"เด็กจมน้ำ" มีเวลา 4 นาทีช่วยชีวิต ต้องสอนให้ "ตะโกน โยน ยื่น"
"การจมน้ำ" เป็นสาเหตุทำให้เด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 1 ของทุกสาเหตุ จากข้อมูลในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา (2545-2556) พบว่า มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยสูงถึง 1,291 คนต่อปี หรือวันละเกือบ 4 คน โดยเฉพาะช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ที่เป็นช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุดถึง 442 คน
กระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้วันเสาร์แรกของเดือนมีนาคมของทุกปี เป็น "วันรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำ" โดยในปี 2557 ตรงกับวันเสาร์ที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา กรมควบคุมโรคได้จัดให้มีกิจกรรมรณรงค์ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคมของทุกปี
กรมควบคุมโรค โดยสำนักโรคไม่ติดต่อ ได้รับรายงานจากหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ถึงการจมน้ำเสียชีวิตของเด็กช่วงปิดเทอม ในช่วงปีที่ผ่านมาพบว่าร้อยละ 74.1 ของเด็กที่ตกน้ำจะเสียชีวิต โดยเด็กที่จมน้ำเสียชีวิตเป็นเด็กที่ว่ายน้ำเป็นถึงร้อยละ 26.3 เพศชายจมน้ำสูงกว่าเพศหญิง โดยพบเด็กกลุ่มอายุ 5-9 ปี จมน้ำมากที่สุด (ร้อยละ 41.9) รองลงมาคือ 10-14 ปี และต่ำกว่า 5 ปี ร้อยละ 28.6 และร้อยละ 27.7 ตามลำดับ สาเหตุของการจมน้ำพบว่าเกิดจากการเล่นน้ำมากที่สุด ร้อยละ 57.1 รองลงมาคือการปล่อยเด็กทิ้งไว้เพียงลำพัง ร้อยละ 22.3
แหล่งน้ำที่พบเด็กจมน้ำมากคือแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรมากที่สุด (ร้อยละ 54.5) รองลงมาคือ คู/คลองระบายน้ำข้างบ้าน (ร้อยละ 12.5) โดยระยะทางจากบ้านถึงที่เกิดเหตุมักไม่ไกลมากนัก ส่วนใหญ่สถานที่เกิดเหตุเป็นแหล่งน้ำใกล้บ้านไม่เกิน 5 เมตร (ร้อยละ 30.4)
การเผอเรอเพียงเสี้ยววินาที อาจทำให้เด็กเล็กจมน้ำเสียชีวิตได้ ทางที่ดีคือต้องหาแนวทางป้องกันเด็ก เช่น ควรพาเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไปไปเรียนหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด เพราะจะมีความรู้เรื่องความปลอดภัยทางน้ำ ทักษะการเอาชีวิตรอดในน้ำมากกว่าเด็ก และทักษะการช่วยผู้ประสบภัยทางน้ำ มากกว่าคนที่ไม่ได้เรียน ห้ามเด็กเล่นน้ำกันเองตามลำพัง ต้องมีผู้ใหญ่ไปด้วย และห้ามกระโดดลงไปช่วยคนจมน้ำแม้ว่าจะว่ายน้ำเป็น
เมื่อช่วยเด็กขึ้นมาจากน้ำได้ ห้ามจับอุ้มพาดบ่า หรือ วางบนกระทะคว่ำเพื่อเอาน้ำออก เพราะเป็นวิธีที่ผิด และจะทำให้เด็กขาดอากาศหายใจนานยิ่งขึ้น ควรรีบช่วยด้วยการเป่าปากและนวดหัวใจ เพราะ เด็กจมน้ำมีเวลาเพียง 4 นาทีทองเท่านั้นในการช่วยชีวิตเด็ก
คำแนะนำที่ดี คือ สำรวจแหล่งน้ำเสี่ยงรอบบ้าน ข้างบ้าน และในชุมชน (แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร อ่างเก็บน้ำ หนอง บึง แม่น้ำ คลอง ฯลฯ) จัดการแหล่งน้ำเสี่ยงเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่เด็ก เช่น ปักป้ายเตือน บอกถึงระดับความลึกของน้ำ หรือบอกถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นแล้ว จัดให้มีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำที่หาได้ง่ายในชุมชนไว้บริเวณแหล่งน้ำเสี่ยง เช่น ถังแกลลอนเปล่า ขวดน้ำพลาสติกเปล่า ไม้ เชือก สอดส่องดูแลและแจ้งเตือนภัยในชุมชน เช่น ประกาศเตือนผ่านเสียงตามสายในชุมชน คอยตักเตือนเมื่อเห็นเด็กเล่นน้ำตามลำพัง
ผู้ใหญ่ควรสอนให้เด็กรู้จักแหล่งน้ำ เสี่ยงและอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น สอนให้เด็กรู้จักใช้อุปกรณ์ลอยน้ำได้ที่หาได้ง่าย เพื่อช่วยตนเองหรือผู้อื่นเมื่อเกิดเหตุ และนำติดตัวไปด้วยหากต้องเดินทางไปใกล้แหล่งน้ำ สอนให้เด็กรู้จักใช้ชูชีพเมื่อต้องโดยสารเรือ ผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็ก ต้องดูแลเด็กตลอดเวลา เด็กเล็กต้องอยู่ในระยะที่ผู้ปกครองผู้ดูแล มองเห็น และสามารถเข้าถึงและคว้าถึงได้
ชุมชน ท้องถิ่น สถานศึกษา ควรจัดให้เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไปได้เรียนวิธีการว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด เช่น การลอยตัวในน้ำ การใช้อุปกรณ์ช่วยในการลอยตัว และรู้วิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้อง เน้นให้เด็กรู้วิธีการช่วยเหลือคนตกน้ำที่ถูกต้อง โดยต้องไม่กระโดดลงไปช่วย ให้ยึดหลัก “ตะโกน โยน ยื่น” โดยการตะโกนเรียกผู้ใหญ่ หรือใช้อุปกรณ์โยน หรือยื่นให้ผู้ประสบภัย
วันเสาร์ที่ 12 เมษายน 2557
ขอบคุณแหล่งข้อมูล: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
No comments:
Post a Comment