Tuesday, June 17, 2014

"สวนพริกเมืองแพร่"ห้องเรียนธรรมชาติของงานวิจัยบริบทท้องถิ่น

"สวนพริกเมืองแพร่"ห้องเรียนธรรมชาติของงานวิจัยบริบทท้องถิ่น : สกว.รายงาน

นายธนากร อึ้งจิตรไพศาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นประธานเปิดการเสวนาการพัฒนาระบบฐานข้อมูลทรัพยากรเกษตร และกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนในจังหวัดแพร่ ณ ห้องประชุม สหกรณ์ออมทรัพย์ครูแพร่ จังหวัดแพร่ ซึ่งจัดขึ้นโดยฝ่ายเกษตร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และโครงการวิจัย “ศักยภาพเชิงพื้นที่: โอกาสและความเสี่ยงต่อทางเลือกในการผลิตทางเกษตรของจังหวัดแพร่” เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์งานวิจัยและข้อมูลด้านทรัพยากรเกษตรของจังหวัดแพร่ โดยเฉพาะในบริบทท้องถิ่น ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนโดยผ่านการทำโครงงานบนฐานวิจัย (RBL) ในโอกาสนี้รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ได้กล่าวถึงนโยบายการพัฒนาการเกษตรของจังหวัดแพร่ สรุปสาระสำคัญได้ว่า แพร่เป็นพื้นที่แรก ๆ ที่มีน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลาก ขณะเดียวกันก็ประสบภัยแล้ง รัฐบาลจึงกำหนดโครงการยมบนยมล่างเพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการแม่น้ำยม ทั้งนี้ประชากรแพร่ร้อยละ 64 ประกอบอาชีพด้านการเกษตร แต่มีพื้นที่ทำการเกษตรในระบบชลประทาน 8 แสนกว่าไร่ แต่ละครัวเรือนถือครองที่ดินเฉลี่ย 3.5 ไร่ เป็นเหตุให้เกิดการบุกรุกป่าเพื่อทำการเกษตรที่ใช้น้ำน้อย ส่วนใหญ่เพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นปัญหามากสุดคือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อคนต่อปีไม่ถึง 40,000 บาท ทั้งที่แพร่มีความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าและมีรายได้จากการส่งออกไม้สักมาช้านาน ทางจังหวัดจึงคิดหาโอกาสที่จะทำงานชิ้นโบว์แดงที่มีผลกระทบในวงกว้าง และสร้างรายได้ให้แก่ผู้อยู่ในวงจรทั้งหมด โดยต้องต่อยอดจากฐานเดิมมิใช่สร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด ภายใต้แนวคิด “พัฒนาเมืองคู่ปั้นเศรษฐกิจ” ในด้านการท่องเที่ยว ป่าไม้เศรษฐกิจ และเกษตรคุณภาพสูงใน โดยเฉพาะการปลูกป่าด้วยป่าเศรษฐกิจ เช่น ปลูกไม้ผลชนิดอื่นทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถมาคิดวางแผนประกอบเพื่อใช้ประโยชน์จากไม้ยืนต้น ไม้ระดับกลาง และไม้พื้นที่สามารถเก็บกินได้ตลอดทั้งปี การพัฒนาสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่แบ่งเป็น 6 เขต คือ (1) ลานกองเก็บตู้สินค้า (containner yard) โดยก่อสร้างรถไฟรางคู่แยกจาก อ.เด่นชัย จ.แพร่ ไปสิ้นสุดที่ อ.เชียงของ (2) เขตเศรษฐกิจใหม่ ใน อ.เมือง ทั้งการโยกย้ายศูนย์ราชการ การสร้างศูนย์รวบรวมและถ่ายทอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูงด้านการเกษตร และมหาวิทยาลัยแพร่ (3) นิคมอุตสาหกรรมการเกษตร และการจัดตั้งกองทุนตั้งตัวได้ จัดทำแผนธุรกิจกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้เกิดเกษตรกรรุ่นใหม่และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (4) ผลิตภัณฑ์ข้าวคำหอม ทั้งการบริโภคและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวให้เกษตรกรพื้นที่อื่นเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดทั้งจากรัฐและเอกชน และได้มาตรฐาน GAP (5) เฟอร์นิเจอร์ซิตี้ ภายใต้แนวคิดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (6) เหล้าขาวสะเอียบ ยกสุราพื้นบ้านให้เทียบเท่าต่างชาติ “อยากให้ทุกคนที่มาร่วมเสวนามองเห็นอนาคตร่วมกันและจับมือเดินไปร่วมกัน นำความรู้ความเข้าใจที่ได้รับจากผลงานการวิจัยซึ่งเป็นการปฏิบัติงานร่วมกัน ฝันไปด้วยกัน เดินหน้าไปในอนาคตด้วยตัวเอง จังหวัดแพร่จะไม่ใช่จังหวัดที่ 64 ของประเทศไทยอีกต่อไป และเชื่อมั่นว่าฐานความรู้จากการวิจัยจะเป็นฐานที่นำไปต่อยอดการพัฒนาจังหวัดแพร่ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป” ด้าน รศ. ดร.จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ รองผู้อำนวยการ สกว. ด้านการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ และผู้อำนวยการฝ่ายเกษตร กล่าวว่า การสร้างความยั่งยืนในปัจจุบันและตอบสนองความยั่งยืนในอนาคตนั้น มีปัจจัยสำคัญคือ ฐานทรัพยากร สกว.จึงได้สนับสนุนโคงการวิจัย “ศักยภาพเชิงพื้นที่: โอกาสและความเสี่ยงต่อทางเลือกในการผลิตทางเกษตรของจังหวัดแพร่” โดยมี ผศ. ดร.ถาวร อ่อนประไพ เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญของเกษตรกรที่จะต้องมีความรู้พื้นฐานครบถ้วนและเข้าใจฐานทรัพยากรในชุมชน ทั้งนี้อาชีพเกษตรเกี่ยวข้องกับคนหมู่มากจึงขอร้องเพิ่มเติมให้นักวิจัยเชิญชวนสถาบันการศึกษาในพื้นที่เข้ามาทำงานร่วมกัน เพื่อเรียนรู้และนำทุนความรู้ตลอดจนประสบการณ์ของนักเรียนและพ่อแม่ผู้ปกครองมาศึกษาพัฒนา ทำความเข้าใจและแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งเป็นการวิจัยวิถีเกษตรแบบใหม่ที่จะทำให้ความรู้ฝังตัวอยู่ในจังหวัด และนำมาซึ่งการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายของโครงการวิจัยนี้คือการบูรณาการข้อมูลต่าง ๆ ในระบบทรัพยากรทางเกษตรจังหวัดแพร่ (PARS) ที่สร้างขึ้นให้สามารถประยุกต์ใช้ในการจัดการทรัพยากรทางเกษตรทั้งในระดับจังหวัดและท้องถิ่น โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของกลุ่มครูและนักเรียนในจังหวัดแพร่ จำนวน 14 โรงเรียน ในการร่วมกันออกแบบฐานข้อมูล เก็บข้อมูลภาคสนามด้วยแบบสอบถาม เก็บตัวอย่างดิน เก็บพิกัดตำแหน่งแปลงโดยใช้ GPS เพื่อที่จะสามารถนำข้อมูลที่ได้มาเชื่อมโยงกับระบบทรัพยากรทางการเกษตรจังหวัดแพร่ โดยมีทีมวิจัยเป็นผู้จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้รู้จักพืชและเข้าใจวิธีปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจากการสัมภาษณ์เกษตรกรที่เป็นพ่อแม่ญาติพี่น้องของนักเรียนเอง ทำให้รู้จักพืชเศรษฐกิจ ทรัพยากรดินและน้ำ ป่าไม้ในพื้นที่ รวมถึงต้นทุนการผลิต การจัดจำหน่าย และปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ก่อนจะร่วมสังเคราะห์ปัญหาของแต่ละพื้นที่กับทีมวิจัยจนเกิดเป็นโจทย์วิจัยของแต่ละโรงเรียนที่แตกต่างกัน ตัวอย่างของการดำเนินงานวิจัยบริบทท้องถิ่นคือ โรงเรียนม่วงไข่พิทยาคม ที่ใช้สวนพริกของพ่อแม่ ญาติพี่น้อง เป็นห้องเรียนธรรมชาติ ซึ่งทำให้เด็กนักเรียนได้รับรู้ถึงความยากลำบากในการประกอบอาชีพการเกษตร เกิดความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจเกษตรกรมากยิ่งขึ้น ซึ่งการดำเนินงานวิจัยของโรงเรียนดังกล่าวทำให้ครูและนักเรียนได้เรียนรู้และลงมือทำกระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่นักเรียนได้เรียนมา เพื่อหาสาเหตุและแนวทางแก้ไขปัญหาในชุมชนของตนเอง

วันอาทิตย์ที่ 15 มิถุนายน 2557

ขอบคุณแหล่งข้อมูล: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

คำสำคัญ: สวน, งาน, พริก, แพร่, ห้อง, วิจัย, เมือง, เรียน, บริบท, ธรรมชาติ, คมชัดลึก, ท้องถิ่น, ข่าวทั่วไป, การศึกษาสาธารณสุขสิ่งแวดล้อม, ข่าวการศึกษาสาธารณสุขสิ่งแวดล้อม

No comments:

Post a Comment