Sunday, April 27, 2014

“บุคลากรเขตพื้นที่การศึกษา” : “พนักงานออฟฟิศ” หรือ “นักพัฒนาการศึกษา” ?

"พนักงานออฟฟิศ มิใช่งานวิชาการ" "เป็นจ่า...มิใช่นายร้อย" "มนุษย์เงินเดือนคนทำงานในห้องแอร์....มิได้สอน" "อยู่ส่วนภูมิภาคจะก้าวหน้ากว่าส่วนกลางได้ไง?" "เรียกร้องอะไรนักหนา...สุดท้ายก็ไม่พ้นเชิงตะกอน"

.

ดูเหมือนคำบ่น คำเปรียบเปรยเหล่านี้ จะชินหูชินโสตประสาทของเหล่าบรรดาสมาชิก "บุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2)" ที่ทำงานอยู่บน "สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา" ในทุกครั้งทุกคราวที่เกิดเวทีสาธารณะระหว่าง "คนทำงานบนเขต" กับ "ผู้บริหารระดับกรม-กระทรวง"

.

ปัญหาพัฒนาการทางตำแหน่งหรืออนาคตของ"คนทำงานบนเขต" ดูเหมือนว่า "ผู้หลักผู้ใหญ่-ผู้บริหารระดับสูง" มักจะด่วนสรุปตั้งธงนำหน้าทันควันทันใดในทุกครั้งที่ทราบว่ามี "คนบนเขตพื้นที่การศึกษา"เดินทางเป็นร้อยเป็นพันคนจากทั่วประเทศมารวมตัวรวมพลในกทม.ว่า เป็นปรากฎการณ์ "เรียกร้องความก้าวหน้า"บ้าง "งานการไม่ทำ"บ้าง และก็ต้องมาเวียนว่ายคอยตอบคำถามชี้แจงซ้ำซากด้วยการสาธยาย "กฎเกณฑ์-กติกา-ระเบียบ-กฎหมายพัฒนาบุคคล" แบบใครๆที่มีประวัติศาสตร์ร่วมเดินทางมืออาชีพต่างก็รู้คำตอบล่วงหน้าว่า ยุทธวิธี "รับเรื่อง ปลอบปล่อย ลอยตัว" เป็นเช่นไร ?

.

ทั้งที่จริงแล้ว หากจะคลี่และตั้งคำถามแบบรอบด้านอ่านให้รอบทิศคิดให้รอบทางกับปรากฎการณ์ "รวมตัวของคนบนเขตจากทั่วประเทศ"ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในทำนองว่า "มีปัญหาอะไรนักหนามาเป็นสิบปีมาแล้ว" "ข้อเรียกร้องและสัญญาที่เคยรับปากไปได้สางปมไปถึงไหนแล้ว" "ผู้บริหารคนก่อนๆที่เกษียณหรือโยกย้ายความรับผิดชอบ เขาตอบและดำเนินการอย่างไรไปบ้าง" "กลุ่มบุคลากรที่ออกมาเรียกร้องซ้ำๆซากๆเหล่านี้มีความสำคัญต่อการพัฒนาศึกษาไหม" ฯลฯ นานัปการกับปมปัญหาพัฒนาบุคลากรของ "คนบนเขต"ที่ถูกแช่แข็งและดองเค็มมายาวนาน ผู้บริหารการศึกษาทุกระดับต้องตั้งคำถามและเข้ามาล้วงลูก ลงพื้นที่ คลี่ภารกิจกับสมดุลบุคลากรอย่างจริงจัง

.

โดยต้องตั้งธงและเปลี่ยนวิธีคิดว่า กลุ่มบุคลากรทางการศึกษาอื่นเหล่านั้น คือ พลังขับเคลื่อนทางการศึกษาที่ทำงานด้านการยกระดับการจัดการศึกษาชาติ เช่นเดียวกับครู ผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ ซึ่งมีทั้งการสอน การบริหาร การส่งเสริม สนับสนุน ต่างวิธีการ-วิธีพัฒนา มิใช่ "พนักงานออฟฟิศ รับออเดอร์ เซอร์วิสมายด์" อย่างที่ผู้บริหารบางหน่วยงานมักจะเอื้อนเอ่ยเปรียบเปรยอยู่บ่อยครั้ง

.

