Friday, April 25, 2014

การศึกษาแก้เหลื่อมล้ำต้องอาศัยต้นทุนท้องถิ่น

การศึกษาเพื่อแก้ความเหลื่อมล้ำ ต้องจัดการศึกษาด้วยต้นทุนจากท้องถิ่น : เวทีระดมความคิดเห็นรเพื่อขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษา เวทีกลุ่ม-เครือข่ายร.ร.ในสังกัดอปท.

ขณะที่โรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีทั้งโรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลางนั้น โรงเรียนเหล่านี้ถึงแม้ว่าจะมีสังกัดชัดเจนที่สะท้อนถึงบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของต้นสังกัดในการหนุนเสริมสนับสนุน แต่ที่ผ่านมาการสนับสนุนก็ยังไม่เกิดรูปธรรมหรือความแน่นอนทั้งในด้านการมีส่วนร่วมก็ดี และงบประมาณก็ดี ขณะเดียวกัน คนในสังคมจำนวนไม่น้อยก็ได้ตั้งคำถามถึงคุณภาพของโรงเรียนเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ...ปัญหาอุปสรรคติดขัดตรงที่ใด นโยบายทางการศึกษา บุคลากร หรือท้องถิ่น

ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนในท้องถิ่นจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้กับลูกหลาน เพราะโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น...”การมีส่วนร่วม” คือ หัวใจสำคัญของการพัฒนา

คำถามสำคัญ คือ ทำไมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถึงควรจัดการศึกษา

รศ.วุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวไว้ในเวทีระดมความคิดเห็นครั้งนี้ว่า “เพราะท้องถิ่นมีต้นทุนทางสังคมที่ดี เพราะผู้บริหารท้องถิ่นอยู่ใกล้กับชุมชน หากทำการศึกษาให้เด็กในท้องถิ่นไม่ดี ย่อมอยู่ยาก

ปุ๋ยที่ดีที่สุดของต้นไม้ คือ เงาของผู้ปลูก ซึ่งเงาของท้องถิ่นนั้นอยู่ใกล้ เป็นต้นทุนใกล้ตัวที่สามารถใช้พื้นที่ชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ (social lab) ที่หากทำได้ ก็จะเกิดพื้นที่การเรียนรู้ที่หลากหลายตามท้องถิ่นต่างๆ ขณะเดียวกัน ความเป็นท้องถิ่นนั้นสามารถทำให้โรงเรียนสร้างเอกภาพในการบริหารการศึกษาที่มีอัตลักษณ์ มีความเป็นท้องถิ่น เป็นโรงเรียนไม่มีรั้ว

โรงเรียนในท้องถิ่นเป็นโรงเรียนที่เลือกเด็กไม่ได้ แต่เป็นการศึกษาเพื่อแก้ความเหลื่อมล้ำ แก้ช่องว่างของคน ต้องทำให้คนทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยระบบที่จะนำทางให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็ก สามารถขยับโรงเรียนไปได้นั้น กลุ่มการศึกษาท้องถิ่นของจังหวัดนั้นๆ จะต้องมีการเชื่อมร้อยเรียนรู้ร่วมกัน ผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ ที่มีแผนการขับเคลื่อนว่าจะพัฒนาไปสู่อะไร จะเอาอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ด้านใดของผู้เรียนเป็นตัววัด องค์กรท้องถิ่นต้องกลับมาคิดเรื่องการศึกษาท้องถิ่นตามอัธยาศัย

เพราะปัญหาใหญ่ของความเหลื่อมล้ำ องค์กรที่แก้และอุดช่องว่างได้ดีที่สุดคือ ท้องถิ่น เพราะอยู่ใกล้ เมื่อโรงเรียนในท้องถิ่นเลือกเด็กไม่ได้ ดังนั้นต้องทำให้เกิดความเสมอภาค การศึกษาต้องทำหน้าที่สร้างการเรียนรู้และดูอยู่ห่างๆ ต้องเป็นการศึกษาที่ไม่แยกคนออกจากชุมชน ดังนั้นท้องถิ่นต้องเริ่มทำเลย อย่าไปรอกระทรวงศึกษาธิการ อย่าไปรอสำนักงานเขตการศึกษาพื้นที่ ...เริ่มเลย!”

