำรุง รพ.สต.แต่นานๆ ไปอาจจะส่งผลต่อสภาพคล่องทางการเงินของ รพ.สต. ดังนั้น จึงไม่ควรบีบการทำงานด้วยการกำหนดเวลาที่ต้องส่งบันทึกข้อมูลเพื่อรับเงินและยกเลิกการบันทึกข้อมูลบางเรื่องที่ไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของหมออนามัย

การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ชัยณรงค์ สังข์จ่าง นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) โพทะเล เสนอว่า ควรเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนทำงานระดับปฐมภูมิ ให้คุณค่างานสุขภาพชุมชนในการส่งเสริมป้องกันโรค รวมถึงปรับโครงสร้างและกลไกการจัดสรรเงินใหม่ โดยจัดสรรให้แก่หน่วยงานระดับปฐมภูมิ หรือรพ.สต.โดยตรง ทั้งงบด้านการจัดบริการพื้นฐานและการส่งเสริมป้องกัน และปรับโครงสร้างระบบข้อมูลข่าวสารและระบบงานให้ตอบสนองระบบสุขภาพชุมชนและพื้นที่ ไม่ใช่ทำเพื่อนำไปใช้แลกเงิน

คงถึงเวลาที่ต้องคืนหมออนามัยกลับสู่ชุมชน ให้ทำหน้าที่หลักเรื่องการส่งเสริมสุขภาพประชาชน ไม่ใช่การกรอกข้อมูลหน้าจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงสาธารณสุข และสปสช. อยู่ระหว่างการหารือเพื่อปรับการทำงานของรพ.สต. .............................................. (หมายเหตุ : เจาะลึก...รพ.สต.!วันที่เป็น'หมออนามัยหน้าจอ' : พวงชมพู ประเสริฐรายงาน)

วันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน 2557

ขอบคุณแหล่งข้อมูล: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

คำสำคัญ: หมอ, ลึก, วัน, หน้า, เจาะ, อนามัย, คมชัดลึก, หมออนามัย, ข่าวทั่วไป, การศึกษาสาธารณสุขสิ่งแวดล้อม, ข่าวการศึกษาสาธารณสุขสิ่งแวดล้อม

No comments:

Post a Comment