"บุคลากรทางการศึกษา" บนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้งประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทั่วประเทศ ในสัดส่วน "บุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2) ของพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547" จำนวน 225 เขต แบ่งเป็นหน่วยประถมศึกษา 183 เขต หน่วยมัธยมศึกษา 42 เขต รวมจำนวนอัตรากำลังกว่า 14,000 คนกับ "ชีวิตและลมหายใจของบุคลากรทางการศึกษา" ที่อุปมาอุปไมยประหนึ่ง "ชีพจรทางการศึกษา" ที่มีระดับมาตรฐาน ศักยภาพ อำนาจหน้าที่ทั้งในกฎหมายบัญญัติและในปฏิกริยาพึงมีพึงเป็นตามระเบียบ มติ กติกา กฎหมายลูก การ"กอดระเบียบกฎเกณฑ์พัฒนาบุคลากรอย่างแนบแน่น" โดยมิได้เปิดมุมมองในฐานะ "หน่วยงานพัฒนาการศึกษาชาติ" ตามบริบทความรับผิดชอบและวิถีปฏิบัติต่างกรรมต่างวาระ คือ การสอน การบริหาร การนิเทศและการส่งเสริมสนับสนุน จึงเป็นพันธนาการทางความคิด การสางปมปัญหาพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจึงผูกติดอยู่กับบางมุมมอง ดังนี้

.

1. หน่วยงานสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นหน่วยงานสนับสนุนส่งเสริมทางวิชาการและเป็นพลวัตรหนึ่งที่เกี่ยวพันกับการเร่งรัดพัฒนาคุณภาพ-ประสิทธิภาพการศึกษาไทยที่กำลังมีปัญหาเชิงประจักษ์ในระดับมหภาค มิใช่มองและยกอ้างกติกาว่าเป็นหน่วยบริการทางการศึกษาเพียงอย่างเดียว

.

2.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามิใช่มีผู้อำนวยการสำนักงานเขตหรือรองผู้อำนวยการเขตเท่านั้น หากแต่การปฎิบัติหน้าที่ที่มีลำดับการบังคับบัญชา ยังมีบุคลากรทางการศึกษา 50-60 คน มีกรอบภารกิจและพันธกิจที่จำเป็นต้องร้อยรัดพัฒนาในแนวบริหารงานเชิงวิชาการก่อนส่งต่อไปยังโรงเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ดังนั้น บุคลากรทางการศึกษาอื่นจึงต้องมีความรู้ความสามารถในวิชาชีพเฉพาะด้านตามพันธกิจและลักษณะกระบวนการพัฒนางานด้านการจัดการศึกษาร่วมกับโรงเรียน กลุ่มโรงเรียน เครือข่ายการจัดการศึกษา

.

3.การปรับโครงสร้าง การจัดระบบหน่วยงานทางการศึกษาตามนโยบายปฏิรูปโครงสร้างในทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้ กลุ่มบุคลากรที่ปฎิบัติหน้าที่ในหน่วยงานการศึกษา ต้องรับผลกระทบโดยตรงแต่เพียงกลุ่มเดียว แม้ว่าจะอยู่ในบทบัญญัติกฎหมายเดียวกัน หน่วยงานเดียวกันกับผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ หากแต่ว่า"ลู่-ไลน์"ที่ไม่ใช่ครูและไม่ใช่ข้าราชการพลเรือนสามัญ เส้นทางเดินที่ตีบตันมองไม่เห็นบันไดและจุดหมายปลายทาง การผ่องถ่าย ย้ายโอนหน่วยงาน การโบกมืออำลา การวางแผนเออรี่รีไทร์จึงเป็นการยุติและปิดฉากชีวิตข้าราชการ ขณะที่การส่งต่อภารกิจงานด้านวิชาการจากรุ่นสู่รุ่นขาดตอน กอรปกับภารกิจตามนโยบาย กลยุทธ์ จุดเน้นร่วมสมัย ตามออเดอร์กระทรวงศึกษาธิการที่ถาโถมประเดประดังลงไปยังเขตพื้นที่การศึกษา โดยที่หน่วยเหนือมิได้มองถึง พลังประสิทธิภาพบุคลากรผู้ใต้บังคับบัญชาที่คาบเกี่ยวกับวิถีชีวิตราชการ ภาระงานเชิงประจักษ์และความคาดหวังที่ส่งผลกระทบต่อนโยบายการศึกษารัฐบาลแต่อย่างใด

.

วันนี้...ผลสัมฤทธิ์ของการจัดการศึกษาไทยหากไม่โกหกตัวเองต้องยอมรับว่า "เปราะ"และ "ล้า"เหลือเกิน บางครั้ง "หน่วยกำกับตามกฎกติกา" หากหันมามองหน่วยงานเขตพื้นที่การศึกษาในมิติของความเป็นคู่ทุกข์คู่ยากด้านการจัดการศึกษาและหยั่งให้ลึกถึงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงกับสิ่งที่ "รัฐ"มองเห็น แล้วทบทวนถึงภารกิจกับการพัฒนาในโลกที่เป็นจริงบ้าง บางครั้ง...การแก้ปัญหาวิกฤตการศึกษาชาติก็อาจจะ "เกาถูกที่คัน" ก็เป็นได้....

ขอบคุณแหล่งข้อมูล: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ

No comments:

Post a Comment