ทั้งนี้ ตัวแทนจากเครือข่ายโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างสะท้อนสถานการณ์ปัญหาที่หลากหลาย ที่พบว่า นโยบายของรัฐที่ขาดความเป็นเอกภาพ ขณะที่ศักยภาพของท้องถิ่นต่างกัน เล็ก กลาง ใหญ่ ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงคุณภาพการศึกษา เพราะไม่มีกฎหมายในการกำกับดูแลในเกิดการจัดการอย่างเท่าเทียม ขณะเดียวกัน ผู้บริหารก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยครั้งที่ทำให้การดำเนินงานไม่ต่อเนื่อง

หลักสูตรแกนกลางและวิธีจัดการเรียนการสอนก็กำลังกร่อนทำลายตัวตน ความภาคภูมิใจในความเป็นท้องถิ่นให้ค่อยๆสูญหายไป ผู้เรียนขาดความเชื่อมั่นในความเป็นท้องถิ่น การบริหารจัดการก็ขาดตัวเชื่อมในเชิงนโยบาย ทำให้คนในท้องถิ่นจัดการศึกษาขาดเอกภาพในการจัดการ การบริหารงานบุคคลถูกกำหนดกำกับจากส่วนกลาง บุคลากรทางการศึกษาขาดความตระหนักในหน้าที่ ขาดความรับผิดชอบร่วมกัน โอกาสที่ครูจะได้ทำงานการสอนน้อยมาก เพราะมีโครงการใหม่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งผู้บริหารขาดเสรีภาพในการจัดการศึกษา ด้วยการมีกฎระเบียบต่างๆ วิธีการประเมินต่างๆ ควบคุม

ดังนั้นการจัดการศึกษาโดยท้องถิ่นจะเกิดได้อย่างแท้จริง และเป็นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่สามารถดึงทรัพยากรภายในชุมชนท้องถิ่นมาจัดการศึกษาได้อย่างเต็มศักยภาพ จึงจำเป็นต้องปฏิรูปการศึกษา ดังนี้

1.ปฏิรูปนโยบายการศึกษา ต้องเอาแผนการศึกษาที่มีอยู่แล้วมาดำเนินการต่อเนื่อง ขับเคลื่อนโดยการทำเป็นวาระแห่งชาติ จัดทำธรรมนูญการศึกษาที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมและให้พรรคการเมืองลงสัตยาบันร่วมกัน เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงนโยบายการศึกษาที่ไม่ต่อเนื่อง เปลี่ยนแปลงตามการเมือง

2.ปฏิรูปโครงสร้างการบริหาร โดยจะต้องมีการหน่วยมาเชื่อมตรงกลาง มีองค์กรจัดตั้งในระดับท้องถิ่นเพื่อขับเคลื่อนแผนการศึกษาท้องถิ่น (อบต. อบจ. เทศบาล) ที่สอดคล้องกับแผนการศึกษาชาติ

3.ปฏิรูปกฎหมาย ต้องมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของท้องถิ่น ที่มีการกำหนดชัดเจนว่าด้วยงบประมาณ โอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร โอกาสของครูที่จะได้รับการพัฒนาด้านต่างๆ (ทักษะ ความรู้)

4.ปฏิรูปการบริหารจัดการ สร้างทัศนคติกับผู้บริหารให้เกิดแนวคิดการบริหารจัดการแบบใหม่ มีความรู้ในการพัฒนา สถานศึกษาต้องมีอิสระในการจัดการ มีระบบในการพัฒนาคุณภาพทั้งครูและผู้บริหาร รวมทั้งมีความชัดเจนในการจัดสวัสดิการให้บุคลากรและการจัดการเงินวิชาชีพที่เท่าเทียม

5.ปฏิรูปหลักสูตร ที่ทำให้เด็กเยาวชนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องชุมชน ทักษะอาชีพที่จะเอาไปใช้ประโยชน์ได้

6.ปฏิรูปบุคลากรทางการศึกษา ให้เป็นผู้บริหารมืออาชีพ ครูมืออาชีพ ผู้บริหารน่าจะมีการพัฒนาเป็นลำดับเพื่อพัฒนามุมมองการจัดการ

7.ปฏิรูปการสื่อสาร สร้างการเรียนรู้ ความเข้าใจให้ชุมชนเข้าใจการศึกษาในเชิงคุณภาพที่ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมจัดการศึกษา ดึงทรัพยากรภายในชุมชนท้องถิ่นออกมาใช้

ภายใต้ข้อเสนอปฏิรูปการศึกษาเหล่านี้ สิ่งแรกที่โรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเริ่มต้นดำเนินการทันทีก็คือ การขับเคลื่อนผลักดันให้เกิดการสภาปฏิรูปการศึกษาท้องถิ่น ด้วยการสร้างภาคีเครือข่ายของชุมชนท้องถิ่น(ท้องถิ่นสถานศึกษา ชุมชน ผู้ปกครอง) ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ยกร่างแผนการศึกษาของท้องถิ่นและยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะถึงเวลาแล้ว ที่จะต้องทำให้โรงเรียนในสังกัดอปท.นั้น เป็นโรงเรียนที่มีการศึกษาที่เสมอภาค ไม่มีความเหลื่อมล้ำ และมีคุณภาพด้วยการจัดการศึกษาโดยใช้ต้นทุนภายในท้องถิ่น ทั้งทุนคน ทุนความรู้ ทุนประวัติศาสตร์ ทุนงบประมาณ ....คืนการศึกษาให้ชุมชน ให้สังคมปฏิรูปการศึกษา

วันอังคารที่ 15 เมษายน 2557

ขอบคุณแหล่งข้อมูล: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

No comments:

Post a Comment